Pages

Pages

03 พฤษภาคม 2555

“ฮ่องกง นู้ดเดิ้ล”ร้านบะหมี่มี "ไลฟ์สไตล์"


จากบะหมี่ท้ายรถกระบะกลายมาเป็นร้านบะหมี่มีไลฟ์สไตล์ ต้นแบบเอสเอ็มอีที่เดินเกมธุรกิจอย่างมีแผน ค่อยๆก้าว แต่ก้าวอย่างมั่นคงเพื่อพิชิตเส้นชัย
คาแรคเตอร์สุดแนวบนผนังร้าน “ฮ่องกง นู้ดเดิ้ล” สาขาสยามสแควร์ ฉีกภาพร้านบะหมี่ลุคซ้ำตา มาเป็นร้านสุดชิค สะท้อน ไลฟ์สไตล์ผู้คนในยุคนี้...
นี่ไม่ใช่ธุรกิจแกะกล่องของวัยรุ่นเด็กแนว แต่คือร้านบะหมี่ที่อยู่ครองใจผู้คนมานานเกือบ 3 ทศวรรษ
28 ปีก่อน รสชาตินุ่มลิ้นของบะหมี่ทำมือจากคู่รักคนขยัน “สุเมธ และจิตราวรรณ พิริยเลิศศักดิ์” ดึงดูดคนชอบเส้นให้แวะเวียนมาลิ้มรส “บะหมี่ท้ายรถกระบะ” ริมถนนเยาวราชอย่างไม่ขาดสาย
“สุเมธ” เป็นนักวางแผน เป้าหมายของเขาจึงไม่ใช่ “ท้ายรถกระบะ” เขาเริ่มเก็บเงินเพื่อที่วันหนึ่งจะเปิดหน้าร้านเล็กๆ ของตนเองได้...หลายปีต่อมา ร้านฮ่องกง นู้ดเดิ้ล สาขาแรกในซอยตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ถนนเยาวราช จึงถือกำเนิดขึ้น
พอวันมีหน้าร้านของตนเอง พวกเขาขายบะหมี่ได้วันละเป็นพันชาม ต้องทำเส้นบะหมี่นับร้อยโล แน่นอนว่าแค่แรงคนทำชัก “เอาไม่อยู่” จึงได้แคะเงินออมมาซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตเส้น
“ทุกครั้งที่มีโอกาส ทั้งคุณพ่อและคุณแม่จะไม่ยอมให้เสียโอกาสไป ท่านบอกเสมอว่า ในช่วงชีวิตหนึ่งเราจะมีโอกาสเข้ามาเพียงไม่กี่ครั้ง ฉะนั้นถ้าโอกาสมาถึงแล้วต้องอย่าปล่อยให้หลุดมือ ท่านจะสอนให้เห็นคุณค่าของการเก็บออม บอกว่า ถ้าเราไม่เก็บเงิน ไม่สะสม ถึงเวลาที่มีโอกาสเข้ามา เราจะหาเงินที่ไหนเพื่อไปลงทุน”
จิตติพร พิริยเลิศศักดิ์” ทายาทรุ่นสอง ฮ่องกง นู้ดเดิ้ล บอกกับเราถึงแนวคิดการทำธุรกิจ ที่ยังคงปลูกฝังมาจนถึงวันนี้ อย่างการลงทุนด้วยเงินออม ไม่ไปกู้เงินมาขยายกิจการให้เป็นภาระ..ค่อยๆ ก้าวแต่ต้องเป็นก้าวที่มั่นคง
เธอเก็บเกี่ยวคำสอนดีๆ จากคนเป็นพ่อ มาเป็นแนวทางสานต่อธุรกิจ และไม่คิดเดินนอกเส้นทางนี้ แม้จะเลือกเรียนด้านกราฟฟิกดีไซน์มาจากเมืองนอกเมืองนา แต่ยังเลือกสานต่อกิจการของครอบครัว
“ได้ช่วยทำงานมาตั้งแต่เด็กๆ ก็รู้สึกว่าทำไมการหาเงินถึงเหนื่อยขนาดนี้ แต่คุณพ่อพยายามบอกว่า ทุกๆ อย่างที่เราทำ เป็นความรู้ เป็นสิ่งมีค่า กอบโกยได้ให้กอบโกย เพราะต่อไปท่านไม่มีแรงสอนเราจะไปหาสิ่งเหล่านี้มาจากไหน จำได้ว่าสมัยก่อนมีคนมาขอซื้อสูตรบะหมี่เยอะมาก  แต่คุณพ่อบอกว่าเป็นแสนเป็นล้านก็ไม่ขาย ด้วยความที่ท่านรู้สึกว่านี่เป็นหัวใจของการทำมาหากิน ฉะนั้นเขาจะเก็บไว้ให้ลูก”ง
