18 ตุลาคม 2555

9 กลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อความอยู่รอด



กลยุทธ์ สำคัญในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว ถดถอย สิ่งที่สำคัญที่ทุกคนในองค์การคงต้องเตรียมตัว เตรียมใจว่า "เราต้องร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกๆ ด้าน" หมั่นตรวจสอบผลการดำเนินงานของตนเองในแต่ละฝ่ายตลอดเวลา ขยันติดตามและตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงาน ยอดขาย และต้องศึกษาให้เข้าใจถึงความรู้สึกความต้องการ และพฤติกรรมของลูกค้าตลอดจนผลกระทบที่มีต่อลูกค้าประจำของเรา และอย่าละเลยที่ต้องขยันคิด ขยันสร้างสรรค์ ขยันค้นหาแนวทางใหม่ๆ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างใหม่หมดโดยไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและควรรักษาสิ่งดีๆ ที่เคยทำแล้วสำเร็จไว้ และพัฒนาสิ่งที่ดีๆ เหล่านั้นให้แข็งแกร่งมากขึ้น ต้องไม่เป็นกระต่ายตื่นตูม ตื่นตระหนกกับสถานการณ์จนขาดสติ


การปรับปรุงควรวางแผนมองแบบภาพรวมให้ทุกคนในองค์กรร่วมรับรู้ทุกสถานการณ์ที่มีผลกระทบ และร่วมคิดร่วมสร้างพลัง ค้นหาหนทางที่จะทำให้ทุกๆ คนในองค์อยู่รอดร่วมกัน การปรับการกระทำ ให้ริเริ่มกระทำอย่างมีการ "คิดก่อนทำ" แบบที่เรียกว่า "คิดดี ต้องทำได้" และ "คิดได้ ต้องทำดี" และ 9 กลยุทธ์ทางการตลาดดังต่อไปนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นหนทางเพื่อให้กิจการฝ่าวิกฤตทำให้องค์กรอยู่รอดและยั่งยืนได้


1.กลยุทธ์ ราคา
ขอให้ใช้อย่างเข้าใจและใช้กลยุทธ์ราคานี้บนพื้นฐานของการศึกษามากกว่าการใช้ตามความรู้สึกที่ว่าใครๆ เขาก็ใช้กลยุทธ์ราคากัน แน่นอนกลยุทธ์ราคาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในสินค้าโดยเฉพาะสินค้าประเภท commodity ที่ลูกค้าไม่ยึดติดในตราสินค้า ดังนั้น กลยุทธ์ราคามักจะเหมาะสมกับสินค้าประเภทที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มีความภักดีในตราสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ราคาอย่างสร้างสรรค์เช่น ควรลดราคาสำหรับสมาชิก หรือการลดราคาในช่วงสิ้นเดือนที่ลูกค้าเพิ่งได้รับเงินเดือน และการลดราคาให้ผู้มีกำลังซื้อน้อยเช่นข้าราชการ หรือผู้ใช้แรงงานของบริษัทที่ทำสัญญากับกิจการ แม้ในภาวะวิกฤตเช่นนี้การจะใช้กลยุทธ์การลดราคาควรมีเป้าหมายด้วยและควรเจาะจงมากกว่ากระทำไปโดยไม่มีเป้าหมาย


2.กลยุทธ์ การสร้างคุณค่าที่แตกต่าง
กลยุทธ์นี้ควรสร้างความยอมรับให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวมด้วยเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน ถ้าให้ดีควรเน้นขายสินค้า หรือให้บริการที่มากคุณค่า คุ้มค่า และจ่ายในราคาที่ประหยัดกว่าแต่หาซื้อที่ไหนไม่ได้ หรือซื้อได้แต่ถ้าซื้อที่เราให้ความคุ้มค่า และให้คุณค่ากับผู้ซื้อและสังคมส่วนร่วมเป็นอย่างมาก เช่นกลยุทธ์การขายสินค้าแบบนำสินค้าที่ใช้แล้วมาแลกซื้อสินค้าใหม่ในราคาที่ถูกกว่า หรือกลยุทธ์การเพิ่มเติมบริการเสริมในเรื่องการรับซื้อของเก่าที่ใช้แล้ว เพื่อนำไปแลกชื้อสินค้าใหม่ถึงบ้าน หรือแม้แต่การรับซื้อบรรจุภัณฑ์เก่าเพื่อแลกซื้อสินค้าใหม่ของเรา จะเห็นว่าถ้าแตกต่างแบบนี้ทุกคนได้ประโยชน์ทั้งนั้น สังคมส่วนรวมก็ได้ด้วย


3.กลยุทธ์ สร้างความผูกพันในตราสินค้า
กิจการควรใช้กลยุทธ์การสร้างความผูกผันในคุณภาพ ความคุ้มค่า และทำให้ลูกค้าเกิดความผูกพันในทุกสิ่งทุกอย่างของสินค้าและบริการซึ่งต้องทำให้มากขึ้นกว่าเดิมที่เน้นแค่ความผูกพันในความรู้สึกแต่เพียงอย่างเดียว เช่น กลยุทธ์การให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการเสนอแนะวิธีพัฒนาคุณภาพสินค้าในช่วงวิกฤตเพื่อสร้างความอยู่รอดให้สินค้า เพราะลูกค้าเคยมีประสบการณ์ในการใช้เป็นอย่างดี ซึ่งกลยุทธ์สร้างความผูกพันแบบนี้ต้องมีวิธีการแสดงความขอบคุณที่ลูกค้าร่วมแสดงความคิดเห็นติชมโดยอาจใช้ชื่อลูกค้าในรุ่นสินค้านั้นๆ หรือแสดงความขอบคุณในสื่อต่างๆ


4.กลยุทธ์ การวางแผนเลือกใช้สื่อ
ในอดีตเมื่อยอดขายไม่ดีทุกกิจการมักตัดงบประมาณการสื่อสารการตลาดก่อน แต่ในปัจจุบันกิจการต่างๆ ใช้กลยุทธ์การสื่อสารกันอย่างเต็มที่แต่ที่ต้องระมัดระวัง คือควรเลือกการวางแผนการใช้สื่อให้ดีและเจาะจงมีเป้าหมายชัดเจน นั่นคือ การเลือกใช้สื่อควรมุ่งเน้นการสื่อสารที่ส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เน้นการสร้างความไว้วางใจ เน้นการสร้างความเป็นกันเอง และยังเน้นความเป็นส่วนตัวกับลูกค้า โดยต้องมีการคิดวางแผนเลือกใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ แบบที่เรียกว่า innovative idea เช่น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ต้องสื่อสารในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับลูกค้าจริงๆ การใช้สื่อ internet และการใช้สื่อควรเป็นสื่อที่เข้าถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของลูกค้าช่วยให้ลูกค้ารับรู้ด้วยความไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้การสร้างเลือกสื่อควรคำนึงถึงการความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้องกับลูกค้า หรือใช้กลยุทธ์การเลือกใช้สื่อที่ต้องมุ่งสร้าง social network มากกว่าการให้เพียงข้อมูลข่าวสารแก่ลูกค้าเท่านั้น

5.กลยุทธ์ การวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมของลูกค้าที่มีต่อตราสินค้าของตน
หากกิจการใดยอมเสียเวลาทำการวิจัยย่อมรู้และเข้าใจลูกค้ามากขึ้น แต่การกระทำวิจัยควรทำให้ลูกค้ารับรู้ว่ากิจการมีความสนใจและตระหนักถึงทุกความคิดและความรู้สึกของลูกค้าอยู่เสมอ หมายความว่ายิงปืนนัดเดียวได้ความเข้าใจอันดีกับลูกค้าด้วย และที่สำคัญปัจจุบันนี้ลูกค้ามีแนวโน้มที่จะสนใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นกิจการควรเริ่มสนใจและศึกษาว่าลูกค้าของเราเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมโลกหรือไม่ และลูกค้าของเราเปลี่ยนไปเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีมากเราก็ควรเตรียมปรับกลยุทธ์การตลาดให้มุ่งเน้นเรื่อง green marketing มากยิ่งขึ้นในอนาคต


