28 ธันวาคม 2554

เผยมุมมอง "พระว.วชิรเมธี"..พ่อแม่คนไทยเรียนรู้อะไรจาก "สตีฟ จ็อบส์"

แม้จะลาลับโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ แต่สิ่งที่เจ้าพ่อแอบเปิลอย่าง "สตีฟ จ็อบส์" (สตีเวน พอล จ็อบส์) ได้สร้างเอาไว้ นับว่ามีประโยชน์ต่อโลกอย่างประมาณค่าไม่ได้ ซึ่งไม่เพียงแต่นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาจากมันสมองของเขาเท่านั้น แต่การที่คนคนหนึ่งสามารถทำงานสร้างสรรค์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกได้มากมายขนาดนี้ ย่อมหมายความว่าเขาต้องมีคุณสมบัติ และมีวิธีคิดที่น่าศึกษา และเรียนรู้อยู่ไม่น้อย

วันนี้ ทีมงาน Life & Family ได้รับโอกาสอันดีจาก พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย พระนักคิดที่จะมาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่พ่อแม่คนไทยควรเรียนรู้จากชีวิตของอัจฉริยะแห่งโลกไอที ชายผู้เกิดมาเขย่าโลกรายนี้กัน โดยสิ่งแรกที่พระนักคิดท่านนี้มอง และอยากให้พ่อแม่นำไปเป็นหลักคิด คือ การเป็นผู้ชายที่รับผิดชอบต่อครอบครัวของเขา

ถึงแม้สตีฟในวัยเด็กจะถูกพ่อแม่แท้ ๆ ยกให้คนอื่นเนื่องจากไม่มีปัญญาเลี้ยงดู เมื่อเขาได้เป็นพ่อคนในวัยที่ยังไม่พร้อม และดูเหมือนในตอนแรกสตีฟได้ทอดทิ้งเด็กคนนั้นเหมือนกับที่พ่อแม่แท้ ๆ ทิ้งเขาไป แต่สุดท้ายสตีฟก็สำนึกผิด และกลับมารับผิดชอบด้วยการส่งเงินเลี้ยงดูลูกสาว (ลิซ่า) ที่เกิดจากสตรีผู้หนึ่งซึ่งเขาไม่ได้แต่งงานด้วย โดยเฉพาะค่าเล่าเรียนทั้งหมด และซื้อบ้านให้แม่ลูกอยู่โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า

หลังจากนั้น สตีฟได้เข้าพิธีสมรสกับลอเรนซ์ โพเวลล์ เมื่อวัน 18 มีนาคม ค.ศ. 1991 และมีบุตรด้วยกันสามคน เขาถือเป็นผู้ชายที่รักครอบครัวมาก

"สตีฟเป็นแฟมิลีแมนตัวจริง เขารักครอบครัวของเขามาก ซึ่งเขาเคยต่อรองกับพระเจ้าว่าอย่าเพิ่งเอาชีวิตของเขาไปนะ รอให้ลูกชายของเขาจบมหาวิทยาลัยก่อน นี่คือตัวสะท้อนถึงความเป็นพ่อของเขาได้เป็นอย่างดี" พระนักคิดกล่าวชื่นชม

ส่วนอีกเรื่องที่พ่อแม่คนไทยสามารถเรียนรู้ และดึงไปใช้เป็นหลักคิดในการเลี้ยงลูกได้เป็นอย่างดีเช่นกัน คือ การเป็นคนคิดต่าง (Think Different) และคิดนอกกรอบของสตีฟ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวที่นำพาเขาไปสู่ความเป็นสุดยอดนวัตกรผู้รังสรรค์นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก


"สตีฟ เป็นคนคิดต่างอย่างสิ้นเชิง และการคิดของเขาสามารถสร้างประโยชน์อย่างมหาศาล แต่เด็กไทยทุกวันนี้น่าห่วงมาก พวกเขามักถูกสอนมาว่า อย่าคิดต่าง หรือคิดนอกกรอบ ควรฟังผู้ใหญ่ อย่าเถียง อย่าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งด้วยฐานความคิดเช่นนี้ อาตมาคิดว่าอาจทำให้ประเทศเราไม่ค่อยมีนักสร้างนวัตกรรม เราไม่มีปัญญาชนคนรุ่นใหม่ เราไม่มีนักคิดคนใหม่ เรามีแต่คนที่คอยลอกงานคนอื่นเขาใช่หรือไม่ แต่สตีฟเขาบอกเลยว่า เขาเป็นคนคิดต่าง และเขาประสบความสำเร็จได้เพราะวิธีคิดเช่นนี้" ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัยสะท้อนถึงปัญหาการเลี้ยงลูกที่ปิดกั้นโอกาส ทำให้เด็กคิดไม่เป็น และคิดไม่ลึก

