Pages

Pages

18 ตุลาคม 2555

กลยุทธิ์การลงทุนแบบ VI



เรื่องการประเมินราคาที่เหมาะสมของหุ้นนั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ยาก และราคาที่เหมาะสมของหุ้นนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป และสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หุ้นตัวหนึ่งมี eps 1 บาท และมี p/e ที่เหมาะสมคือ 15 เท่า ในปีนี้ราคาที่เหมาะสมคือ 15 บาท แต่หุ้นตัวนี้มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ราคาที่เหมาะสมในปีหน้าก็จะเพิ่มเป็น 1.2*15 คือ 18 บาท


นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ราคาเหมาะสมอาจจะเปลี่ยนแปลงคือ สภาพแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวบริษัทเองที่อาจจะทำให้การเพิ่มขึ้นของกำไร เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง กว่าที่คาดไว้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรที่คาดหวัง จะมีส่วนทำให้ p/e ของหุ้นต่ำลงหรือสูงขึ้นด้วย ดังนั้นหาก eps growth ลด ก็ทำให้ eps ในปีต่อไปลดจากที่คาดไว้ และ p/e ที่เหมาะสมหรือ p/e ที่ตลาดจะให้กับหุ้นตัวนั้นๆ ลดลงด้วย เป็น 2 เด้ง ในทางกลับกันก็เช่นกัน ดังนั้นเราอาจจะเห็นว่าตลาด เปลี่ยนแปลงราคาที่เหมาะสมสำหรับหุ้นตัวนั้นได้เร็วและรุนแรงพอสมควรครับ เช่น หุ้น MINT เคยได้ p/e 10-15 เท่า เพราะตลาดคาดว่าหุ้นตัวนี้จะโตได้ปีละ 10-15% แต่เมื่อ mint สามารถเติบโตในปีก่อนได้เ 40% ก็กลายเป็นว่าตลาดก็ให้ p/e ของmint สูงถึง 20-25 เท่า ดังนั้น หากเรายึดติดกับว่า mint ไม่ควรมี p/e เกิน 15 เท่าก็กลายเป็นว่าอาจจะขายหุ้น mint ก่อนเวลาอันควรก็เป็นได้


หรือ หุ้น amata ในปี 44-45 เคยมี p/e เพียง 4-6 เท่า แต่ปัจจุบัน มี p/e 15-20 เท่า ดังนั้น ความคาดหวังของนักลงทุน ณ เวลาที่ต่างกัน สถานการณ์ต่างกัน ก็มีความแตกต่างกันมากครับ


แม้กระทั่งหุ้นกลุ่มอสังหาฯ หรือวัสดุก่อสร้าง เคยได้ p/e 10-20 เท่าในปี 46 แต่ปัจจุบัน p/e 6-8 เท่า หลายคนยังไม่อยากซื้อเลยครับ


ดังนั้น ผมคิดว่าการคำนวณราคาที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวนั้นค่อนข้างลำบาก สำหรับผมเองคงจะบอกได้ว่า หุ้นตัวหนึ่งๆ นั้นยังถูกพอสมควร และมี upside มาก ในขณะที่ downside หรือความเสี่ยงไม่มากนัก ทำให้น่าสนใจในการลงทุน หรือบอกว่าหุ้นตัวหนึ่งแพงกว่าที่ควรจะเป็น หรือมี downside พอสมควร หรือมีอนาคตที่ไม่น่าสนใจหรือมีความกังวลอะไรบางอย่าง ทำให้ไม่น่าสนใจนัก หรืออย่างมากก็บอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ตามพื้นฐานแล้วราคาหุ้นไม่ควรต่ำกว่ากี่บาทต่อหุ้น แต่ผมเองไม่สามารถทำนายราคาที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้องครับ และไม่สามารถบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้นไปถึงเท่าไหร่ถึงจะน่าขายที่สุด หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า หากมีคน 10 คนวิ่งแข่งกัน ผมสามารถบอกได้ว่า 3 คนไหนน่าจะมีอันดับแรกๆ หรือ พอจะบอกได้ว่านักวิ่ง 3 คนที่ผมเลือกมานั้นควรจะทำเวลาได้ไม่เกินกี่วินาที แต่ผมไม่สามารถบอกได้ว่าทั้ง 3 คนหรือแต่ละคนจะใช้เวลาวิ่งกี่วินาทีครับ