6.กลยุทธ์ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (CRM)
ยังคงเป็นเรื่องสำคัญอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการสร้างสินค้าและบริการที่ตรงต่อความต้องการแต่ละรายบุคคล (customized products) มุ่งเน้นนำเสนอสินค้าบริการที่สร้างความสุข สร้างให้เกิดการชื่นชอบและชอบใช้อย่างสม่ำเสมอ และบอกให้คนอื่นใช้ ซึ่งเรียกว่าลูกค้าเกิดความภักดีในตราสินค้า (Brand loyalty) และเกิดความผูกพันอย่างลึกซึ้งในตราสินค้า กลยุทธ์ที่ควรใช้และใช้อย่างต่อเนื่องก็คือการบริหารการจัดเก็บและใช้ประโยชน์ข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้า นำเสนอสินค้าที่ลูกค้าชื่นชอบ แน่นอนกิจการต้องเน้นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและต้องทำอย่างจริงใจ จริงจัง ต่อเนื่องและตลอดเวลา

7.กลยุทธ์ การวิจัยพฤติกรรมการซื้อ
ควรค้นหาข้อเท็จจริงจากลูกค้ามากขึ้น และควรวิจัยถึงเหตุผลในการซื้อมากกว่าการวิจัยทัศนคติ ความรู้สึก การรับรู้เท่านั้น เพราะในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้การรับรู้ว่าลูกค้ามีความรู้สึกอย่างไรเพื่อมาทำกลยุทธ์การตลาดให้ลูกค้ารู้จักผลิตภัณฑ์เราอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องรู้ข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุดว่าอะไรกันแน่ที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ เช่น กลยุทธ์วิจัยจากการจัดเก็บข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้าประจำจากบัตรสมาชิก มากกว่าการทำวิจัยสำรวจความชื่นชอบในตราสินค้า

8.กลยุทธ์ สร้างความโดดเด่นในการบริการอย่างเฉพาะเจาะจง
เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเรื่องคุณค่า ความคุ้มค่าในการใช้จ่าย เช่น กลยุทธ์การติดต่อกับลูกค้าประจำ และให้ความสำคัญในการให้บริการเสริมที่ตามลูกค้าแนะนำ ทำให้ลูกค้ารับรู้ว่ากิจการให้ความสำคัญและยอมรับฟังลูกค้านำเสนอบริการตามที่ลูกค้าแนะนำแน่นอนลูกค้าก็จะไม่ไปใช้บริการของคู่แข่งขัน


9.กลยุทธ์ สร้างความสะดวกสบาย ง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนในการซื้อสินค้าหรือในการเข้ารับบริการ
กลยุทธ์ที่ 9 นี้เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมาก ขณะที่ลูกค้าต้องใช้เหตุผลในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น กิจการควรนำเสนอรูปแบบการบริการที่ช่วยให้การตัดสินใจของลูกค้ากระทำได้ง่ายขึ้น ไม่ลำบาก โดยมุ่งเน้นการสร้างสินค้าและบริการที่อำนวยความสะดวก เน้นความสบายให้ลูกค้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นความอยากใช้ อยากซื้อ


โดยรวมแล้วอาจจะมองว่า 9 กลยุทธ์การตลาดข้างต้นเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้ว แต่อาจมีหลายคนหลงลืมไปว่า นี่ก็คือกลยุทธ์ที่นักการตลาดทั่วโลกกำลังเร่งทำในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้


แผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ



เรื่องการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณนี้ มีผู้รู้สอนกันอยู่มากมาย แต่ละท่านต่างก็มีสูตรที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของแต่ละท่านเอง


สำหรับผมก็มีสูตรของผมเหมือนกัน ประเด็นสำคัญของการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ คือ คนเราเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว สุขภาพย่อมถดถอยลง การหารายได้ใหม่จึงเป็นเรื่องยากขึ้น เราจึงต้องหันมาพึ่งพา Passive Income หรือรายได้ที่มาจากดอกผลจากสินทรัพย์ที่เราได้เก็บออมไว้ตลอดชีวิตเป็นหลัก


ลองเริ่มต้นด้วยการนั่งคิดดูว่า เมื่อถึงวันที่ต้องเกษียณแล้ว คุณ (และคู่สมรส) อยากมีเงินใช้รวมกันเดือนละเท่าไร หมายความว่า ต้องมีเงินใช้อย่างต่ำที่สุดเท่าไรต่อเดือน ถึงจะอยู่ได้แบบมีความสุข ไม่กัดก้อนเกลือจนเกินไป


บางคนอาจใช้วิธีประมาณเงินเดือนในปีสุดท้ายก่อนเกษียณที่ตนน่าจะได้รับเป็นจุดเริ่มต้น (เช่น คนที่เป็นข้าราชการ) วิธีนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะเงินจำนวนนี้น่าจะต้องพอใช้ในวัยเกษียณแน่ๆ เพราะถ้าไม่พอ ตอนปีสุดท้ายที่ทำงานอยู่จะพอได้อย่างไร โดยอาจปรับตัวเลขนี้ลงตามสัดส่วน เพราะเมื่อไม่ต้องทำงานแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งจะลดลงด้วย


ถ้าเอาตามตำรา หลังเกษียณก็ควรมีเงินใช้จ่าย 50% ของเงินเดือนปีสุดท้ายก่อนเกษียณ แต่ส่วนตัวผมว่า อาจจะน้อยเกินไปนิด น่าจะสัก 70% ถึงจะได้อยู่แบบสบายๆ


สมมติว่า คุณและคู่สมรสต้องการมีเงินใช้เดือนละ 30,000 บาท หลังเกษียณ ก็ลองคิดว่าคุณจะต้องมีเงินออมเท่าไร ถึงจะสามารถสร้าง Passive Income ได้เท่ากับ 30,000 บาทต่อเดือน เพื่อที่จะหาตรงนี้ เราต้องตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนของเงินเก็บ


เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณคนเราแบกรับความเสี่ยงได้น้อยลง ดังนั้น จึงควรเก็บเงินส่วนใหญ่ของเราไว้ในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวน่าจะดีที่สุด พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวน่าจะให้ผลตอบแทนได้ประมาณ 4% ต่อปี หากคำนวณกลับเข้าไปก็จะพบว่า คุณต้องมีเงินออมอย่างน้อย (30,000x12)/4% หรือเท่ากับ 9,000,000 บาท ถึงจะสร้าง Passive Income 30,000 บาทต่อเดือนได้


นั่นแปลว่า ตลอดวัยทำงาน คุณจะต้องออมเงินให้ได้ราว 9 ล้านบาท เมื่อถึงวันที่เกษียณ


ตัวเลขต่อไปที่เราจะต้องหา ก็คือ แล้วเราจะต้องออมเงินเดือนละเท่าไร ในช่วงที่เรายังทำงานอยู่ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้


เวลาเก็บสะสมเงินออมในช่วงทำงาน เราไม่ได้เก็บไว้ในตุ่ม แต่เราฝากธนาคารหรือเอาไปลงทุนอย่างอื่น มันจึงมีผลตอบแทนเพิ่มมาด้วยระหว่างทาง ซึ่งช่วยทุ่นแรงให้เราได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเริ่มต้นออมตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะยิ่งออมนาน พลังแห่งการทบต้นก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ ถ้าดูจากผลตอบแทนของพวกกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ จะอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี แต่กองทุนเหล่านี้จำเป็นต้องบริหารเงินแบบค่อนข้างอนุรักษนิยม ถ้าเป็นตัวเราเอง เราอาจออมเงินไว้ในหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่ากองทุนเหล่านี้สักหน่อยเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาวก็ได้ ผลตอบแทนต่อปีที่ผมว่า ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไปสำหรับทุกคนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.5% ต่อปี (สูงมากกว่านี้ก็ต้องเสี่ยงมากขึ้น ไม่ใช่จะดีเสมอไป)


