วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียน / แปลโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ผู้คนมักกล่าวว่า การลงทุน คือการกระบวนการในการเอาเงินออกมาบริหาร โดยหวังว่าจะได้รับเงินมากขึ้นในอนาคต
แต่ที่เบิร์คไชร์ แฮธาเวย์ เราใช้หลักที่เข้มงวดกว่านั้นมาก เราให้คำจำกัดความของ การลงทุน ว่าเป็นการส่งต่ออำนาจซื้อไปสู่ผู้อื่น ด้วยความคาดหวังอย่างมีเหตุผลว่าจะเกิดเป็นอำนาจซื้อที่มากขึ้นในอนาคต หลังจากหักภาษีในอัตราที่น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ หากจะให้ชี้ชัดยิ่งขึ้น ต้องบอกว่า การลงทุนคือการผัดผ่อนการบริโภค ณ วันนี้ เพื่อให้มีความสามารถที่จะบริโภคได้มากขึ้นในวันข้างหน้า
ด้วยนิยามของเรา จึงก่อให้เกิดผลที่ตามมาอันสำคัญยิ่งประการหนึ่ง กล่าวคือ ความเสี่ยงจากการลงทุน มิอาจวัดได้โดยค่าเบต้า (อันเป็นค่าที่คนในวอลล์สตรีทชอบใช้กัน) หากแต่วัดได้โดยหลักความน่าจะเป็น แต่ต้องเป็น ความน่าจะเป็นอย่างมีเหตุผล ที่ผู้ที่เป็นเจ้าของเงินจะสูญเสียอำนาจซื้อหลังจากถือสินทรัพย์นั้นไประยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ราคาของสินทรัพย์อาจผันผวนขึ้นลงอย่างรุนแรงได้โดยไม่มีความเสี่ยงอันใด หากว่ามันยังคงเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้ถือสินทรัพย์นั้นอย่างมั่นคงและแน่นอน หลังจากถือมันไว้ระยะหนึ่ง ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า แม้สินทรัพย์ที่ราคาไม่ผันผวนเลย ก็อาจเต็มไปด้วยความเสี่ยงได้
ความน่าจะเป็นในการลงทุนนั้นมีอยู่มากมายและหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ความน่าจะเป็นดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทหลักๆ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจคุณลักษณะของความน่าจะเป็นแต่ละประเภท เรามาดูกันเถอะครับ
การลงทุนต่างๆ ที่อิงกับค่าเงิน เช่น กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) พันธบัตร การจดจำนอง เงินฝากธนาคาร และอื่นๆ มักถูกเข้าใจว่ามี “ความปลอดภัย” แต่ที่จริงแล้ว พวกมันคือสินทรัพย์ที่อันตรายที่สุด ค่าเบต้าของมันอาจจะเป็นศูนย์ แต่ความเสี่ยงนั้นมากมายเหลือเกิน
ในศตวรรษที่ผ่านมา เครื่องมือเหล่านี้ได้ทำลายอำนาจซื้อของนักลงทุนในหลายต่อหลายประเทศ แม้ว่าคนที่ถือมันอยู่จะได้รับผลตอบแทนเป็นระยะๆ ทั้งในรูปของดอกเบี้ยและเงินต้น แต่ผลลัพธ์อันอัปลักษณ์จะยังคงอยู่ตลอดไป รัฐบาลเป็นผู้กำหนดมูลค่าของเงินตรา แต่ระบบที่เป็นอยู่จะบีบบังคับให้รัฐบาลต้องไหลตามน้ำ โดยใช้นโยบายที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ และมีหลายครั้งหลายหนที่นโยบายเหล่านั้นหลุดออกไปอยู่เหนือความควบคุม
แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ผู้คนคาดหวังว่าค่าเงินน่าจะมีความแข็งแกร่ง เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็ยังลดค่าลงถึง 86% ตั้งแต่ปี 1965 ซึ่งเป็นเวลาที่ผมเข้ามาบริหารเบิร์คไชร์ ณ วันนี้ เราต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 7 ดอลล่าร์ เพื่อซื้อสิ่งที่เราเคยซื้อได้ด้วยเงิน 1 ดอลล่าร์ ในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ กองทุนหรือสถาบันการเงินใดๆ ที่ไม่มีภาระต้องจ่ายภาษี จึงต้องทำดอกเบี้ยให้ได้ถึง 4.3% ต่อปี จากการลงทุนในตั๋วเงินคลังของสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาดังกล่าว จึงจะสามารถรักษาอำนาจซื้อของตัวเองไว้ได้ ผู้จัดการของกองทุนหรือสถาบันการเงินเหล่านั้นคงกำลังหลอกตัวเองแน่ๆ ถ้าพวกเขาจะเรียกดอกเบี้ยที่ได้รับว่า “รายได้”