"ดังนั้น พ่อแม่ที่มีลูกชอบคิดต่าง ควรส่งเสริมให้เด็กคิด และเปิดโอกาสให้เขาได้ทำ หรือเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเราอาจจะมี สตีฟ จ็อบส์ที่เป็นคนไทยก็ได้" พระนักคิดฝากถึงพ่อแม่คนไทย

ไม่เพียงแต่ตัวสตีฟเองเท่านั้น บทบาทการเลี้ยงลูกของพ่อแม่บุญธรรม (พอล และคลารา จ็อบส์) ของเขาคือสิ่งที่น่าเรียนรู้เช่นกัน โดยเฉพาะความรักที่มีต่อสตีฟ ทำให้เขามีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนพิเศษ และไม่เคยรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มีส่วนสำคัญมากในการสร้างบุคลิกของเขาในเวลาต่อมา

"สตีฟเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เป็นนวัตกรเต็มตัว มีพ่อแม่เคยหยิบยื่นสิ่งดี ๆ ให้กับเขามาโดยตลอด พ่อของสตีฟเป็นคนชอบซื้อนวัตกรรม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาให้เขา และพาไปลุยหาซื้ออะไหล่ด้วยกันอยู่บ่อย ๆ นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาชอบคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งกล่าวกันว่า เมื่อสตีฟได้ผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อะไรมาสักอย่าง สิ่งแรกที่ทำคือ แกะชิ้นส่วนทั้งหมดออกมาดูเพื่อศึกษาว่ามันสร้างขึ้นมาอย่างไร นิสัยนี้ติดตัวเขาไปจนโต ต่อยอดให้เขามีความสนใจใคร่รู้ไม่จบสิ้น"

ฉะนั้น พระนักคิดสะกิดใจพ่อแม่คนไทยว่า คนเป็นพ่อแม่ เวลาจะหยิบอะไรใส่มือลูกต้องคิดให้ดี ๆ เพราะบางทีของชิ้นเดียวที่ใส่มือลูก อาจทำให้ลูกเป็นอัจฉริยะที่เปลี่ยนแปลงโลกนี้ไปอีกคนหนึ่งก็เป็นได้ แต่ในทางกลับกัน หากเลือกไม่ดี หรือหยิบของที่ไม่เหมาะสมใส่มือลูก บางทีของชิ้นนั้นอาจทำร้ายชีวิตลูกไปเลยก็เป็นได้

นอกจากชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลกอย่างสตีฟ จ็อบส์ที่พ่อแม่คนไทยควรศึกษา และเรียนรู้แล้ว พระนักคิดท่านนี้ บอกต่อไปอีกว่า บุคคลสำคัญท่านอื่น ๆ ก็ควรค่าแก่การศึกษาเช่นกัน เพราะหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิตของบุคคลเหล่านี้ เป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิต และการเลี้ยงลูกได้เป็นอย่างดี

"ชีวิตคนมีขาวมีดำ มีบวกมีลบ ชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุดเป็นชีวิตที่ไม่น่าศึกษาหรอก อย่าลืมนะว่า ดอกบัวเองก็เกิดมาแต่ตม ฉะนั้นจะแปลกอะไรถ้าสตีฟมีชีวิตด้านมืดด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นด้านมืดหรือด้านสว่าง ถ้าเราศึกษาในฐานะชีวประวัติของบุคคลคนหนึ่ง อาตมาว่ามันคุ้มที่สุด เราเรียนรู้จากความผิดพลาดของเขาเพื่อนำมาเตือนเราว่า เราจะไม่ผิดพลาดได้อย่างไร เรียนรู้จากความสุดยอดของเขาเพื่อมาบอกกับตัวเอง และสอนลูกสอนหลานว่าเราจะนำสิ่งดี ๆ เหล่านั้นไปต่อยอดได้อย่างไร" พระนักคิดทิ้งท้าย

from http://is.gd/wj4I4o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)