เพื่อคิดผลของเงินเฟ้อในอนาคต เราต้องหักเงินเฟ้อออกจากอัตราผลตอบแทนด้วยเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่แท้จริง เงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาวน่าจะอยู่สัก 3.0% ต่อปี ทำให้ผลตอบแทนจริงๆ ของเงินออมของเราอยู่ที่ 4.5% ต่อปี


ในโปรแกรมไมโครซอฟท์ เอ็กซ์เซล มีฟังก์ชันหนึ่งที่ใช้คำนวณหาเงินที่ต้องออมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ชื่อ ฟังก์ชัน PMT ซึ่งคุณจะต้องทราบ เป้าหมาย (FV), จำนวนปีที่ออม (NPER) และ ผลตอบแทนต่อปีที่ทำได้ (rate) สมมติว่า ตอนนี้คุณอายุ 30 ปี และจะเกษียณตัวเองตอนอายุ 55 ปี ก็เท่ากับว่าคุณมีเวลาออมเงินอีก 25 ปี


ลองแทนค่าต่างๆ ลงไปในฟังก์ชันโดยการพิมพ์ =PMT (4.5%,25,0,9000000) จะได้คำตอบเท่ากับ 201,951 (ตัวเลขจะติดลบ แต่ไม่ต้องสนใจ) ตัวเลขนี้คือเงินที่จะต้องออมให้ได้ต่อปี เมื่อนำไปหาร 12 จะได้ 16,829 บาทต่อเดือน


หมายความว่า คุณและคู่สมรสจะต้องช่วยกันออมเงินให้ได้เดือนละ 16,829 บาท จึงจะบรรลุเป้าหมายการออมเงินเพื่อวัยเกษียณนี้ได้


ถ้าหากตัวเลขตัวนี้สูงเกินไปในเวลานี้ ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะตัวเลขนี้สมมติว่าคุณออมเงินเท่าเดิมทุกปีตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้ายก่อนเกษียณ แต่ในความเป็นจริง รายได้ของคุณจะค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดอายุการทำงานของคุณ ดังนั้น ในปีแรกๆ คุณอาจออมได้น้อยกว่านี้สักหน่อย แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ให้ได้ใกล้เคียงกับตัวเลขนี้ในช่วงวัยกลางคน และสูงกว่านี้ในช่วงใกล้จะเกษียณ คุณก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้แบบใกล้เคียงได้เหมือนกัน อย่างน้อยตอนนี้เราก็รู้แบบคร่าวๆ แล้วว่าเราต้องออมเงินในระดับไหนต่อเดือน


ลองปรับตัวเลขทั้งหมดใหม่ เพื่อให้ตรงกับกรณีของคุณดู คุณก็จะรู้ตัวเองว่าควรจะต้องออมเงินประมาณไหน ถึงจะบรรลุเป้าหมายของคุณ และอย่าลืมด้วยว่า คุณจะต้องหัดออมเงินบางส่วนของคุณไว้ในหุ้นด้วยเสมอ จึงจะทำให้ผลตอบแทนรวมของเงินออมของคุณอยู่ในระดับที่สูงกว่าตราสารหนี้ เช่น 7.5% ต่อปีได้


from http://goo.gl/UycIi

กลยุทธิ์การลงทุนแบบ VI



เรื่องการประเมินราคาที่เหมาะสมของหุ้นนั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ยาก และราคาที่เหมาะสมของหุ้นนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป และสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หุ้นตัวหนึ่งมี eps 1 บาท และมี p/e ที่เหมาะสมคือ 15 เท่า ในปีนี้ราคาที่เหมาะสมคือ 15 บาท แต่หุ้นตัวนี้มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ราคาที่เหมาะสมในปีหน้าก็จะเพิ่มเป็น 1.2*15 คือ 18 บาท


นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ราคาเหมาะสมอาจจะเปลี่ยนแปลงคือ สภาพแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวบริษัทเองที่อาจจะทำให้การเพิ่มขึ้นของกำไร เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง กว่าที่คาดไว้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรที่คาดหวัง จะมีส่วนทำให้ p/e ของหุ้นต่ำลงหรือสูงขึ้นด้วย ดังนั้นหาก eps growth ลด ก็ทำให้ eps ในปีต่อไปลดจากที่คาดไว้ และ p/e ที่เหมาะสมหรือ p/e ที่ตลาดจะให้กับหุ้นตัวนั้นๆ ลดลงด้วย เป็น 2 เด้ง ในทางกลับกันก็เช่นกัน ดังนั้นเราอาจจะเห็นว่าตลาด เปลี่ยนแปลงราคาที่เหมาะสมสำหรับหุ้นตัวนั้นได้เร็วและรุนแรงพอสมควรครับ เช่น หุ้น MINT เคยได้ p/e 10-15 เท่า เพราะตลาดคาดว่าหุ้นตัวนี้จะโตได้ปีละ 10-15% แต่เมื่อ mint สามารถเติบโตในปีก่อนได้เ 40% ก็กลายเป็นว่าตลาดก็ให้ p/e ของmint สูงถึง 20-25 เท่า ดังนั้น หากเรายึดติดกับว่า mint ไม่ควรมี p/e เกิน 15 เท่าก็กลายเป็นว่าอาจจะขายหุ้น mint ก่อนเวลาอันควรก็เป็นได้


หรือ หุ้น amata ในปี 44-45 เคยมี p/e เพียง 4-6 เท่า แต่ปัจจุบัน มี p/e 15-20 เท่า ดังนั้น ความคาดหวังของนักลงทุน ณ เวลาที่ต่างกัน สถานการณ์ต่างกัน ก็มีความแตกต่างกันมากครับ


แม้กระทั่งหุ้นกลุ่มอสังหาฯ หรือวัสดุก่อสร้าง เคยได้ p/e 10-20 เท่าในปี 46 แต่ปัจจุบัน p/e 6-8 เท่า หลายคนยังไม่อยากซื้อเลยครับ


ดังนั้น ผมคิดว่าการคำนวณราคาที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวนั้นค่อนข้างลำบาก สำหรับผมเองคงจะบอกได้ว่า หุ้นตัวหนึ่งๆ นั้นยังถูกพอสมควร และมี upside มาก ในขณะที่ downside หรือความเสี่ยงไม่มากนัก ทำให้น่าสนใจในการลงทุน หรือบอกว่าหุ้นตัวหนึ่งแพงกว่าที่ควรจะเป็น หรือมี downside พอสมควร หรือมีอนาคตที่ไม่น่าสนใจหรือมีความกังวลอะไรบางอย่าง ทำให้ไม่น่าสนใจนัก หรืออย่างมากก็บอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ตามพื้นฐานแล้วราคาหุ้นไม่ควรต่ำกว่ากี่บาทต่อหุ้น แต่ผมเองไม่สามารถทำนายราคาที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้องครับ และไม่สามารถบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้นไปถึงเท่าไหร่ถึงจะน่าขายที่สุด หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า หากมีคน 10 คนวิ่งแข่งกัน ผมสามารถบอกได้ว่า 3 คนไหนน่าจะมีอันดับแรกๆ หรือ พอจะบอกได้ว่านักวิ่ง 3 คนที่ผมเลือกมานั้นควรจะทำเวลาได้ไม่เกินกี่วินาที แต่ผมไม่สามารถบอกได้ว่าทั้ง 3 คนหรือแต่ละคนจะใช้เวลาวิ่งกี่วินาทีครับ