สำหรับนักลงทุนที่ต้องจ่ายภาษีอย่างคุณและผม ภาพที่เห็นกลับเลวร้ายยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลา 47 ปีที่ผ่านมา ตั๋วเงินคลังของสหรัฐอเมริกาให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.7% ต่อปี ฟังดูแล้วเหมือนจะน่าพอใจ แต่ถ้านักลงทุนแต่ละคนจ่ายภาษีในอัตรา 25% ต่อปี ผลตอบแทน 5.7% นี้ จะทำให้พวกเขาไม่ได้อะไรเลยในแง่ของรายได้ที่แท้จริง ภาษีเงินได้ที่พวกเขาต้องจ่าย จะกินผลตอบแทนที่ว่าไปถึง 1.4% ในขณะที่ “ภาษีเงินเฟ้อ” ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะกัดกินผลตอบแทนอีก 4.3% ที่เหลือจนหมดสิ้น ที่น่าสังเกตก็คือ ภาษีเงินเฟ้อ มีค่ามากกว่าภาษีเงินได้ธรรมดาที่นักลงทุนคิดว่าเป็นภาระหลักของพวกเขาถึงเกือบ 3 เท่า
ในธนบัตรอาจมีคำว่า “เราเชื่อมั่นในพระเจ้า” (In God We Trust) อยู่ก็จริง แต่มือที่ทำให้เครื่องพิมพ์เงินของประเทศเราพิมพ์ธนบัตรออกมานั้น เป็นมือของคนเดินดินธรรมดาๆ นี่เอง
แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยสูงๆ จะช่วยชดเชยความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เกิดจากการลงทุนซึ่งอิงกับค่าเงินได้ และอัตราดอกเบี้ยในทศวรรษที่ 80 ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะครอบคลุมความเสี่ยงจากการสูญเสียอำนาจซื้อดังกล่าวได้เลยแม้แต่น้อย ที่จริงแล้ว พันธบัตรควรมีฉลากคำเตือนให้ระวังอันตรายแปะอยู่ด้วยซ้ำ
ภายใต้สภาวการณ์ทุกวันนี้ ผมจึงไม่ชอบการลงทุนใดๆ ที่อิงกับค่าเงิน อย่างไรก็ตาม เบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ก็ยังมีการลงทุนเหล่านั้นอยู่พอสมควรในรูปแบบของการลงทุนระยะสั้นต่างๆ สำหรับ เบิร์คไชร์ สภาพคล่องจำนวนมหาศาลถือเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นสิ่งที่เรา ไม่มีทาง จะละเลย
เราจำเป็นต้องมองข้ามอัตราผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอนั้น เพื่อคงไว้ซึ่งสภาพคล่องมหาศาล เราจึงถือตั๋วเงินคลัง ซึ่งเป็นการลงทุนประเภทเดียวที่พอจะไว้วางใจได้ในเรื่องของสภาพคล่อง ภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจที่แสนจะสับสนอลหม่านดังเช่นในปัจจุบัน บนหน้าตักของเราในเวลานี้มีอยู่ราวๆ 2 หมื่นล้านดอลล่าร์ และอย่างน้อยที่สุดต้องมี 1 หมื่นล้านดอลล่าร์สำรองไว้เสมอ
นอกเหนือจากความจำเป็นในเรื่องของสภาพคล่องและกฎระเบียบต่างๆ แล้ว เราจะซื้อหลักทรัพย์ที่อิงกับค่าเงินก็ต่อเมื่อมีโอกาสที่มันจะให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงผิดปกติเท่านั้น เช่น เมื่อมีการตั้งราคาสินเชื่อผิดๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาของวิกฤตการเงิน จนเกิดเป็นพันธบัตรขยะ (Junk Bonds) มากมาย หรือเมื่ออัตราดอกเบี้ยนั้นสูง จนเราสามารถที่จะทำกำไรจากพันธบัตรชั้นดีได้ในเวลาที่อัตราดอกเบี้ยนั้นลดลง
แม้ว่าในอดีต เราจะเคยศึกษาถึงโอกาสที่ทั้งสองเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น และอาจทำการศึกษาซ้ำอีกในอนาคต แต่ตอนนี้ เราแทบไม่เห็นว่าความคาดหวังดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เลย
