25 มีนาคม 2555

"กูเกิ้ล" ยกเครื่องใหญ่ ระบบสืบค้นข้อมูลอัจฉริยะ


 "กูเกิ้ลดูรึยัง", "ลองกูเกิ้ลดูสิ", "เดี๋ยวเปิดกูเกิ้ลก่อน.." ..ฯลฯ เป็นคำที่ติดปากคนทั่วโลกมาตั้งนานแล้ว และสื่อความหมายถึง "ความแสนรู้" ของระบบสืบค้นข้อมูล หรือเสิร์ชเอนจิ้น อันดับ 1 ของโลกอันโด่งดังนี้ได้เป็นอย่างดี
          ล่าสุด มีกระแสข่าวแรงพอสมควรว่า ผู้บริหารและทีมวิศวกร "กูเกิ้ล" กำลังทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อ "ยกเครื่อง" ระบบสืบค้นข้อมูลของเว็บ "กูเกิ้ล" ครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่าถ้าประสบความสำเร็จแล้วล่ะก็ ภายในระยะเวลาอีกแค่ 2-3 เดือนข้างหน้า "พลเมืองเน็ต" ทั่วโลกจะมีโอกาสได้ทดลองใช้งานกันถ้วนหน้า!

          เว็บไซต์ข่าวน.ส.พ.ฉบับดัง "เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล" รายงานข่าวการปรับปรุงวิธีการค้นหาข้อมูลของ "กูเกิ้ล" เอาไว้ว่า

          ภาย ใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เมื่อเราใช้ "กูเกิ้ล" สืบค้นข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ต "ผลลัพธ์" ที่ปรากฏขึ้นมาหลังเคาะแป้นเอ็นเทอร์ ก็จะไม่ได้มีแค่คำตอบเป็น "ลิงก์" สีฟ้าอีกต่อไป

          แต่บรรดา "ข้อมูลแวดล้อม" อันเกี่ยวข้องกับคำตอบที่ต้องการทั้งหมดจะปรากฏขึ้นมาให้เห็นด้วย

          แตกต่างจากวิธีสืบค้นข้อมูลแบบเก่าของ "กูเกิ้ล" ซึ่งโปรแกรมจะใช้วิธีค้นหาเอา "คำ" ที่สะกดเหมือนกัน เขียนเหมือนกัน และมีคนคลิกไปเข้าไปชมมากที่สุดมาโชว์ให้ดูในหน้าผลลัพธ์

          พูดง่ายๆ หมายความว่า ตัว "กูเกิ้ล" นั้นไม่เข้าใจ "ความหมายที่แท้จริง" ของคำที่เรากรอกเข้าไปเพื่อค้นข้อมูล แต่อาศัยวิธีไปควานหาแค่ "คำคำนั้น" ในเว็บต่างๆ นับแสนนับล้านเว็บมาแสดงให้เราเลือกดู

          อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบใหม่นี้ "กูเกิ้ล" จะฉลาดขึ้น มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น โดยสามารถรู้ถึง "ความหมาย" ของคำที่เราต้องหาค้นหา พร้อมๆ กับสามารถแสดงผลลัพธ์ที่เชื่อมโยงกันได้โดยอัตโนมัติ

          สำหรับระบบใหม่ที่ "กูเกิ้ล" กำลังยกเครื่องดังกล่าวเรียกว่าเทคโนโลยี "Semantic Search" หรือซีแมนติก เสิร์ช..

          เป็นการต่อยอดมาจากโปรแกรมค้น-จัดทำดัชนีข้อมูลในอินเตอร์เน็ตของบริษัท "เมตาเว็บ เทคโนโลยีส์" ซึ่ง "กูเกิ้ล" เข้าเทกโอเวอร์ซื้อกิจการนี้เมื่อราวๆ 2 ปีก่อน

          นายอามิต สิงหล ผู้บริหารระดับสูงของกูเกิ้ลเปิดเผยกับวอลล์ สตรีต เจอร์นัล เมื่อเร็วๆ นี้ว่า

          หลังจากนี้ "เว็บกูเกิ้ล" จะแสดงผลลัพธ์การสืบค้นได้ "ตรงประเด็น" ยิ่งขึ้น โ
ดยโปรแกรม จะไล่เปรียบเทียบคำตอบกับ "ฐานข้อมูล" หลายร้อยล้านประเภท ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลของสถานที่ คน หรือสิ่งต่างๆ อีกมากมาย และในช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทกูเกิ้ลได้ค่อยๆ พัฒนาฐานข้อมูลนี้ให้ใหญ่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          ""Semantic Search" มีความสามารถในการช่วยเชื่อมโยงคำที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน อาทิ เมื่อคุณค้นคำว่า กูเกิ้ล ระบบก็จะเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับ แลร์รี่ เพจ กับ เซอร์เกย์ บริน สองผู้ก่อตั้งกูเกิ้ลได้ด้วย" รายงานวอลล์ สตรีต เจอร์นัล ระบุ


          นายอามิตยังเผยด้วยว่า ระบบสืบค้นข้อมูลใหม่ล่าสุดนี้จะทำงานคล้ายกับกระบวนวิธีการเรียนรู้ที่ทำให้ "มนุษย์เข้าใจโลก"

          รายงานข่าวจากทีมงานพัฒนาเว็บกูเกิ้ลอ้างว่า การยกเครื่องครั้งใหญ่น่าจะเริ่มทดสอบใช้งานกันอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

          แต่นายอามิตกล่าวว่า ยังต้องทำงานกันต่อไปอีกเป็นปี เพื่อให้เว็บกูเกิ้ลเข้าสู่ "ยุคต่อไป" ของเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิ้น