ดังนั้น การที่การประเมินราคาที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ยาก ระยะหลังๆ ผมจึงเน้นการที่เลือกหุ้นที่ดี คือ อยู่ในธุรกิจที่มีการเติบโต บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีผู้บริหารที่ดี แล้วถือลงทุนไปเรื่อยๆ ครับ กล่าวคือ ผมคิดว่าเราควรจะทุ่มเทเวลาในการศึกษาปัจจัยด้านคุณภาพ หรือ qualitative เช่น การวิเคราะห์ทำความเข้าใจในธุรกิจ มากกว่าปัจจัยด้านตัวเลขหรือปริมาณครับ


การวิเคราะห์ความถูกแพงของหุ้นก็เป็นสิ่งสำคัญครับ ซึ่งหลักๆ คือการดู p/e การใช้ p/e นั้นต้องใช้กับหุ้นที่ไม่ใช่หุ้นวัฎจักรเท่านั้นนะครับ ถ้าเป็นหุ้นวัฎจักรก็ต้องใช้วิธีอื่นๆ ดู ซึ่งผมคิดว่านักลงทุนทั่วไปที่ยังไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งยังไม่ควรเริ่มศึกษาจาก หุ้นวัฎจักรครับ


ผมเคยเขียนถึงหุ้นวัฎจักรไปบ้างแล้ว เผื่อหลายท่านยังไม่ได้อ่าน ผมขอฉายหนังซ้ำนะครับ


หุ้นวัฎจักรแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ครับ

1 หุ้น commodity cyclical
หุ้นประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หรือ commodity ซึ่งสินค้าจะหน้าตาเหมือนกัน ทำให้ผู้ผลิตเกือบทุกรายจะต้องขายสินค้าหรือบริการที่ราคาเดียวกัน ได้แก่ เหล็ก ปิโตรฯ น้ำมัน ถ่านหิน เรือ แร่ธาตุ ฯลฯ หุ้นประเภทนี้จะมี cycle ขึ้นลงตาม demand supply ของอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจัยด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเข้ามาเกี่ยวข้องในด้าน demand และมีปัจจัยด้านการเพิ่มหรือลดการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ของโลกซึ่งเป็นตัวกำหนด supply ดังนั้นผู้ศึกษา cycle ของธุรกิจจะต้องวิเคราะห์ให้ถูกทั้งด้าน demand และ supply ถูกด้านเดียวไม่พอครับ

2 หุ้น economic cyclical 
หุ้นประเภทนี้แม้จะไม่ได้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ แต่สินค้าหรือบริการนั้นมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจสูง เพราะอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตนักหรือพอจะชะลอการ ซื้อได้ หรือ/และ สินค้าของผู้ผลิตเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็น commodity ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักและลูกค้าพร้อมจะ switching จากยี่ห้อหนึ่งไปอีกยี่ห้อ ทำให้เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงมีการตัดราคากัน หรือเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงมากทำให้การลดลงของรายได้ใกล้เคียงกับ กำไรที่จะลดลง หุ้นกลุ่มนี้ เช่น รถยนต์ อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง อิเลคทรอนิกส์ รวมไปถึงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน คือ ธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์


การวิเคราะห์หุ้น economic cyclical นั้น ต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคสูงครับ เพราะยอดขายของหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและความ เชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนอย่างเราที่ จะไปทำนายแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ ที่ปัจจุบันมีตัวแปรในอนาคตที่คาดการณ์ยากจำนวนมาก เช่น การเมือง ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ เช่น สหรัฐ จีน


หุ้น cyclical ทั้งสองประเภทนั้น ดู p/e เป็นหลักไม่ได้ครับ โดยเฉพาะหุ้น commodity cyclical หุ้นเหล่านี้ แม้ p/e ต่ำมาก ก็จะใช่ว่าถูกเสมอไป หรือช่วงที่ p/e สูงก็ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป เช่น หากธุรกิจกำลังอยู่ช่วง peak หุ้นประเภท cyclical มักจะมีกำไรที่สูงมากทำให้ p/e ต่ำ แต่เมื่อธุรกิจเข้าสู่ขาลงกำไรจะลดลงแรงมากหรือถึงขั้นขาดทุน


ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่เป็นมือใหม่ หรือเป็นนักลงทุนที่มีงานประจำค่อนข้างยุ่งและไม่มีเวลาศึกษามากนัก ผมจึงแนะนำให้ดูหุ้นกลุ่มที่เป็น non-cyclical เป็นหลัก ซึ่งจะปลอดภัยกว่าและวิเคราะห์ง่ายกว่าครับ


สำหรับหุ้น non-cyclical ผมให้ดู p/e ครับ แต่ต้องเป็น eps ที่ adjust กำไรที่ไม่ใช่การดำเนินงานออกนะครับ และเป็น fully diluted eps คือรวมผลของ warrant esop เข้ามาแล้ว และคำนึงถึงเรื่องอัตราภาษีในอนาคตด้วยสำหรับหุ้นที่ยังมีสิทธิพิเศษ ทางภาษีอยู่


หุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนคือ หุ้นที่มี p/e ต่ำกว่าการเติบโตของกำไรเฉลี่ยต่อปี ในอีก 5-10 ข้างหน้าครับ คือ ควรจะวิเคราะห์ให้แตกฉานจนเห็นภาพของธุรกิจอย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าให้ดี 10-20 ปีก็จะดีมากครับ ดังนั้นหุ้นที่อาจจะเติบโตปีละ 30% แต่ทำได้แค่ปีเดียว ก็ไม่น่าสนใจในความคิดผมครับ เว้นเสียว่าจะโต 100% ในปีเดียวก็อาจจะน่าสนใจในการลงทุนอีกลักษณะคือ แบบ hit and run ครับ


นอกจากนี้ ต้องอย่างลืมพิจารณาเรื่อง คุณภาพของกำไร ด้วยนะครับ ตามที่ผมเคยเขียนกระทู้เรื่องนี้ไว้แล้ว คือ เราจะต้องให้ p/e สูงกว่าในหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูง และให้ p/e ต่ำกว่าในหุ้นคุณภาพกำไรต่ำหรือไม่ลงทุนเลยในกรณีคุณภาพของกำไรต่ำมาก


ดังนั้นคำถาม ก็คือ จะทราบได้อย่างไรว่าหุ้นแต่ละตัวจะมีการเติบโตกี่ % ต่อปีในอีก 5-10 ปีข้างหน้า คงจะต้องดู 3 ประการครับ

1 market growth

2 market share growth

3 net profit margin


1 market growth 
คือจะต้องศึกษาว่าธุรกิจ อุตสาหกรรมดังกล่าวมีการเติบโตแค่ไหน ซึ่งการวิเคราะห์ตรงนี้ก็ค่อนข้างยากและเป็นศิลปะพอสมควร และเราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวอุตสาหกรรมอย่างมากครับ วิธีที่ง่ายที่จะเริ่มต้น ก็คือ การคิดว่า อนาคต หากผู้บริโภคมีรายได้ 100 บาทต่อปี ถ้าปัจจุบัน ผู้บริโภคจ่ายเงินในการซื้อสินค้าและบริการในธุรกิจนี้ 5 บาทต่อปี อนาคตเราคิดว่าคนจะจ่ายเงินในสัดส่วนของรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือคงที่ครับ หากสรุปได้ว่าคงที่ ก็เท่ากับว่า market จะโตได้พอๆ กับการเติบโตของรายได้ของผู้บริโภค คือ เท่าๆ กับ GDP ครับ ถ้าคิดว่าสัดส่วนการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคจะสูงขึ้น แสดงว่าธุรกิจดังกล่าวจะโตต่ำกว่า gdp ครับ

