Pages

Pages

03 พฤศจิกายน 2554

nonsense (1)

เรากำลังอยู่ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร


การเกิดขึ้นของสื่อรูปแบบใหม่อย่าง เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด ฟอร์เวิร์ดเมล เคเบิลทีวี หรือแม้แต่วิทยุชุมชนต่างๆ ทำให้สมัยนี้ใครก็สามารถกระจายข่าวสารหรือแนวความคิดของตัวเองออกไปสู่คนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายมาก การควบคุมหรือตรวจสอบแหล่งที่มาที่แท้จริงของข้อมูลจากสื่อเหล่านี้ก็ทำได้ยากกว่าสื่อแบบเก่ามาก มีข่าวลือข่าวหลอกเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สังคมมีวิกฤติยิ่งมีมากเป็นพิเศษ ต้นทุนของสื่อใหม่เหล่านี้ก็ต่ำมากจนเสียทำให้พวกมันถูกนำมาใช้ เพื่อผลทางการตลาดหรือเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองอย่างกว้างขวางในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


ในภาวะแบบนี้ ประชาชนทุกคนต้องมีวิจารณญาณในการเสพข่าวเป็นของตนเอง ไม่สามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดที่คอยกรองข่าวให้ การเชื่อข้อมูลทุกอย่างตามสื่อไปทันทีโดยไม่ตั้งข้อสงสัยถึงความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ได้รับก่อนจะทำให้เราตกเป็นเครื่องมือของคนที่มีวาระซ่อนเร้นได้โดยไม่ยากนัก


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ชอบมากชื่อ Nonsense : How we abuse logic in our everyday language เขียนโดย Robert J.Gula ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาตรรกศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Groton ด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเก่า (ผู้เขียนเสียชีวิตไปนานแล้ว) แต่เนื้อหาของมันยังคงทันสมัยอยู่เสมอ


ผมอยากขออนุญาตนำแนวคิดบางส่วนในหนังสือเล่มนี้มาอธิบายความ เพื่อประโยชน์แก่ทุกท่านเวลาที่กรองข่าวสารนะครับ


แนวคิดหลักของหนังสือเล่มนี้บอกว่า เวลาคนเราเสพข่าว เราไม่ได้มุ่งค้นหาข้อเท็จจริงเท่าไรนัก แต่เรามุ่งจะหาข้อสนับสนุนความเชื่อเดิมๆ ของเรามากกว่า นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราจะเลือกเชื่อแต่สิ่งที่เราอยากเชื่อ และพยายามอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับความลำเอียงของเราเองเพื่อปกป้องความเชื่อเก่าของเราเท่านั้น นอกจากนี้ เรายังไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี เราเลือกที่จะฟังหรือได้ยินเฉพาะสิ่งที่เราอยากได้ยินโดยไม่รู้ตัว และ "นักสื่อสาร" ที่เข้าใจธรรมชาติเหล่านี้จะรู้จักใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อทำให้เราเชื่อในแบบที่เขาต้องการได้


เทคนิคหนึ่งที่นักสื่อสารใช้บ่อยที่สุดในการโน้มน้าวใจ คือ การทำเรื่องนั้นๆ ให้กลายเป็นประเด็นเรื่องอารมณ์ เพื่อไม่ให้เราคิดหรือพยายามใช้เหตุผลกับเรื่องนั้น


ฮิตเลอร์ยังบอกว่า เวลาพูดกับฝูงชน อย่ายกเหตุผล เพราะจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ให้พูดด้วยอารมณ์อย่างเดียว สมัยนี้ผมว่าตรงกับคำว่าต้องพยายามทำให้มัน "ดราม่า" เข้าไว้นั่นเองครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าการเลือกซื้อประกันต้องพิจารณาที่เงื่อนไข ค่าเบี้ย และความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกัน นักสื่อสารจะพยายามทำให้การซื้อประกันเป็นเรื่องของการซื้อด้วย "ความรัก" แทน เพราะอารมณ์เป็นเรื่องที่สามารถโน้มน้าวใจคนได้มากกว่า ในขณะที่เหตุผลนอกจากจะน่าปวดหัวกว่าแล้ว ยังเป็นประเด็นที่สร้างความแตกต่างระหว่างคู่แข่งขันได้น้อยอีกด้วย


Gula ยังได้กล่าวถึงเทคนิคของพวกนักโฆษณาชวนเชื่อด้วยว่า เทคนิคหนึ่งที่นิยมมาก คือ การพยายามชี้ให้ผู้ฟังเห็นว่า "ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น" (Bandwagon Effect) เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรามีแนวโน้มที่จะคล้อยตามพฤติกรรมของหมู่คณะได้ง่าย วิธีนี้จึงมักใช้ได้ผลในการจูงใจมวลชน


ถ้าหากต้องแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม นักโฆษณาชวนเชื่อยังอาศัยการลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามด้วยการโจมตีที่ตัวบุคคลเป็นหลัก เช่น ขุดเรื่องส่วนตัวขึ้นมาแฉ หรือเรียกชื่อฝ่ายตรงข้ามด้วยฉายาต่างๆ ที่ฟังดูน่าหัวเราะตลอดเวลา ทั้งนี้ ก็เพื่อเบนความสนใจของมวลชนออกจากประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ เพราะโดยธรรมชาติถ้าคนพูดดูไม่น่าเชื่อถือ เราจะไม่นำแนวคิดใดๆ ของผู้พูดมาพิจารณาต่ออีกเลย ทั้งที่แนวคิดหนึ่งจะถูกต้องหรือไม่ที่จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกับว่าใครคือผู้พูด แต่เราก็ได้ปะปนเรื่องส่วนตัวของผู้พูดกับความสมเหตุสมผลของข้อเสนอของผู้พูดไปแล้ว


เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ฟังเข้าข้างตนเองมากขึ้น คือ การยกเอาบุคคลที่สามมาเป็นศัตรูร่วมกัน หรือที่เรียกว่าหา "แพะรับบาป" โดยอาจว่าร้ายบุคคลนั้นว่าคือต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดของทุกๆ คน คนเราเมื่อมีศัตรูร่วมกันย่อมรู้สึกเป็นพวกเดียวกันไปด้วย คราวนี้เวลาจะเสนออะไรก็จะคล้อยตามง่ายขึ้น


การใช้สถิติก็ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้เพิ่มความน่าเชื่อถือ เพราะตัวเลขทำให้รู้สึกเหมือนมีการวิจัยมาแล้วอย่างดี แต่ปัญหาก็คือว่าบ่อยครั้งสถิติที่ว่านั้นจงใจไม่พูดถึงรายละเอียดของการสำรวจไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น การอ้างว่านโยบายของตนมีผู้สนับสนุนมากกว่า 80% แต่ไม่ได้บอกว่า สถิติที่ว่านี้สำรวจมาจากกลุ่มตัวอย่างเพียงแค่ห้าคน ที่ผู้พูดเลือกมาแบบเฉพาะเจาะจงเสียด้วย (ไม่ได้สุ่มแบบสถิติ) เช่นนี้เป็นต้น


การรู้จักเทคนิคเหล่านี้ช่วยให้เรามีภูมิต้านทานในการเสพข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ยังมีอีกมาก เอาไว้มารู้จักกันต่อคราวหน้าครับ

from http://is.gd/RBmCHu


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น