ดังนั้น การที่การประเมินราคาที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ยาก ระยะหลังๆ ผมจึงเน้นการที่เลือกหุ้นที่ดี คือ อยู่ในธุรกิจที่มีการเติบโต บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีผู้บริหารที่ดี แล้วถือลงทุนไปเรื่อยๆ ครับ กล่าวคือ ผมคิดว่าเราควรจะทุ่มเทเวลาในการศึกษาปัจจัยด้านคุณภาพ หรือ qualitative เช่น การวิเคราะห์ทำความเข้าใจในธุรกิจ มากกว่าปัจจัยด้านตัวเลขหรือปริมาณครับ


การวิเคราะห์ความถูกแพงของหุ้นก็เป็นสิ่งสำคัญครับ ซึ่งหลักๆ คือการดู p/e การใช้ p/e นั้นต้องใช้กับหุ้นที่ไม่ใช่หุ้นวัฎจักรเท่านั้นนะครับ ถ้าเป็นหุ้นวัฎจักรก็ต้องใช้วิธีอื่นๆ ดู ซึ่งผมคิดว่านักลงทุนทั่วไปที่ยังไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งยังไม่ควรเริ่มศึกษาจาก หุ้นวัฎจักรครับ


ผมเคยเขียนถึงหุ้นวัฎจักรไปบ้างแล้ว เผื่อหลายท่านยังไม่ได้อ่าน ผมขอฉายหนังซ้ำนะครับ


หุ้นวัฎจักรแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ครับ

1 หุ้น commodity cyclical
หุ้นประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หรือ commodity ซึ่งสินค้าจะหน้าตาเหมือนกัน ทำให้ผู้ผลิตเกือบทุกรายจะต้องขายสินค้าหรือบริการที่ราคาเดียวกัน ได้แก่ เหล็ก ปิโตรฯ น้ำมัน ถ่านหิน เรือ แร่ธาตุ ฯลฯ หุ้นประเภทนี้จะมี cycle ขึ้นลงตาม demand supply ของอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจัยด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเข้ามาเกี่ยวข้องในด้าน demand และมีปัจจัยด้านการเพิ่มหรือลดการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ของโลกซึ่งเป็นตัวกำหนด supply ดังนั้นผู้ศึกษา cycle ของธุรกิจจะต้องวิเคราะห์ให้ถูกทั้งด้าน demand และ supply ถูกด้านเดียวไม่พอครับ

2 หุ้น economic cyclical 
หุ้นประเภทนี้แม้จะไม่ได้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ แต่สินค้าหรือบริการนั้นมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจสูง เพราะอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตนักหรือพอจะชะลอการ ซื้อได้ หรือ/และ สินค้าของผู้ผลิตเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็น commodity ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักและลูกค้าพร้อมจะ switching จากยี่ห้อหนึ่งไปอีกยี่ห้อ ทำให้เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงมีการตัดราคากัน หรือเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงมากทำให้การลดลงของรายได้ใกล้เคียงกับ กำไรที่จะลดลง หุ้นกลุ่มนี้ เช่น รถยนต์ อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง อิเลคทรอนิกส์ รวมไปถึงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน คือ ธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์


การวิเคราะห์หุ้น economic cyclical นั้น ต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคสูงครับ เพราะยอดขายของหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและความ เชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนอย่างเราที่ จะไปทำนายแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ ที่ปัจจุบันมีตัวแปรในอนาคตที่คาดการณ์ยากจำนวนมาก เช่น การเมือง ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ เช่น สหรัฐ จีน