2 mkt share growth 
ให้ประเมินสถานภาพ mkt share ของบริษัท ว่ามี mkt share ประมาณกี่ % ถ้าหุ้นตัวนั้นๆ มี mkt share สูงมากอยู่แล้ว เช่น 70% หุ้นตัวนั้นคงจะลำบากในการเพิ่ม share สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คือการรักษา mkt share และโตตามตลาด ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องดูเพิ่มเติมก็คือ เราจะคิดว่าหุ้นตัวดังกล่าวจะรักษา mkt share ได้หรือไม่ครับ คงจะต้องไปศึกษา barrier to entry ของธุรกิจ ศึกษาคู่แข่งด้วยครับ สำหรับหุ้นที่ mkt share ต่ำ ก็มีข้อดีคือ มีโอกาสเพิ่ม mkt share ได้อีก แต่ข้อเสียคือ มีโอกาสล้มหายตายจาก เพราะการมี mkt share ต่ำแสดงถึงการเสียเปรียบหลายๆ อย่างกับผู้มี mkt share สูง และอาจจะแสดงถึงความสามารถในการบริหารที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการเลือกหุ้น mkt share ต่ำ แม้ว่าจะมี upside สูง แต่ก็มี downside สูงเช่นกัน ดังนั้นเราจะต้องวิเคราะห์ให้ได้ถึงสาเหตุของการมี mkt share ต่ำว่าอะไร เพราะอาจจะมีเหตุผลที่ดีก็ได้เช่น เป็นบริษัทใหม่ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ตั้งมาหลายสิบปีแล้วแต่ยังมี mkt share ต่ำอยู่ผมคิดว่าอาจจะยากเกินเยียวยาครับเว้นเสียว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในการ บริหารอย่างมีนัยสำคัญ

3 net margin 
ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูครับ เพราะบางครั้ง net margin ในบางปีของแต่ละบริษัทอาจจะต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลบางอย่าง หรืออาจจะสูงกว่าปกติในบางปี
สำหรับหุ้นที่ net margin ต่ำ ก็คงต้องระวังว่าหากต่ำกว่านี้อีกหน่อย ก็เท่ากับว่าขาดทุนทันที แม้จะมียอดขายเพิ่มก็ตาม แต่ก็มีข้อดีคือมี room ที่ margin ที่เพิ่มขึ้นหากมีการปรับปรุงหรือมียอดขายที่เพิ่มขึ้นซึ่งน่าจะนำพาให้ economy of scale มากขึ้น
สำหรับหุ้นที่ net margin สูง ก็มีข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ บริษัทนั้นๆ จะมีแนวโน้ม roa roe ที่สูง และบริษัทนั้นๆ จะทนกับการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง หรือปัจจัยด้านต้นทุนได้ดี ก็คือยังสามารถสร้างกำไรอยู่ได้ แต่ข้อเสียคือ การมี margin สูงมากๆ ประเภท too good to be true จะนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงในอนาคตหาก barrier to entry ไม่สูงพอ และข้อเสียกับนักลงทุนคือหากเราให้ net margin ดังกล่าวในการทำนายในอนาคต อาจจะได้ผลที่คาดเคลื่อนได้ครับ


ดังนั้น เราจะต้องพิจารณา 3 ปัจจัยดังกล่าว ในการประเมินคร่าวๆ ว่าหุ้นตัวนั้นๆ จะมี growth มากน้อยเพียงใดในอนาคตครับ เราอาจจะแบ่งหุ้นได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ครับ

1 market growth สูง และ mkt share สูง
หากธุรกิจดังกล่าวมี barrier to entry สูงด้วย หุ้นนั้นๆ จะเป็น super stocks ครับ เพราะการที่หุ้นนั้นๆ มี mkt share สูงจะทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งมากในด้านทรัพยาการต่างๆ ที่จะมาใช้ในการสร้างยอดขายเพื่อรองรับการเติบโตต่างๆ เช่น ทรัพยากรเงินทุน บุคลากร แต่หาก barrier to entry ต่ำ ก็อาจจะทำให้ความน่าสนใจลดลง แต่ด้วยความที่เค้กก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้หุ้นตัวนั้นๆ พอจะมีความน่าสนใจอยู่บ้างครับ

2 market growth สูง mkt share ต่ำ
หุ้นประเภทนี้ให้ดูปัจจัยเดียวเป็นหลักครับ คือ ความสามารถของผู้บริหาร ถ้าเราคิดว่าผู้บริหารมีความสามารถสูงและจะสามารถเพิ่ม mkt share ได้ หุ้นประเภท 2 นี้จะมี upside มากกว่าประเภท 1 อีกครับเพราะจะโตจากทั้งตลาดรวมที่โตและ mkt share ที่เพิ่ม ยกตัวอย่าง เช่น หุ้น LH ตอนปี 43 มี mkt share เพียง 7% ของตลาด แต่หลังจากได้สร้างบ้านก่อนขายและมี concept บ้านสบาย ทำให้ mkt share เพิ่มเป็นประมาณ 25-30% ในปี 46 ในขณะที่ตลาดรวมก็เติบโตสูง ผลก็คือ Lh มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 10 เท่าครับ

3 mkt growth ต่ำ mkt share สูง
หุ้นประเภทนี้น่ากลัวครับ เพราะการเติบโตของตลาดรวมที่ต่ำ ทำให้ผู้เล่นรายใหม่จะต้องมาแย่งเค้กจากรายเดิม และบริษัทที่มี mkt share สูงจะต้องอยู่ในสภาวะที่ตั้งรับ คือ ต้องรักษา mkt share อย่างเดียว และโอกาสเติบโตก็มีค่อนข้างน้อย ยกตัวอย่างคือ หุ้น BEC ในปี 43-44 มี mkt share ในตลาดโฆษณา TV 40% แต่ธุรกิจโฆษณา TV เริ่มโตช้าลง ในขณะที่ bec ได้เสีย mkt share ให้กับช่อง 7 ITV และ ช่อง 9 ทำให้ราคาหุ้นของ BEC ลดลงจาก 25 บาทมาเหลือ 15 บาทในปัจจุบัน

4 mkt growth ต่ำ mkt share ต่ำ
หุ้นประเภทนี้มองยากครับ ถ้าเป็นบริษัทที่ผู้บริหารมีความสามารถและสามารถเพิ่ม mkt share ได้ก็จะทำให้กำไรเติบโตได้มาก แต่ต้องดูว่าเป็นการเพิ่ม mkt share ที่ยั่งยืนหรือไม่ด้วยเพราะการที่บริษัทขนาดเล็กได้ mkt share เพิ่มก็มักจะถูกรุกกลับจากผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านทรัพยากร โดยเฉพาะการเพิ่ม mkt share ด้วยการตัดราคาในขณะที่ต้นทุนยังลดไม่ได้คงไม่ใช่วิธีที่ดีแน่นอนครับ นอกจากนี้ยิ่งหากเป็นบริษัทที่ผู้บริหารไม่เก่งแล้ว บริษัทเหล่านี้ก็มีโอกาสล้มหายตายจากครับ เพราะการที่ mkt growth ต่ำทำให้ผู้เล่นรายใหญ่จะต้องมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดกันเอง คนที่กระทบหนักสุดคือรายเล็กครับ เข้าข่าย ช้างชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญครับ


