18 ตุลาคม 2555

Panic


นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานสิ่งหนึ่ง ที่เขาจะต้องพบคือ ตลาดหุ้นเกิด "Panic" ซึ่งถ้าแปลตรงตัว คือ ตลาดหุ้นเกิดอาการ "ตกใจกลัว"


หรือ "อกสั่นขวัญหาย" เป็นอาการที่ราคาหุ้นทั้งตลาด หรือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งตกลงมาอย่างหนักในระยะเวลาอันสั้น เช่น ภายในวันเดียวดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาถึง 5% หรือถึง 10% และทำให้ตลาดหุ้นต้องพักการซื้อขายเพื่อให้คน "หายตกใจ" และมีเวลาพินิจพิจารณาว่าราคาหุ้นนั้นเหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริงหรือไม่ และนักลงทุนควรที่จะขายหรือจะซื้อ โดยอิงจากเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดจากจิตวิทยาหมู่


Panic ของตลาดหุ้นทุกครั้งนั้น แม้ในระยะสั้นๆ สิ่งที่เหมือนกันคือ ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างแรงและรวดเร็ว แต่สาเหตุมักจะแตกต่างกันออกไป และที่สำคัญคือ การปรับตัวของดัชนีหลังจากนั้น อาจจะแตกต่างกันมาก


ลองมาดูธรรมชาติของ Panic แต่ละแบบว่าเป็นอย่างไร การเรียนรู้นี้จะช่วยทำให้เราสามารถเอาตัวรอด "หนีตาย" ได้ทัน หรือไม่ก็อาจจะทำกำไรได้งดงามอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวกลับขึ้นไปอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น


Panic แบบแรกคือสิ่งที่เรียกว่า "Panic เก๊" นี่คือ Panic ที่เกิดจากสาเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของการดำเนินงานของตลาด หรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน พูดอีกทางหนึ่งคือ ไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจ หรือกระทบน้อยมาก แต่อาจเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งอาจรวมถึงความวิตกเรื่องสงคราม หรือความรุนแรงทางสังคมที่ทำให้คน "ตกใจ" และอาจจะ "จินตนาการ" ไปไกล และเทขายหุ้นโดยไม่คิดถึงพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการและตลาดหุ้นโดยรวม


จริงอยู่ นักลงทุนส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่อาจจะ "ไม่กลัว" แต่พวกเขาคิดว่า ถ้าคนอื่นกลัวและขายหุ้นอย่างหนัก หุ้นต้องลงแรง ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องรีบขายหุ้นก่อนเหมือนกัน ผลคือ ตลาดก็ "ถล่ม" กลายเป็น Panic ที่ "เก๊" เมื่อหุ้นตกลงไปมากพอ คนที่มีเหตุผลและคนที่หายตกใจแล้วกลับมาซื้อหุ้นที่มีราคาถูก "คุ้มค่า" ส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งกลับอย่างรวดเร็ว บางทีสูงกว่าตอนก่อน Panic ด้วยซ้ำ


ตัวอย่างของ Panic เก๊ มีมากมาย บางทีมากกว่า Panic จริงด้วยซ้ำ เช่น ในอเมริกา เวลาประธานาธิบดีตาย หรืออาจป่วยรุนแรงเป็นตายเท่ากัน ราคาหุ้นจะดิ่งเป็น Panic แต่ทุกครั้งจะปรับตัวกลับรวดเร็ว เพราะเรื่องแบบนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจน้อย ตัวอย่างเช่น ตอนที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบยิงเสียชีวิต ดัชนีหุ้นตกลงไปถึง 3% ในวันเดียว แต่พอวันรุ่งขึ้น ดัชนีกลับปรับขึ้น 4.5% หลังจากนั้นหุ้นวิ่งต่อ


ในเมืองไทย ก็มี Panic เก๊ อยู่เรื่อยๆ เช่นเมื่อปีก่อนที่เกิดเหตุเรื่องน้ำท่วม หรืออะไรบางอย่างผมจำไม่ได้ ดัชนีตลาดหุ้นตกลงไปเกือบ 10% โดยที่ดูไปแล้วบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่เดือน ดัชนีหุ้นวิ่งกลับขึ้นมา และสูงกว่าก่อนเกิด Panic มาก


Panic แบบที่สองเรียกว่า "Panic ฟองสบู่แตก" นี่คือกรณีที่หุ้นขึ้นสูงมากเป็นฟองสบู่ ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจ หรือธุรกิจบางอย่าง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือในอเมริกาช่วงปีทศวรรษ 1990 ของหุ้นไอที มีความเฟื่องฟูมากส่งผลให้คนเข้ามาเก็งกำไรกันอย่าง "บ้าคลั่ง" ราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐานเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน Panic ฟองสบู่ จะเกิดขึ้นช่วงปลายของ "ยุค" ซึ่งอาจกินเวลาเป็นสิบปีเลยก็ได้


