My personal blog about health, hobby, stock & investment, information technology, self improvement, tax and travel.
Pages
▼
Pages
▼
27 พฤศจิกายน 2554
Five Competitive Forces
Five Competitive Forces
Five Competitive Forces นั้นเป็นหลักการที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อทำให้บริษัทสามารถที่จะทำการแข่งขันได้ ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น และลดช่องโหว่ที่จะถูกคู่แข่งโจมตี
Michael E. Porter ผู้คิดค้นหลักการการวิเคราะห์ Five Competitive Forces นั้นได้กล่าวไว้ว่า “Awareness of the five forces can help a company understand the structure of its industry and stake out a position that is more profitable and less vulnerable to attack.” ซึ่ง Five Competitive Forces นั้นประกอบด้วย 5 ส่วนดังนี้
1. การวิเคราะห์คู่แข่งปัจจุบัน คือ วิเคราะห์ว่าคู่แข่งปัจจุบันของบริษัทนั้นมีบริษัทไหนบ้าง
2. การวิเคราะห์ภัยคุกคามของคู่แข่งใหม่ คือ วิเคราะห์ว่าในอนาคตจะมีบริษัทไหนหันมาทำธุรกิจแข่งบ้าง ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์ Barriers to Entry 7 ประการ
1) การวิเคราะห์เรื่องการประหยัดต่อขนาด(economies of scale) คือ การที่บริษัทผลิตสินค้าปริมาณมากๆ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง
2) การวิเคราะห์เรื่อง demand-side benefits of scale คือ การที่ลูกค้ามีความต้องการที่จะซื้อสินค้าหรือบริการกับบริษัทมากขึ้น เช่น ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในตัวบริษัทมากขึ้น, บริษัทมีการออกสินค้าใหม่ๆ มาอย่างสม่ำเสมอ
3) การวิเคราะห์เรื่อง customer switching costs คือ การที่ลูกค้ามีต้นทุนในการที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการจากบริษัทหนึ่งไปเป็นอีกบริษัทหนึ่ง
4) การวิเคราะห์เรื่องความต้องการด้านเงินลงทุน คือ จำนวนเงินที่จะต้องใช้ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ถ้าหากว่าต้องใช้เงินจำนวนมาก จะทำให้บริษัทเล็กๆ ไม่สามารถเข้ามาทำธุรกิจแข่งได้
5) การวิเคราะห์เรื่องตำแหน่งที่ได้เปรียบ คือ บริษัทอาจมีความได้เปรียบเหนือบริษัทอื่นๆ เช่น มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า, มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่ดีกว่า, มีสถานที่ที่ดีกว่า, มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมากกว่า, มีแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับ
6) การวิเคราะห์เรื่องการเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่าย คือ การดูว่าบริษัทมีช่องทางในการนำสินค้าและบริการของบริษัทไปขายให้กับลูกค้ามากน้อยเพียงใด
7) การวิเคราะห์เรื่องข้อผูกมัดจากรัฐบาล คือ กฎหมาย, ข้อกำหนด, สัมปทาน ต่างๆ จากรัฐบาล ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการป้องกันคู่แข่งได้
3. การวิเคราะห์อำนาจต่อรองของผู้ผลิต คือ วิเคราะห์ว่าผู้ผลิตที่ทำการผลิตสินค้าและบริการให้กับบริษัทนั้นคือใคร มีอำนาจต่อรองสูงหรือไม่ และมีอะไรบ้าง
4. การวิเคราะห์อำนาจต่อรองของลูกค้า คือ วิเคราะห์ว่าลูกค้าที่มาซื้อสินค้าและบริการกับบริการกับบริษัทนั้นคือใคร มีอำนาจต่อรองสูงหรือไม่ และมีอะไรบ้าง
5. การวิเคราะห์ภัยคุกคามของสินค้าหรือบริการทดแทน คือ วิเคราะห์ว่าสินค้าและบริการในอนาคตที่จะมาทดแทน สินค้าและบริการที่บริษัทกำลังทำอยู่นั้นมีอะไรบ้าง