สิ่งที่ผมอธิบายคงจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งนะครับ ก็มีรายละเอียดอีกมากมายซึ่งผมจะพยายามเขียนและถ่ายทอดออกมาในอนาคตนะครับ คงจะไม่ว่านะครับที่ผมคงจะไม่มีสูตรลับหรือหลักการอะไรตายตัวให้ เพราะผมก็ไม่มีจริงๆ ครับ และคิดว่าไม่น่าจะมีสูตรหรือหลักการอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จนะครับ เพราะมิฉะนั้นเราคงจะเห็นคนจำนวนมากมายร่ำรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นไปแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบปริญญาเอกและสอนด้านการลงทุนคงจะร่ำรวยจากตลาดหุ้น และออกมาลงทุนเองกันหมดแล้ว และก็คงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมระยะหลังๆ ผมพยายามจะไม่ให้ราคาที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัว ผมคิดว่าหุ้นเป็นศิลปะ 90% เป็นคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีก 10% ครับ ดังนั้นการศึกษาให้มากที่สุด เรียนรู้ให้มากที่สุด คงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้นครับ แม่ทัพที่มีชื่อเสียงของโลกในอดีต ก็ต่างใช้กลยุทธ์และการจัดทัพในแต่ละสนามรบต่างๆ กันในการรบแต่ละครั้งขึ้นกับภูมิประเทศ อากาศ จำนวนทหารและยุทโธปกรณ์ของของตนและข้าศึก ฯลฯ ดังนั้นคงจะไม่มี short cut หรือหลักการตายตัวอะไรที่ได้ผล 100% ครับ


from http://goo.gl/PiYZW

5 วิธีเล่นหุ้นสำหรับมนุษย์เงินเดือน



ยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ มนุษย์เงินเดือนที่พอจะมีเงินเหลือจากรายจ่ายประจำเดือนอยู่บ้าง (บางคนบอกว่าไม่เหลือ แถมไม่พอใช้ด้วย) ก็ต้องหาทางบริหารเงินให้งอกเงย ทางหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมพอสมควรคือการเล่นหุ้น ผมลองรวบรวมวิธีการเล่นหุ้นที่ผมใช้อยู่ทุกวันนี้มาแบ่งปันกันในฐานะของมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งครับ



1. ไม่นั่งเฝ้าราคาทั้งวัน

การเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น บริษัทจ้างเรามาเพื่อทำงานครับ ถ้าคุณไม่ได้ทำงานเป็นมาร์ของโบรกที่ต้องคอยดูราคาขึ้นๆ ลงๆ คุณก็ไม่ควรนั่งจ้องหน้าจอหุ้นตลอดเวลา มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมเคยเล่นหุ้นโดยมีระบบการซื้อขายที่ตัดสินใจจากราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วงนั้นผมต้องนั่งเฝ้าหน้าจอทั้งวันเลย ดีที่ตอนนั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์เลยปรับเวลาทำงานตัวเองเป็นหลังตลาดปิด แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองเสีย Productivity มาก เมื่อเทียบกับเงินเพียงเล็กน้อยที่ได้มาจากการเฝ้าหน้าจอ



2. ไม่เล่นรอบเพื่อหวังรวยเร็ว 

เชื่อว่า 99% ของคนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อนและกำลังตัดสินใจจะเล่นโดยที่ยังไม่มีความรู้อะไรมากนัก ย่อมคิดว่าการเล่นหุ้นทำให้รวยเร็ว เริ่มจากเงินลงทุนจำนวนไม่มากของตัวเอง ซื้อหุ้นตอนราคาต่ำๆ ถือไว้สักพักราคาจะวิ่งขึ้น จากนั้นก็ขายเพื่อเอาทุนคืน เอากำไรที่ได้ไปซื้อหุ้นตัวใหม่ ทำแบบนี้ไม่กี่รอบ จากเงินลงทุนหลักหมื่นจะกลายเป็นหลักแสน หลักแสนจะกลายเป็นหลักล้าน ผมไม่ปฏิเสธว่ามีคนที่ทำแบบนี้แล้วพอร์ตโตขึ้นจริง แต่คำถามคือมีคนกี่เปอร์เซ็นต์ที่ทำได้แบบนี้? และเขาจะได้กำไรไปเรื่อยๆ หรือเปล่า? มันทำให้ผมคิดถึงคนที่เล่นหวย บางคนดวงดีทำบุญมาเยอะ ซื้อหวยแล้วถูกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะถูกหวยบ่อยๆ เหมือนเขานะ



3. เล่นหุ้นให้เหมือนฝากประจำ 

สมัยที่ผมทำงานใหม่ๆ ได้เงินเดือน 20,000 บาท ผมจะแบ่งเงินครึ่งหนึ่งสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกครึ่งเอาเข้าบัญชีเงินฝากประจำทุกเดือนเป็นเวลา 24 เดือน มันน่าอึดอัดเหมือนกันเวลาที่ผมอยากซื้อของราคาสูงๆ อย่างโน้ตบุ๊ก แต่มันก็ช่วยให้มีวินัยทางการเงิน และส่งผลให้สองปีต่อมา ผมมีเงินก้อน 240,000 บาท บวกดอกเบี้ยอีกก้อนเล็กๆ ตอนนี้ผมประยุกต์ใช้วิธีนี้กับการเล่นหุ้น คือแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้ทุกเดือนเพื่อโอนเข้าบัญชีหุ้น (ผมใช้บัญชีเงินสด) บางคนอาจใช้เงินก้อนนี้ซื้อหุ้นทุกเดือนเลยโดยไม่สนราคา แต่ผมใช้วิธีถือเงินสดไว้และรอเข้าซื้อในจังหวะที่หุ้นตกแรงๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ละปีจะมีช่วงเวลาที่หุ้นตกหนักประมาณ 2-3 ครั้ง



4. ซื้อหุ้นเหมือนซื้อกิจการ 

เป็นกฎของนักลงทุนแนวพื้นฐาน (Fundamental) และนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) เนื่องจากมนุษย์เงินเดือนไม่มีเวลานั่งเฝ้าราคา และไม่หวังรวยเร็วจากการเล่นรอบ เลยต้องซื้อหุ้นโดยวิเคราะห์พื้นฐานของธุรกิจนั้นๆ เสมือนว่าเราจะซื้อกิจการ ต้องเข้าใจว่ารายรับของบริษัทมาจากไหน มีรายจ่ายอะไรบ้าง ลูกค้าคือใคร สภาพตลาดเป็นยังไง อีก 5 ปี ตลาดจะใหญ่ขึ้นมั้ย คู่แข่งแข็งแกร่งแค่ไหน ผู้บริหารเป็นยังไง ฯลฯ ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาทำให้ราคาหุ้นตกหนัก ผมก็จะเข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบต่อพื้นฐานของธุรกิจในระยะยาวจริงหรือเปล่า ถ้ามีผลแค่ระยะสั้น ผมก็จะใช้เงินสดในข้อ 3 เพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม แต่ถ้าดูแล้วน่าจะส่งผลกระทบในระยะยาว แบบนี้ก็ค่อยพิจารณาขายทิ้ง



5. ตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากเงินปันผลไว้ใช้ตอนเกษียณ 

ลองประเมินดูว่าทุกวันนี้ถ้าเรากินอยู่อย่างประหยัด ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ลองคูณเงินเฟ้อเพื่อดูว่าอีก 20-30 ปีที่เราเกษียณแล้ว เราต้องใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าค่าใช้จ่ายของเราในอนาคตมาจากเงินปันผล แปลว่าตอนนั้นเราควรมีพอร์ตขนาดไหน พอร์ตของเราในปัจจุบันยังห่างจากเป้าหมายเท่าไหร่ ในแต่ละปีเราควรจะมีเป้าหมายในการเพิ่มขนาดพอร์ตปีละเท่าไหร่ ถ้าวางแผนให้ดีตั้งแต่ตอนที่ยังมีแรงทำงาน พอถึงตอนที่ทำงานไม่ไหวแล้ว เราจะได้ไม่ต้องลำบากลูกหลานครับ



Panic


นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานสิ่งหนึ่ง ที่เขาจะต้องพบคือ ตลาดหุ้นเกิด "Panic" ซึ่งถ้าแปลตรงตัว คือ ตลาดหุ้นเกิดอาการ "ตกใจกลัว"