หุ้น cyclical ทั้งสองประเภทนั้น ดู p/e เป็นหลักไม่ได้ครับ โดยเฉพาะหุ้น commodity cyclical หุ้นเหล่านี้ แม้ p/e ต่ำมาก ก็จะใช่ว่าถูกเสมอไป หรือช่วงที่ p/e สูงก็ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป เช่น หากธุรกิจกำลังอยู่ช่วง peak หุ้นประเภท cyclical มักจะมีกำไรที่สูงมากทำให้ p/e ต่ำ แต่เมื่อธุรกิจเข้าสู่ขาลงกำไรจะลดลงแรงมากหรือถึงขั้นขาดทุน


ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่เป็นมือใหม่ หรือเป็นนักลงทุนที่มีงานประจำค่อนข้างยุ่งและไม่มีเวลาศึกษามากนัก ผมจึงแนะนำให้ดูหุ้นกลุ่มที่เป็น non-cyclical เป็นหลัก ซึ่งจะปลอดภัยกว่าและวิเคราะห์ง่ายกว่าครับ


สำหรับหุ้น non-cyclical ผมให้ดู p/e ครับ แต่ต้องเป็น eps ที่ adjust กำไรที่ไม่ใช่การดำเนินงานออกนะครับ และเป็น fully diluted eps คือรวมผลของ warrant esop เข้ามาแล้ว และคำนึงถึงเรื่องอัตราภาษีในอนาคตด้วยสำหรับหุ้นที่ยังมีสิทธิพิเศษ ทางภาษีอยู่


หุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนคือ หุ้นที่มี p/e ต่ำกว่าการเติบโตของกำไรเฉลี่ยต่อปี ในอีก 5-10 ข้างหน้าครับ คือ ควรจะวิเคราะห์ให้แตกฉานจนเห็นภาพของธุรกิจอย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าให้ดี 10-20 ปีก็จะดีมากครับ ดังนั้นหุ้นที่อาจจะเติบโตปีละ 30% แต่ทำได้แค่ปีเดียว ก็ไม่น่าสนใจในความคิดผมครับ เว้นเสียว่าจะโต 100% ในปีเดียวก็อาจจะน่าสนใจในการลงทุนอีกลักษณะคือ แบบ hit and run ครับ


นอกจากนี้ ต้องอย่างลืมพิจารณาเรื่อง คุณภาพของกำไร ด้วยนะครับ ตามที่ผมเคยเขียนกระทู้เรื่องนี้ไว้แล้ว คือ เราจะต้องให้ p/e สูงกว่าในหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูง และให้ p/e ต่ำกว่าในหุ้นคุณภาพกำไรต่ำหรือไม่ลงทุนเลยในกรณีคุณภาพของกำไรต่ำมาก


ดังนั้นคำถาม ก็คือ จะทราบได้อย่างไรว่าหุ้นแต่ละตัวจะมีการเติบโตกี่ % ต่อปีในอีก 5-10 ปีข้างหน้า คงจะต้องดู 3 ประการครับ

1 market growth

2 market share growth

3 net profit margin


1 market growth 
คือจะต้องศึกษาว่าธุรกิจ อุตสาหกรรมดังกล่าวมีการเติบโตแค่ไหน ซึ่งการวิเคราะห์ตรงนี้ก็ค่อนข้างยากและเป็นศิลปะพอสมควร และเราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวอุตสาหกรรมอย่างมากครับ วิธีที่ง่ายที่จะเริ่มต้น ก็คือ การคิดว่า อนาคต หากผู้บริโภคมีรายได้ 100 บาทต่อปี ถ้าปัจจุบัน ผู้บริโภคจ่ายเงินในการซื้อสินค้าและบริการในธุรกิจนี้ 5 บาทต่อปี อนาคตเราคิดว่าคนจะจ่ายเงินในสัดส่วนของรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือคงที่ครับ หากสรุปได้ว่าคงที่ ก็เท่ากับว่า market จะโตได้พอๆ กับการเติบโตของรายได้ของผู้บริโภค คือ เท่าๆ กับ GDP ครับ ถ้าคิดว่าสัดส่วนการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคจะสูงขึ้น แสดงว่าธุรกิจดังกล่าวจะโตต่ำกว่า gdp ครับ