ณ วันนี้ ความเห็นของ เชลบี้ คัลลอม คนในวอลล์สตรีทที่เคยพูดเอาไว้เมื่อนานมาแล้วดูเหมือนจะเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน
“พันธบัตรที่เชื่อกันว่าให้ผลตอบแทนโดยไม่มีความเสี่ยง กำลังถูกตั้งราคาราวกับมันเป็นสิ่งที่ให้ความเสี่ยงโดยไม่มีผลตอบแทน”
การลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของสินทรัพย์ที่ไม่มีวันจะทำให้เกิดผลิตผลอะไรขึ้นมาได้เลย แต่ผู้คนกลับชอบที่จะซื้อหา เนื่องจากผู้ซื้อมีความหวังว่าใครสักคน ซึ่งย่อมรู้เช่นเดียวกันว่าสินทรัพย์ชนิดนี้จะไม่มีวันทำให้เกิดประโยชน์โพดผลใดๆ จักยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพื่อซื้อมัน อาทิเช่น ดอกทิวลิป ซึ่งได้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมของผู้คนในศตวรรษที่ 17
การลงทุนจำพวกนี้ ต้องมีกลุ่มของผู้ซื้อที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ซื้อถูกล่อให้แห่กันเข้ามาด้วยความเชื่อที่ว่ากลุ่มของคนที่เป็นแบบพวกเขาจะขยายตัวต่อไปอีก ผู้ถือสินทรัพย์ชนิดนี้มิได้มีแรงบันดาลใจว่าตัวสินทรัพย์ที่พวกเขาถือจะสร้างผลผลิตใดๆ ทั้งยังรู้ดีกว่าสินทรัพย์นั้นจะยังคงไร้ชีวิตตลอดไป พวกเขาเพียงหวังว่าคนอื่นๆ จะปรารถนามันมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ในบรรดาสินทรัพย์จำพวกนี้ อันดับหนึ่งคือ “ทองคำ” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของนักลงทุนที่กลัวสินทรัพย์อื่นๆ แทบจะทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกระดาษ (อันที่จริง สินทรัพย์หลายชนิดก็มีเหตุผลควรที่สมควรจะกลัวอยู่)
อย่างไรก็ตาม ทองคำมีจุดอ่อนอยู่สองประการ คือ ตัวมันเองเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ ทั้งยังไม่ทำให้เกิดผลิตผลอะไรขึ้นมาได้เลย จริงอยู่ที่ทองคำมีประโยชน์ในแง่ของอุตสาหกรรมและใช้เป็นเครื่องประดับได้ แต่อุปสงค์ในแง่ดังกล่าวมีอยู่จำกัด และไม่สามารถทำให้ทองเพิ่มปริมาณขึ้นได้ ถ้าคุณมีทองคำหนึ่งออนซ์ ทองคำนั้นย่อมมีปริมาณหนึ่งออนซ์เท่าเดิมตราบจนชั่วกัลปาวสาน
สิ่งสำคัญที่ดึงดูดแฟนพันธุ์แท้ทองคำคือความเชื่อที่ว่า ผู้คนจะเกิดความกลัวในสินทรัพย์อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความเชื่อดังกล่าวก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง ยิ่งไปกว่านั้น ราคาที่สูงขึ้นของทองคำก็ยิ่งทำให้คนมีความกระตือรือร้นอยากจะซื้อมัน จนดึงดูดให้ผู้ลงทุนเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของราคาทองเป็นไปตามข้อสรุปทางการลงทุนที่สมเหตุสมผลแล้ว
นักลงทุนที่ชอบแห่ตามกันไม่ว่าจะเป็นการลงทุนประเภทไหน มักจะสร้างความจริงของตัวเองขึ้นมาเสมอ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งหุ้นอินเทอร์เน็ตและบ้านได้แสดงให้เห็นถึงภาวะความเฟ้อเกินไป อันเป็นผลมาจากการผสมผสานกันระหว่างข้อสรุปที่มีเหตุผลกับราคาที่เกินกว่าเหตุ
ในภาวะฟองสบู่ มหาชนที่เคยลังเลสงสัย มักยอมศิโรราบต่อ “ข้อพิสูจน์” ที่ตลาด “จัดให้” และกลุ่มของผู้ซื้อก็จะขยายตัวออกไปอย่างใหญ่หลวง จนเพียงพอที่จะทำให้พฤติกรรมแห่ตามกันนั้นหมุนเวียนต่อไปเรื่อยๆ แต่แล้วฟองสบู่ที่โตเกินก็จะแตกโพละออก และเมื่อนั้น ภาษิตโบราณก็จักได้รับการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่ง …