ความหวังดีของคนรุ่นหนึ่ง เป็นเหมือนพันธสัญญาให้ทายาทอย่างเธอต้องรักษามรดกชิ้นนี้ไว้ และนำเอาความรู้ด้านกราฟฟิกดีไซน์ บวกความเป็นคนรุ่นใหม่มาเสริมแต่งให้ฮ่องกงนู้ดเดิ้ล ทันยุคทันสมัยขึ้น ภาพความเปลี่ยนแปลงปรากฏชัดเมื่อเปิดสาขาที่สอง “สยามสแควร์” จากร้านในตลาดกระโดดมาอยู่ในย่านวัยรุ่น
“ตอนนั้นสยามสแควร์ยังไม่บูมขนาดนี้ มีห้องว่างเยอะมาก โจทย์คือเราจะทำอย่างไรที่จะเอาบะหมี่เกี๊ยวในตลาดมาอยู่ในสยามสแควร์ ทำอย่างไรให้คนแถวนี้กินโดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นแค่บะหมี่ข้างทาง จึงคิดว่าอย่างแรกเลยคือต้องติดแอร์ ต้องสบาย ทำร้านให้วัยรุ่น โดยที่ราคาต้องไม่แพง”
ร้านสุดชิคฉีกภาพบะหมี่ในตลาด ได้รับการตอบรับจากลูกค้า “ถล่มทลาย”
ทายาทคนโตฮ่องกงนู้ดเดิ้ลได้ร่วมเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์นั้น ก่อนบินไปเรียนต่อโทที่ต่างประเทศ  โจทย์ที่พ่อของเธอวางไว้เมื่อกลับมา ท้าทายยิ่งกว่าทุกครั้ง
“เรียนจบกลับมาได้แค่สองอาทิตย์ คุณพ่อโทรมาบอกว่า ตอนนี้เช่าตึกที่หัวลำโพงไว้แล้ว ให้เวลาสองเดือนเปิดร้านให้ได้ โดยท่านจะไม่ยุ่งเลย สิ่งเดียวที่ทำให้คือสัญญา ที่เหลือต้องจัดการเองหมด คุณพ่อท่านอยากให้ได้เริ่มต้น และลองทำดู ท่านบอกว่าธุรกิจถ้าไม่โต ก็จะอยู่กับที่ และจะค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ ให้เลือกเอาว่าเราจะทำต่อไปหรือไม่”
เธอว่านี่เป็นวิธีการสอนของพ่อ คือ “ปล่อยให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง” และ “กล้าเสี่ยง” กับการซื้อบทเรียนของทายาท เหตุผลที่คนรุ่นหนึ่งบอกไว้ คือประสบการณ์จากคนรุ่นก่อน อาจเหมาะกับช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะ "เวิร์ค" สำหรับวันนี้ จึงน่าจะดีกว่าถ้าปล่อยให้คนรุ่นนี้ได้คิดและหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
สิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากวิชา “ลงมือทำเอง” คือ  การทำธุรกิจไม่ง่าย ประสบการณ์ในที่หนึ่งอาจใช้ไม่ได้ในอีกที่ แต่ละสาขาจึงต้องหาสิ่งใหม่ใส่ลงไป ต้องมีการคิด การพัฒนา ปรับให้เข้ากับคนและสถานที่นั้นๆ
สาขาหัวลำโพงจึงไม่เป็นเพียงร้านบะหมี่ แต่คือ “จุดนัดพบ” ที่มี tea room อยู่บนชั้น 3 ขณะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ จึงเพิ่มเมนูพิเศษมาสนองความต้องการโดยเฉพาะ ไม่เหมือนกับสาขาอื่น
หลังการมาถึงของสาขาที่ 3 สุเมธ เริ่มสนใจการขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ ผู้ชายที่ปฏิเสธการขายสูตรบะหมี่มาตลอดชีวิต มีมุมมองที่เปลี่ยนไปในเรื่องนี้
“คุณพ่อท่านอยากรู้ว่าการที่จะขยายสาขาไปเป็นหลักสิบหลักร้อยร้าน โดยที่ยังควบคุมดูแลทุกอย่างได้ ต้องทำอย่างไร จึงไปศึกษาเรื่องระบบแฟรนไชส์ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และได้คำตอบว่า...เรายังต้องทำอะไรอีกเยอะมาก”
