22 มกราคม 2555

"ปรับโฟกัส"เคล็ดลับความอยู่รอดของฟูจิ

ฟูจิ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและหนึ่งในการปรับตัวคือการทำธุรกิจที่หลากหลาย

เมื่อทศวรรษ 2503 ฟูจิฟิล์ม โฮลดิงส์ คอร์ป บริษัทผลิตฟิล์มและกล้องถ่ายรูปสัญชาติญี่ปุ่น เพิ่งเริ่มต้นขยายธุรกิจไปทั่วโลก ในขณะที่ อีสต์แมน โกดัก โค ผู้ผลิตฟิล์มและกล้องถ่ายรูปของสหรัฐ เป็นผู้นำที่ไม่มีใครก้าวตามทัน

50 ปีผ่านไป ฟิล์มถ่ายรูปกลายเป็นของล้าสมัย และ โกดัก ไม่อาจรักษาความเป็นผู้นำในโลกของการถ่ายรูปเอาไว้ได้ จนต้องยื่นคำร้องขอรับการพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กฎหมายล้มละลายของสหรัฐ

ในทางตรงกันข้าม ฟูจิฟิล์ม เปลี่ยนแปลงตัวเองจากซัพพลายเออร์รายเล็กในธุรกิจถ่ายรูป กลายเป็นบริษัทที่มีความหลากหลาย รวมถึงธุรกิจดูแลสุขภาพ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ชิเงะทากะ โคโมริ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ฟูจิฟิล์ม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทั้ง ฟูจิฟิล์ม และ โกดัก ต่างรู้ดีว่ากระแสคลื่นดิจิทัลกำลังถาโถมเข้าใส่ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า จะรับมืออย่างไร

สิ่งที่ ฟูจิฟิล์ม ตัดสินใจทำ คือ มองให้ไกลกว่าการปรับตัวจากการถ่ายรูปแบบอะนาล็อกเป็นการถ่ายรูปแบบดิจิทัล บริษัทพยายามดึงเอาความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเคมีมาขยายผล จนนำไปสู่การผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น ยา เครื่องสำอาง และจอภาพผลึกเหลว (แอลซีดี)

การเปลี่ยนแปลงของ ฟูจิฟิล์ม ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและราบรื่น บริษัทต้องปลดพนักงานไปหลายพันคน และต้องปิดโรงงานหลายแห่ง

โคโมริ รับตำแหน่งประธานเมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการฟิล์มถ่ายรูปถึงจุดสูงสุดพอดี และเมื่อเขาก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารในอีก 3 ปีต่อมา ฟูจิฟิล์ม ก็สามารถเอาตัวรอดในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กร และลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ

ในปี 2548-2549 ฟูจิฟิล์ม ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายกว่า 200,000 ล้านเยน ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจฟิล์มถ่ายรูป และสามารถทำกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ภายในเวลาไม่นาน

ฟูจิฟิล์ม มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลก ทำให้บริษัทต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอีก 175,000 ล้านเยน ระหว่างปี 2552-2553

โคโมริ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ได้แก่ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเมื่อถึงยุคดิจิทัล สิ่งที่ทำให้ ฟูจิฟิล์ม แตกต่างจาก โกดัก คือ บริษัทมีความพยายามแผ่ขยายเทคโนโลยีที่เคยใช้พัฒนาการถ่ายรูป

"ในทางเทคนิค เรามีแหล่งทรัพยากรที่หลากหลายอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงคิดว่าต้องมีทางทำให้ทรัพยากรเหล่านั้นกลายเป็นธุรกิจใหม่ๆ" โคโมริ รำลึกความหลัง พร้อมกับเสริมว่า ฟูจิฟิล์ม คงไม่อาจรักษาความสามารถในการทำกำไร หากมุ่งความสนใจไปที่การถ่ายรูปดิจิทัลแต่เพียงอย่างเดียว

ในการผลิตฟิล์มถ่ายรูป ผู้ผลิตแต่ละรายต้องใช้สารเคมีประมาณ 100 ชนิด ฟูจิฟิล์ม จึงนำความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสารเคมีต่างๆ มาประยุกต์สร้างฟิล์มที่ใช้ในจอแอลซีดีสำหรับคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

นอกจากนี้ ฟูจิฟิล์ม ยังนำความรู้เกี่ยวกับสารเคมีมาพัฒนายารักษาโรค โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนายารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนธุรกิจเครื่องสำอาง บริษัทมีครีมบำรุงผิว แอสตาลิฟต์ ที่อาศัยเทคโนโลยีต้านอนุมูลอิสระแบบเดียวกับที่ใช้รักษารูปถ่ายไม่ให้สีซีดจาง

"เวลาที่ผ่านไปแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงว่า เมื่อต้องสูญเสียธุรกิจหลัก บริษัทบางรายสามารถปรับตัวเอาชนะสถานการณ์เลวร้ายได้ ขณะที่บางรายไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่ง ฟูจิฟิล์ม สามารถเอาชนะสถานการณ์ได้ด้วยการสร้างความหลากหลาย" โคโมริ กล่าว

from http://is.gd/acYTn4


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)