“สิ่งที่คนฉลาดทำในตอนเริ่มต้น คนโง่จะทำมันในท้ายที่สุด”
ณ วันนี้ คลังทองคำของโลกมีอยู่ประมาณ 170,000 เมตริกตัน หากเอาทองทั้งหมดมาหลอมรวมกัน เราจะได้ลูกบาศก์ทองคำที่มีความกว้างยาวลึกด้านละ 68 ฟุต (เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขนาดของมันวางลงบนสนามเบสบอลได้พอดิบพอดี) ณ ราคา 1,750 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ ในเวลาที่ผมเขียนบทความนี้ ราคาของทองคำทั้งหมดในโลกจะมีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 9.6 ล้านล้านดอลล่าร์ โดยเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “ก้อน A”
เอาล่ะ ทีนี้มาสร้าง “ก้อน B” กันบ้าง ก้อน B ที่ว่านี้มีราคาเท่ากับก้อน A แต่เราสามารถใช้มันซื้อไร่นาทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา (จำนวน 400 ล้านเอเคอร์ ทำรายได้รวมกัน 2 แสนล้านเหรียญต่อปี) บวกกับบริษัท Exxon Mobil จำนวน 16 บริษัท (Exxon Mobil คือบริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก โดยสมมุติว่าเรามีบริษัทนี้อยู่ 16 แห่ง แต่ละแห่งทำกำไรได้ปีละ 4 หมื่นล้านเหรียญ) หลังจากซื้อของดังกล่าวแล้ว เราจะยังเหลือเงินติดตัวไว้ใช้ราวๆ หนึ่งล้านล้านดอลล่าร์ (สมมุติว่าเราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองใช้เงินเกินตัว)
คุณพอจะใช้จินตนาการได้ไหมว่า จะมีนักลงทุนคนไหนในโลกที่มีเงิน 9.6 ล้านล้านดอลล่าร์ แล้วจะเลือกซื้อก้อน A แทนที่จะซื้อก้อน B ?!!
นอกจากมูลค่าของทองจะถูกประเมินอย่างไม่สมเหตุสมผลแล้ว ราคาปัจจุบันยังทำให้ตัวมันถูกผลิตขึ้นปีละคิดเป็นมูลค่า 160,000 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งผู้ซื้อ ไม่ว่าจะซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับหรือซื้อไปใช้ในทางอุตสาหกรรม รวมทั้งคนที่กำลังกลัวและนักเก็งกำไร จะค่อยๆ รับเอาอุปทานส่วนเพิ่มนี้ไว้เรื่อยๆ ก่อนที่ราคา ณ ปัจจุบันจะกลายเป็นราคาสมดุลในที่สุด
ในเวลาหนึ่งศตวรรษนับจากนี้ ที่ดิน 400 ล้านเอเคอร์จะผลิตข้าวโพด ธัญพืช ค้อตต้อน และพืชผลอื่นๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก และจะผลิตผลผลิตที่มีคุณค่าเหล่านั้นต่อไป ไม่ว่าค่าเงินจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในขณะที่ Exxon Mobil จะทำเงินปันผลให้กับเจ้าของอีกนับล้านล้านเหรียญ และจะเป็นเจ้าของสินทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านเหรียญเช่นกัน (อย่าลืมว่าคุณมี Exxon อยู่ 16 บริษัท) ในขณะที่ทองคำ 170,000 ตัน จะไม่เพิ่มปริมาณขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว และไม่สามารถสร้างผลิตผลอะไรใดๆ ได้ทั้งสิ้น
คุณอาจลูบคลำก้อนทองคำนี้ด้วยความรัก แต่มันจะไม่มีปฏิกริยาตอบสนองใดๆ แน่นอน
ต้องยอมรับว่า เมื่อคนในยุคหนึ่งร้อยปีนับจากนี้รู้สึกกลัว พวกเขาก็จะยังกระโดดเข้าหาทองคำอยู่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่า ก้อน A ที่มีมูลค่า 9.6 ล้านล้านเหรียญ จะทวีมูลค่าต่อไปในอนาคตในอัตราที่ด้อยกว่าก้อน B อย่างมากเป็นแน่แท้
from http://clubvi.com/2012/02/22/whystocksbeatgold3/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น