พวกเขาไม่ได้ทำอะไรบุ่มบ่าม แต่ใช้เวลาถึง 6 ปี ในการวางและทดลองระบบ รวมถึงทำร้านต้นแบบเพื่อดูความเป็นไปได้ก่อนการขายแฟรนไชส์ เวลาเดียวกันก็ขยายสาขาของตนเองไปยังพื้นที่อื่นๆ จนมีอยู่ถึง 8 สาขา เรียกว่าลองมาหมดแล้วทั้งแบบสแตนอะโลน ร้านในตลาด ในชุมชน แหล่งวัยรุ่นและห้างสรรพสินค้า  เพื่อนำทุกปัญหาและการเรียนรู้ไปแบ่งปันให้แฟรนไชซีของพวกเขา
แฟรนไชส์ฮ่องกงนู้ดเดิ้ล คือร้านบะหมี่มีไลฟ์สไตล์ ที่แต่ละสาขาจะมีจุดเด่น กลมกลืนไปกับชุมชนนั้นๆ โดยค่าแฟรนไชซีอยู่ที่ 5 แสนบาท สัญญา 5 ต่อ 5 ปี ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายค่าเช่า ค่าตกแต่งทุกอย่างเองหมด เงินลงทุนจึงขึ้นกับขนาดของร้าน สิ่งที่พวกเธอมีให้คือ โนว์ฮาว การฝึกอบรม ส่งวัตถุดิบให้ มีทีมงานเข้าไปดูแล มีดีไซเนอร์ออกแบบร้านให้ โดยประเมินเงินลงทุนบนพื้นที่ประมาณ 80 ตารางเมตร อยู่ที่ 2 ล้านบาท ใช้เวลาคืนทุนที่ 2.5 ปี ขึ้นกับทำเล
เธอว่าปีนี้วางแผนที่จะขายแฟรนไชส์เพียง 5 สาขา และอยากเลือกคนที่รักและเข้าใจในร้านบะหมี่อย่างแท้จริง
“ร้านทุกร้านก็เหมือนต้นไม้ เมื่อปลูกมันก็ต้องรดน้ำพรวนดิน อยากได้ผู้ลงทุนที่ไม่ใช่เป็นแค่นักลงทุน แต่มีเวลาให้กับร้าน ร้านจะขาดผู้นำไม่ได้ ผู้ที่จะมาลงทุนจึงควรใกล้ชิด ใส่ใจ ทั้งกับบุคลากรในร้านและตัวร้าน"
จิตติพรบอกเราว่าฮ่องกงนู้ดเดิ้ลในยุคของเธอ ต้องการให้เป็นร้านบะหมี่ที่อยู่ในทุกชุมชน แต่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ยังยึดคอนเซปต์คนรุ่นหนึ่งที่นิยมรวยเงินสดมากกว่ารวยหนี้ พยายามทำสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุดและดีขึ้นทุกๆ วันก็พอแล้ว
“มีหนังสือเล่มหนึ่งบอกไว้ว่า การใช้ชีวิตก็เหมือนตุ๋นอาหาร ถ้าเราเร่งเกินไป ก็ไม่ได้รสชาติ แต่ถ้าต้มนานไปมันก็เละ คนเราจึงต้องรู้จังหวะในการดำเนินชีวิต ขอเพียงแค่รู้ว่าจุดหมายของเราคืออะไร แล้วก้าวเดินไปและมีความสุขกับมัน สุขกับการทำงาน เท่านี้ก็พอแล้ว”
ความคิดคมๆ ของทายาทธุรกิจฮ่องกงนู้ดเดิ้ล ผู้ไม่บุ่มบ่าม แต่ก็ไม่ขอย่ำอยู่กับที่เช่นเดียวกัน
................................
Key to success
เคล็ดลับสานต่อธุรกิจ
๐ ทายาทต้องมีความรักที่จะทำธุรกิจครอบครัว
๐ ลงไปคลุกคลีกับงานในทุกครั้งที่มีโอกาส
๐ ใช้เวลาให้มันมีค่า ศึกษางานในทุกจุด
๐ คนรุ่นก่อนต้องใจกว้าง เปิดรับความคิดเด็กรุ่นใหม่
๐ อย่าครอบงำความคิดทายาท


from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20120502/448422/%E0%B8%AE%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%87-%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5-%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น