2 mkt share growth 
ให้ประเมินสถานภาพ mkt share ของบริษัท ว่ามี mkt share ประมาณกี่ % ถ้าหุ้นตัวนั้นๆ มี mkt share สูงมากอยู่แล้ว เช่น 70% หุ้นตัวนั้นคงจะลำบากในการเพิ่ม share สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คือการรักษา mkt share และโตตามตลาด ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องดูเพิ่มเติมก็คือ เราจะคิดว่าหุ้นตัวดังกล่าวจะรักษา mkt share ได้หรือไม่ครับ คงจะต้องไปศึกษา barrier to entry ของธุรกิจ ศึกษาคู่แข่งด้วยครับ สำหรับหุ้นที่ mkt share ต่ำ ก็มีข้อดีคือ มีโอกาสเพิ่ม mkt share ได้อีก แต่ข้อเสียคือ มีโอกาสล้มหายตายจาก เพราะการมี mkt share ต่ำแสดงถึงการเสียเปรียบหลายๆ อย่างกับผู้มี mkt share สูง และอาจจะแสดงถึงความสามารถในการบริหารที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการเลือกหุ้น mkt share ต่ำ แม้ว่าจะมี upside สูง แต่ก็มี downside สูงเช่นกัน ดังนั้นเราจะต้องวิเคราะห์ให้ได้ถึงสาเหตุของการมี mkt share ต่ำว่าอะไร เพราะอาจจะมีเหตุผลที่ดีก็ได้เช่น เป็นบริษัทใหม่ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ตั้งมาหลายสิบปีแล้วแต่ยังมี mkt share ต่ำอยู่ผมคิดว่าอาจจะยากเกินเยียวยาครับเว้นเสียว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในการ บริหารอย่างมีนัยสำคัญ

3 net margin 
ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูครับ เพราะบางครั้ง net margin ในบางปีของแต่ละบริษัทอาจจะต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลบางอย่าง หรืออาจจะสูงกว่าปกติในบางปี
สำหรับหุ้นที่ net margin ต่ำ ก็คงต้องระวังว่าหากต่ำกว่านี้อีกหน่อย ก็เท่ากับว่าขาดทุนทันที แม้จะมียอดขายเพิ่มก็ตาม แต่ก็มีข้อดีคือมี room ที่ margin ที่เพิ่มขึ้นหากมีการปรับปรุงหรือมียอดขายที่เพิ่มขึ้นซึ่งน่าจะนำพาให้ economy of scale มากขึ้น
สำหรับหุ้นที่ net margin สูง ก็มีข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ บริษัทนั้นๆ จะมีแนวโน้ม roa roe ที่สูง และบริษัทนั้นๆ จะทนกับการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง หรือปัจจัยด้านต้นทุนได้ดี ก็คือยังสามารถสร้างกำไรอยู่ได้ แต่ข้อเสียคือ การมี margin สูงมากๆ ประเภท too good to be true จะนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงในอนาคตหาก barrier to entry ไม่สูงพอ และข้อเสียกับนักลงทุนคือหากเราให้ net margin ดังกล่าวในการทำนายในอนาคต อาจจะได้ผลที่คาดเคลื่อนได้ครับ


ดังนั้น เราจะต้องพิจารณา 3 ปัจจัยดังกล่าว ในการประเมินคร่าวๆ ว่าหุ้นตัวนั้นๆ จะมี growth มากน้อยเพียงใดในอนาคตครับ เราอาจจะแบ่งหุ้นได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ครับ