หรือ "อกสั่นขวัญหาย" เป็นอาการที่ราคาหุ้นทั้งตลาด หรือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งตกลงมาอย่างหนักในระยะเวลาอันสั้น เช่น ภายในวันเดียวดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาถึง 5% หรือถึง 10% และทำให้ตลาดหุ้นต้องพักการซื้อขายเพื่อให้คน "หายตกใจ" และมีเวลาพินิจพิจารณาว่าราคาหุ้นนั้นเหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริงหรือไม่ และนักลงทุนควรที่จะขายหรือจะซื้อ โดยอิงจากเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดจากจิตวิทยาหมู่


Panic ของตลาดหุ้นทุกครั้งนั้น แม้ในระยะสั้นๆ สิ่งที่เหมือนกันคือ ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างแรงและรวดเร็ว แต่สาเหตุมักจะแตกต่างกันออกไป และที่สำคัญคือ การปรับตัวของดัชนีหลังจากนั้น อาจจะแตกต่างกันมาก


ลองมาดูธรรมชาติของ Panic แต่ละแบบว่าเป็นอย่างไร การเรียนรู้นี้จะช่วยทำให้เราสามารถเอาตัวรอด "หนีตาย" ได้ทัน หรือไม่ก็อาจจะทำกำไรได้งดงามอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวกลับขึ้นไปอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น


Panic แบบแรกคือสิ่งที่เรียกว่า "Panic เก๊" นี่คือ Panic ที่เกิดจากสาเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของการดำเนินงานของตลาด หรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน พูดอีกทางหนึ่งคือ ไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจ หรือกระทบน้อยมาก แต่อาจเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งอาจรวมถึงความวิตกเรื่องสงคราม หรือความรุนแรงทางสังคมที่ทำให้คน "ตกใจ" และอาจจะ "จินตนาการ" ไปไกล และเทขายหุ้นโดยไม่คิดถึงพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการและตลาดหุ้นโดยรวม


จริงอยู่ นักลงทุนส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่อาจจะ "ไม่กลัว" แต่พวกเขาคิดว่า ถ้าคนอื่นกลัวและขายหุ้นอย่างหนัก หุ้นต้องลงแรง ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องรีบขายหุ้นก่อนเหมือนกัน ผลคือ ตลาดก็ "ถล่ม" กลายเป็น Panic ที่ "เก๊" เมื่อหุ้นตกลงไปมากพอ คนที่มีเหตุผลและคนที่หายตกใจแล้วกลับมาซื้อหุ้นที่มีราคาถูก "คุ้มค่า" ส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งกลับอย่างรวดเร็ว บางทีสูงกว่าตอนก่อน Panic ด้วยซ้ำ


ตัวอย่างของ Panic เก๊ มีมากมาย บางทีมากกว่า Panic จริงด้วยซ้ำ เช่น ในอเมริกา เวลาประธานาธิบดีตาย หรืออาจป่วยรุนแรงเป็นตายเท่ากัน ราคาหุ้นจะดิ่งเป็น Panic แต่ทุกครั้งจะปรับตัวกลับรวดเร็ว เพราะเรื่องแบบนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจน้อย ตัวอย่างเช่น ตอนที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบยิงเสียชีวิต ดัชนีหุ้นตกลงไปถึง 3% ในวันเดียว แต่พอวันรุ่งขึ้น ดัชนีกลับปรับขึ้น 4.5% หลังจากนั้นหุ้นวิ่งต่อ


ในเมืองไทย ก็มี Panic เก๊ อยู่เรื่อยๆ เช่นเมื่อปีก่อนที่เกิดเหตุเรื่องน้ำท่วม หรืออะไรบางอย่างผมจำไม่ได้ ดัชนีตลาดหุ้นตกลงไปเกือบ 10% โดยที่ดูไปแล้วบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่เดือน ดัชนีหุ้นวิ่งกลับขึ้นมา และสูงกว่าก่อนเกิด Panic มาก


Panic แบบที่สองเรียกว่า "Panic ฟองสบู่แตก" นี่คือกรณีที่หุ้นขึ้นสูงมากเป็นฟองสบู่ ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจ หรือธุรกิจบางอย่าง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือในอเมริกาช่วงปีทศวรรษ 1990 ของหุ้นไอที มีความเฟื่องฟูมากส่งผลให้คนเข้ามาเก็งกำไรกันอย่าง "บ้าคลั่ง" ราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐานเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน Panic ฟองสบู่ จะเกิดขึ้นช่วงปลายของ "ยุค" ซึ่งอาจกินเวลาเป็นสิบปีเลยก็ได้


เมื่อฟองสบู่ "แตก" ซึ่งอาจเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างที่รุนแรงเกี่ยวข้องกับหุ้นในกลุ่มนั้น ราคาจะตกลงแรงเป็น Panic วันแรกๆ หลังจากนั้น หุ้นในกลุ่มก็ตกลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ถ้าดูจากผลการดำเนินงาน หรือตัวอุตสาหกรรมยังเติบโตต่อไป เพียงแต่ไม่หวือหวาเหมือนอดีต ราคาหุ้นที่ลดลง ทำให้ค่า PE ของหุ้นลดลงจากที่เคยสูงลิ่ว พื้นฐานของกิจการ อาจจะไม่เปลี่ยน แต่ความคิดและความเชื่อรวมถึง "ความโลภ" ของคนนั้นเปลี่ยนไป


ตัวอย่างของฟองสบู่แตก ที่ทำให้ตลาดหุ้นเกิด Panic มีมากมาย ตั้งแต่สมัยฟองสบู่ "ดอกทิวลิป" ในดัตช์ หรือเนเธอร์แลนด์เมื่อ 370 ปีก่อน หรือฟองสบู่ "ทะเลใต้" ในอังกฤษเมื่อ 300 ปีที่แล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ ปี 2001 ฟองสบู่ "ดอทคอม" ในอเมริกา เมืองไทยน่าจะมีฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ช่วง 3-4 ปีก่อนปีวิกฤติ 2540 เป็นต้น


Panic แบบที่สามคือ "Panic ติดเชื้อ" นี่คือ Panic ที่เกิดขึ้น เพราะการลุกลามจากที่อื่น โดยเฉพาะจากประเทศ หรือตลาดขนาดใหญ่เช่นตลาดหุ้นสหรัฐ หรือตลาดหุ้นที่อยู่ในย่าน หรือประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันใกล้ชิด เช่น เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย เป็นต้น


Panic ติดเชื้อ ถ้าไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ "ติดเชื้อ" ไปด้วย นั่นคือ ประเทศที่เกิด Panic มีปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหา ลุกลามไปยังประเทศอื่น ทำให้ประเทศนั้นมีปัญหาไปด้วย


ในกรณีแบบนี้ Panic ติดเชื้อน่าจะ "หาย" เร็ว ตลาดหุ้นน่าจะกลับมาได้เร็ว เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากพื้นฐาน เกิดจากคนกลัว และเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นที่มักขึ้น หรือลงตามกัน เป็นผลสำคัญจากการไหลของเม็ดเงินที่เป็นโลกานุวัตร


ตัวอย่าง Panic ติดเชื้อที่เห็นชัดเจน คือกรณีตลาดหุ้นวิกฤติครั้งใหญ่ในสหรัฐปี 1929 กรณีแบล็คมันเดย์ในเดือนต.ค.ปี 1987 และปี 2008 กรณีซับไพร์ม ในเอเชียที่ติดเชื้อคือ ปี 2540 ที่ตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤติ และลามไปในตลาดหุ้นเกิดใหม่เกือบทุกประเทศในเอเชีย