ตัวอย่างการวิเคราะห์ Five Competitive Forces
บริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักคือ ธุรกิจร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 379 สาขา แบ่งตามภาคได้ดังนี้ กรุงเทพและปริมณฑล 138 สาขา, ภาคกลาง 48 สาขา, ภาคตะวันออก 38 สาขา, ภาคเหนือ 51 สาขา, ภาคใต้ 36 สาขา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 64 สาขา และภาคตะวันตก 4 สาขา
การวิเคราะห์ Five Competitive Forces ของบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
1. คู่แข่งปัจจุบันของบริษัทนั้นประกอบไปด้วยร้านหนังสือเครือข่ายจำนวนมาก เช่น ร้านหนังสือนายอินทร์, ร้านหนังสือ book smile, ร้านหนังสือนานมี, ร้านหนังสือเอเชียบุ๊ค, ร้านหนังสือ b2s และร้านหนังสือท้องถิ่นทั่วไป ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง
2. ภัยคุกคามของคู่แข่งใหม่ โดยเมื่อทำการวิเคราะห์ Barriers to Entry 7 ประการแล้วพบว่า
1) การประหยัดต่อขนาด(economies of scale) บริษัทมีแนวโน้มขยายสาขาออกไปเรื่อยๆ ทำให้มีต้นทุนต่างๆ ต่อหน่วยถูกลง เช่น ต้นทุนการประชาสัมพันธ์, ต้นทุนโปรแกรมจัดการต่างๆ, ต้นทุนด้านการผลิตและขนส่ง
2) demand-side benefits of scale อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยยังต่ำ ประกอบกับในแต่ละปีมีหนังสือที่น่าสนใจออกใหม่อยู่สม่ำเสมอและบริษัทมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่องๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกพื้นที่ทำให้ลูกค้ามีการต้องการซื้อสินค้าและบริการกับบริษัท
3) customer switching costs บริษัทมีสาขาที่ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งเหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้สะดวกสบายต่อลูกค้าในการมาซื้อสินค้าและบริการ
4) ความต้องการด้านเงินลงทุน การลงทุนร้านหนังสือนั้นใช้เงินลงทุนไม่มาก ทำให้บริษัทไม่มี barrier ข้อนี้
5) ตำแหน่งที่ได้เปรียบ บริษัทมีข้อมูลรายละเอียดหนังสือขายดีต่างๆ ที่เชื่อถือได้, มีสาขาครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่, มีประสบการณ์การทำธุรกิจนานกว่า 30 ปี และมีแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับ
6) การเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่าย บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นของตนเอง ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่
7) ข้อผูกมัดจากรัฐบาล บริษัทไม่มี barrier ข้อนี้
3. อำนาจต่อรองของผู้ผลิต เนื่องจากธุรกิจร้านจำหน่ายหนังสือนั้น มีผู้ประกอบการอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ มีอำนาจต่อรองเงื่อนไขทางการค้าอยู่บ้างเล็กน้อย ตามธรรมชาติของธุรกิจ แต่ไม่รุนแรงมาก
4. อำนาจต่อรองของลูกค้า เนื่องจากธุรกิจร้านจำหน่ายหนังสือนั้น มีผู้ประกอบการอยู่เป็นจำนวนมาก และสินค้าและบริการนั้นก็มีลักษณะคล้ายกัน แต่บริษัทมีสาขาครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ซึ่งเหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้มีอำนาจต่อรองกับลูกค้าบ้าง
5. ภัยคุกคามของสินค้าหรือบริการทดแทน สินค้าและบริการที่จะมาทดแทนสินค้าและบริการของบริษัทได้ คือ e-book อย่างไรก็ตาม e-book นั้นไม่น่าจะมาทดแทนหนังสือเล่มได้ทั้งหมด เพราะมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ความรู้สึกในการใช้งาน, ความเคยชินของผู้ใช้งาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น