          วอลล์ สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า อีกตัวอย่างหนึ่งของ Semantic Search ก็คือ ณ ปัจจุบัน ถ้าเราลองค้นข้อมูลคำว่า "ake Tahoe" (ทะลสาบทาโฮ) ในสหรัฐอเมริกา

          คำตอบที่ได้จะเป็น "ลิงก์" เชื่อมไปสู่เว็บของสำนักงานท่องเที่ยวทาโฮ กับ ข้อมูลทะเลสาบทาโฮ ในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ไปจนถึงสารพัดเว็บที่มีคำว่า "Lake Tahoe" อยู่ในหน้าเว็บเพจ

          แต่เมื่อ "กูเกิ้ลใหม่" เริ่มใช้งาน คำตอบที่เพิ่มเติมขึ้นมาจะแสดงให้เห็นว่าระบบ "รู้จัก" ทะเลสาบดังกล่าวเป็นอย่างดี อาทิ แสดงข้อมูลตำแหน่งที่ตั้ง ลักษณะทางภูมิศาสตร์ อุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละช่วง หรือลงลึกไปจนถึงปริมาณความเค็มของน้ำในทะเลสาบ

          หรืออีกตัวอย่าง เช่น ทุกวันนี้เมื่อเราถามกูเกิ้ลว่า "ทะเลสาบ 10 แห่งที่ใหญ่ที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีอะไรบ้าง?"  จะได้คำตอบเพียงแค่ "ลิงก์" รายชื่อทะเลสาบต่างๆ ในแคลิฟอร์เนีย หรือ "ลิงก์" ของเว็บที่ตอบคำถามดังกล่าวได้ แต่ระบบใหม่จะช่วยให้ "กูเกิ้ล" ตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวมันเอง


          อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า "กูเกิ้ล" จะละทิ้งรูปแบบการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันไปทั้งหมด เพราะนับเป็น "จุดแข็ง" ที่ทำเงินให้มหาศาล

          โดยปีที่ผ่านมาวิธีการขาย "โฆษณา" ของกูเกิ้ล ทำรายได้ให้บริษัทถึง 1.1 ล้านล้านบาท!

          ซึ่งรูปแบบการทำงาน ก็คือ เมื่อเราค้นหาคำๆ ไหน เมื่อหน้าผลลัพธ์โชว์ออกมา ข้อมูลโฆษณาที่เกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์กับคำค้น-คำตอบ ก็จะปรากฏออกมาด้วยในตำแหน่งใกล้เคียง อาทิ ถ้าเราค้นหารถรุ่นใดรุ่นหนึ่ง กูเกิ้ลจะโชว์โฆษณาซื้อขายรถยนต์ขึ้นมาข้างๆ เป็นต้น

          ว่ากันว่าภายใต้ระบบใหม่ที่กำลังซุ่มพัฒนากันนี้ การวางโฆษณาสินค้าในกูเกิ้ลจะยิ่ง "ตรงกลุ่มเป้าหมาย" มากกว่าเดิมหลายเท่า ไม่ใช่ทำในลักษณะสุ่มหว่านไปกว้างๆ เช่นตอนนี้

          แต่แน่นอนว่า เมื่อกูเกิ้ลเปลี่ยนแปลงระบบสืบค้าข้อมูลใหม่...
บรรดา เว็บไซต์ต่างๆ ย่อมต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ "เขียนเว็บไซต์" เช่นกัน เพื่อให้เว็บของตนสอดคล้องกับกระบวนคิดของ "สมองกล" กูเกิ้ลยุคใหม่

          วอลล์ สตรีต เจอร์นัล วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ "กูเกิ้ล" ต้องเร่งปรับระบบเสิร์ชเอนจิ้นให้รุดหน้า ก็สืบเนื่องมาจากปัจจัย 2-3 ประการสำคัญด้วยกัน นั่นคือ

1. เพื่อเพิ่มรายได้โฆษณา
2. เพื่อให้เทคโนโลยีสืบค้นข้อมูลของต้นล้ำหน้าคู่แข่ง เช่น "บิง" ของค่ายไมโครซอฟท์ อย่างเด็ดขาด3. เพื่อดึงให้ "นักท่องเน็ต" ใช้เวลาอยู่กับหน้าเว็บ "กูเกิ้ล" มากขึ้น
          เพราะ ทุกวันนี้กระแสความแรงของเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ "เฟซบุ๊ก" กับ "ทวิตเตอร์" ดูดดึงเอาเวลาของประชากรเน็ตไปเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันเว็บสังคมออนไลน์ "กูเกิ้ล พลัส" ยังเบียดช่วยชิงเอาฐานลูกค้าจากเฟซบุ๊กมาได้ไม่มากเท่าที่ควร


          ล่าสุด มีข่าวว่า เพื่อให้การสืบค้นข้อมูล ฉลาดล้ำกว่าเดิม ทางผู้บริหาร "กูเกิ้ล" ได้เข้าไปติดต่อประสานงานขอสิทธิในการ "เข้าถึง" ข้อมูลในเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐ รวมถึงฐานข้อมูล "ซีไอเอ เวิลด์ แฟกต์บุ๊ก" ที่รวบรวมข้อมูลประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย

          กูเกิ้ลใหม่ หลังผ่านการยกเครื่องจะ "อัจฉริยะ" ชนิดล้ำหน้าแซงคู่แข่งไม่เห็นฝุ่นจริงหรือไม่ จับตารอดูกันต่อไป อีกไม่ช้าไม่นาน นักท่องเน็ตทั่วโลกคงได้พิสูจน์กัน!


from http://is.gd/qjkFRo


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)