สุดท้ายคือ "Panic ที่แท้จริง" นี่คือ Panic ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริง ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น ทำให้เกิดการถดถอย หรือตกต่ำทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อผลประกอบการ และฐานะของบริษัทจดทะเบียนรุนแรง บางครั้งทำให้เกิดการล้มละลายอย่างเป็นระบบ นี่เป็นสิ่งที่นักลงทุนทุก ต้องตระหนัก และเข้าใจว่ามูลค่าของกิจการจะต้องลดลงมาก


การตกลงแรงของหุ้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผล และต้องใช้เวลายาวมากกว่าที่ดัชนีหุ้นจะปรับตัวกลับขึ้นมาอีก บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าหุ้นตกไปถึงไหน บ่อยครั้งใช้เวลาหลายปีกว่าที่หุ้นจะตกถึงพื้น และหุ้นอาจนิ่งอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน จนกว่าเศรษฐกิจจะมีทางออก ตัวอย่างคือ กรณีวิกฤติตลาดหุ้นครั้งใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลายรวมถึงตลาดหุ้นยูโรโซนหลายๆ ประเทศในช่วงนี้


ผมแบ่งแบบของ Panic ออกเป็น 4 แบบ แต่ความเป็นจริงคือ หลายๆ ครั้งมีลักษณะผสมผสานคาบเกี่ยวกัน เช่น Panic ส่วนใหญ่มีลักษณะติดเชื้อด้วย


หรือ Panic หลายๆ แบบมีองค์ประกอบเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอยู่ด้วย ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราต้องบอกได้ชัดเจนว่า Panic เป็นแบบไหนตายตัว แต่อยู่ที่รู้ Panic ที่กำลังเกิดขึ้น ยาวนานแค่ไหน และควรจะทำอย่างไรกับการลงทุน หลักสำคัญคือ ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า ผลประกอบการและฐานะทางการเงินของกิจการ หรือตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร และนั่นจะทำให้รู้ว่า Panic เป็นภัยคุกคาม หรือเป็นโอกาส


from http://goo.gl/BvJ3f

เป้าหมายระยะยาว




มีเป้าหมายหลายอย่างในชีวิตของคนเรา ที่เป็นเป้าหมายของคนจำนวนมาก แต่มักต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ถึงจะบรรลุเป้าหมายได้


ตัวอย่างเช่น การมีรูปร่างที่ดี การมีสุขภาพที่ดีตอนแก่ การออมเงินเพื่อให้อยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยล้วนๆ การมีชีวิตคู่ที่อบอุ่น การมีเพื่อนซี้ การเลี้ยงลูกให้เป็นคนที่มีคุณภาพสูงๆ เป็นต้น เหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการสร้างนานๆ ทั้งนั้น


แต่ถ้าลองมองดูให้ดี จะว่าไปเป้าหมายเหล่านี้ล้วนมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ พวกมันมักไม่ต้องการพรสวรรค์หรือความเป็นอัจฉริยภาพอะไรที่เหนือมนุษย์มากนัก แต่ต้องการความเพียรเป็นสำคัญ เช่น วิ่งเป็นประจำตอนที่ยังวิ่งไหวอยู่ ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่ การหักเงินเดือนตัวเองเดือนละ 10% แล้วฝากไว้ในกองทุนรวม การโทรหาภรรยาทุกวัน หรือการใช้เวลากับลูกทุกวันอาทิตย์ คอย keep in touch กับเพื่อนเก่าๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกินความสามารถของทุกคน แต่กลับพบว่า เป้าหมายเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่มีคนบรรลุไม่มากนัก


แต่มนุษย์ก็มีปัญหามากเรื่องการแลกความสุขในระยะสั้นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว อาจเรียกได้ว่ามันเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสมองมนุษย์เลยทีเดียว แรงจูงใจชั่ววูบมักเอาชนะความตั้งใจในระยะยาวของเราได้เสมอ บ่อยครั้งที่เรามักจะตั้งปณิธานที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อเป้าหมายระยะยาว แต่สุดท้ายแล้วเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น


เรื่องที่แย่ก็คือ บางที่เราอยากบรรลุเป้าหมายเหล่านี้มากๆ แต่อดทนรอไม่ไหว เรามักจะวิ่งเข้าหา "ทางลัด" เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาในทันที ทางลัดมักดึงดูดใจเราเพราะคำว่า ง่ายๆ เร็วๆ มากกว่าที่จะช่วยทำให้เราบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้จริงๆ บางคนมัวแต่เสียเวลาไปกับการค้นหา "ทางลัด" ทางแล้วทางเล่า แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีทางให้ได้ผลจริงๆ สักอย่าง จนทำให้ทางลัดการเป็นทางที่ใช้เวลานานยิ่งกว่าคนที่ใช้วิธีแบบเต่าที่ค่อยๆ สะสมทักษะไปวันละนิด เพราะไม่ได้หวังพึ่งพาทางลัด ทุกวันนี้ในกล่องเข้าอีเมลของทุกคนดูจะเต็มไปด้วยสแปมเมลที่บอกเราว่า มีวิธีได้เงินเดือนเป็นแสนโดยไม่ต้องทำงานหนัก หรือถ้าเดินเข้าไปในร้านหนังสือก็เจอแต่หนังสือที่มีคำว่า "รวย" และคำว่า "ง่าย" หรือ "เร็ว" เต็มแผงหนังสือไปหมด ดูเหมือนคนสมัยนี้จะมองหาแต่ทางลัดกันมากเสียจนคนที่เข้าใจจิตวิทยาข้อนี้สามารถหากินกับความหวังของคนได้อย่างมากมาย


ถ้าเราลองมองอะไรให้ลึกขึ้นสักหน่อยเราจะเห็นว่า ที่จริงแล้ววิธีไหนก็ตามที่ต้องใช้เวลารอคอยนานๆ หรือต้องใช้ความอดทนมากๆ นี่แหละคือหนทางที่เราควรจะวิ่งเข้าหามากที่สุด ไม่ใช่วิธีที่ง่ายๆ เพราะ ประการแรก อะไรที่ต้องใช้เวลานานๆ มักเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักไม่สนใจ ไม่น่าดึงดูด ไม่คิดแม้แต่จะเริ่มต้นลงมือ มันจึงเป็นสิ่งที่มีการแข่งขันน้อยกว่าอย่างวิธีอื่น ดังนั้นคนที่เลือกทางนี้ยิ่งอยู่กับมันได้นานเท่าไร ก็จะยิ่งมีคู่แข่งลดลงเท่านั้น เพราะจำนวนคนที่จะอดทนวิ่งตามเรามาได้นานๆ จะมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ


ประการที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เป้าหมายระยะยาวส่วนใหญ่มักไม่ต้องการความสามารถพิเศษที่เหนือกว่าคนอื่นแต่มักอาศัยความเพียรมากกว่าคนอื่นเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าความเพียรก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีความสามารถอะไรเป็นพิเศษ ความเพียรนี่แหละคือวิธีเดียวที่คนธรรมดาทั่วไปจะสามารถประสบความสำเร็จได้


เวลาที่เราเห็นนักธุรกิจระดับเซเลบบริตี้ที่ประสบความสำเร็จในทีวี เรามักรู้สึกว่างานของพวกเขาดูเหมือนจะได้เงินมาง่ายๆ ดูสบายๆ และมีไลฟ์สไตล์ที่ดูดีเสียเหลือเกิน แต่ภาพที่เราไม่ได้เห็นก็คือภาพก่อนที่เขาจะมาถึงจุดนั้นที่พวกเขาต้องอดทนและลำบากมากกว่าคนทั่วไปก่อน จึงทำให้พวกเขามายืนอยู่ในจุดที่ไม่มีใครสามารถตามมาแข่งขันกับพวกเขาได้ในวันนี้


ว่างๆ ลองสำรวจตัวเองดูครับว่า ทุกวันนี้เราเลือกทางเดินที่ถูกต้องอยู่รึเปล่า


from http://goo.gl/lVA2j

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)