เมื่อฟองสบู่ "แตก" ซึ่งอาจเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างที่รุนแรงเกี่ยวข้องกับหุ้นในกลุ่มนั้น ราคาจะตกลงแรงเป็น Panic วันแรกๆ หลังจากนั้น หุ้นในกลุ่มก็ตกลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ถ้าดูจากผลการดำเนินงาน หรือตัวอุตสาหกรรมยังเติบโตต่อไป เพียงแต่ไม่หวือหวาเหมือนอดีต ราคาหุ้นที่ลดลง ทำให้ค่า PE ของหุ้นลดลงจากที่เคยสูงลิ่ว พื้นฐานของกิจการ อาจจะไม่เปลี่ยน แต่ความคิดและความเชื่อรวมถึง "ความโลภ" ของคนนั้นเปลี่ยนไป


ตัวอย่างของฟองสบู่แตก ที่ทำให้ตลาดหุ้นเกิด Panic มีมากมาย ตั้งแต่สมัยฟองสบู่ "ดอกทิวลิป" ในดัตช์ หรือเนเธอร์แลนด์เมื่อ 370 ปีก่อน หรือฟองสบู่ "ทะเลใต้" ในอังกฤษเมื่อ 300 ปีที่แล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ ปี 2001 ฟองสบู่ "ดอทคอม" ในอเมริกา เมืองไทยน่าจะมีฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ช่วง 3-4 ปีก่อนปีวิกฤติ 2540 เป็นต้น


Panic แบบที่สามคือ "Panic ติดเชื้อ" นี่คือ Panic ที่เกิดขึ้น เพราะการลุกลามจากที่อื่น โดยเฉพาะจากประเทศ หรือตลาดขนาดใหญ่เช่นตลาดหุ้นสหรัฐ หรือตลาดหุ้นที่อยู่ในย่าน หรือประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันใกล้ชิด เช่น เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย เป็นต้น


Panic ติดเชื้อ ถ้าไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ "ติดเชื้อ" ไปด้วย นั่นคือ ประเทศที่เกิด Panic มีปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหา ลุกลามไปยังประเทศอื่น ทำให้ประเทศนั้นมีปัญหาไปด้วย


ในกรณีแบบนี้ Panic ติดเชื้อน่าจะ "หาย" เร็ว ตลาดหุ้นน่าจะกลับมาได้เร็ว เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากพื้นฐาน เกิดจากคนกลัว และเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นที่มักขึ้น หรือลงตามกัน เป็นผลสำคัญจากการไหลของเม็ดเงินที่เป็นโลกานุวัตร


ตัวอย่าง Panic ติดเชื้อที่เห็นชัดเจน คือกรณีตลาดหุ้นวิกฤติครั้งใหญ่ในสหรัฐปี 1929 กรณีแบล็คมันเดย์ในเดือนต.ค.ปี 1987 และปี 2008 กรณีซับไพร์ม ในเอเชียที่ติดเชื้อคือ ปี 2540 ที่ตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤติ และลามไปในตลาดหุ้นเกิดใหม่เกือบทุกประเทศในเอเชีย


สุดท้ายคือ "Panic ที่แท้จริง" นี่คือ Panic ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริง ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น ทำให้เกิดการถดถอย หรือตกต่ำทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อผลประกอบการ และฐานะของบริษัทจดทะเบียนรุนแรง บางครั้งทำให้เกิดการล้มละลายอย่างเป็นระบบ นี่เป็นสิ่งที่นักลงทุนทุก ต้องตระหนัก และเข้าใจว่ามูลค่าของกิจการจะต้องลดลงมาก


การตกลงแรงของหุ้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผล และต้องใช้เวลายาวมากกว่าที่ดัชนีหุ้นจะปรับตัวกลับขึ้นมาอีก บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าหุ้นตกไปถึงไหน บ่อยครั้งใช้เวลาหลายปีกว่าที่หุ้นจะตกถึงพื้น และหุ้นอาจนิ่งอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน จนกว่าเศรษฐกิจจะมีทางออก ตัวอย่างคือ กรณีวิกฤติตลาดหุ้นครั้งใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลายรวมถึงตลาดหุ้นยูโรโซนหลายๆ ประเทศในช่วงนี้


ผมแบ่งแบบของ Panic ออกเป็น 4 แบบ แต่ความเป็นจริงคือ หลายๆ ครั้งมีลักษณะผสมผสานคาบเกี่ยวกัน เช่น Panic ส่วนใหญ่มีลักษณะติดเชื้อด้วย


หรือ Panic หลายๆ แบบมีองค์ประกอบเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอยู่ด้วย ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราต้องบอกได้ชัดเจนว่า Panic เป็นแบบไหนตายตัว แต่อยู่ที่รู้ Panic ที่กำลังเกิดขึ้น ยาวนานแค่ไหน และควรจะทำอย่างไรกับการลงทุน หลักสำคัญคือ ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า ผลประกอบการและฐานะทางการเงินของกิจการ หรือตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร และนั่นจะทำให้รู้ว่า Panic เป็นภัยคุกคาม หรือเป็นโอกาส


from http://goo.gl/BvJ3f

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)