1 market growth สูง และ mkt share สูง
หากธุรกิจดังกล่าวมี barrier to entry สูงด้วย หุ้นนั้นๆ จะเป็น super stocks ครับ เพราะการที่หุ้นนั้นๆ มี mkt share สูงจะทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งมากในด้านทรัพยาการต่างๆ ที่จะมาใช้ในการสร้างยอดขายเพื่อรองรับการเติบโตต่างๆ เช่น ทรัพยากรเงินทุน บุคลากร แต่หาก barrier to entry ต่ำ ก็อาจจะทำให้ความน่าสนใจลดลง แต่ด้วยความที่เค้กก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้หุ้นตัวนั้นๆ พอจะมีความน่าสนใจอยู่บ้างครับ

2 market growth สูง mkt share ต่ำ
หุ้นประเภทนี้ให้ดูปัจจัยเดียวเป็นหลักครับ คือ ความสามารถของผู้บริหาร ถ้าเราคิดว่าผู้บริหารมีความสามารถสูงและจะสามารถเพิ่ม mkt share ได้ หุ้นประเภท 2 นี้จะมี upside มากกว่าประเภท 1 อีกครับเพราะจะโตจากทั้งตลาดรวมที่โตและ mkt share ที่เพิ่ม ยกตัวอย่าง เช่น หุ้น LH ตอนปี 43 มี mkt share เพียง 7% ของตลาด แต่หลังจากได้สร้างบ้านก่อนขายและมี concept บ้านสบาย ทำให้ mkt share เพิ่มเป็นประมาณ 25-30% ในปี 46 ในขณะที่ตลาดรวมก็เติบโตสูง ผลก็คือ Lh มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 10 เท่าครับ

3 mkt growth ต่ำ mkt share สูง
หุ้นประเภทนี้น่ากลัวครับ เพราะการเติบโตของตลาดรวมที่ต่ำ ทำให้ผู้เล่นรายใหม่จะต้องมาแย่งเค้กจากรายเดิม และบริษัทที่มี mkt share สูงจะต้องอยู่ในสภาวะที่ตั้งรับ คือ ต้องรักษา mkt share อย่างเดียว และโอกาสเติบโตก็มีค่อนข้างน้อย ยกตัวอย่างคือ หุ้น BEC ในปี 43-44 มี mkt share ในตลาดโฆษณา TV 40% แต่ธุรกิจโฆษณา TV เริ่มโตช้าลง ในขณะที่ bec ได้เสีย mkt share ให้กับช่อง 7 ITV และ ช่อง 9 ทำให้ราคาหุ้นของ BEC ลดลงจาก 25 บาทมาเหลือ 15 บาทในปัจจุบัน

4 mkt growth ต่ำ mkt share ต่ำ
หุ้นประเภทนี้มองยากครับ ถ้าเป็นบริษัทที่ผู้บริหารมีความสามารถและสามารถเพิ่ม mkt share ได้ก็จะทำให้กำไรเติบโตได้มาก แต่ต้องดูว่าเป็นการเพิ่ม mkt share ที่ยั่งยืนหรือไม่ด้วยเพราะการที่บริษัทขนาดเล็กได้ mkt share เพิ่มก็มักจะถูกรุกกลับจากผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านทรัพยากร โดยเฉพาะการเพิ่ม mkt share ด้วยการตัดราคาในขณะที่ต้นทุนยังลดไม่ได้คงไม่ใช่วิธีที่ดีแน่นอนครับ นอกจากนี้ยิ่งหากเป็นบริษัทที่ผู้บริหารไม่เก่งแล้ว บริษัทเหล่านี้ก็มีโอกาสล้มหายตายจากครับ เพราะการที่ mkt growth ต่ำทำให้ผู้เล่นรายใหญ่จะต้องมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดกันเอง คนที่กระทบหนักสุดคือรายเล็กครับ เข้าข่าย ช้างชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญครับ


สิ่งที่ผมอธิบายคงจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งนะครับ ก็มีรายละเอียดอีกมากมายซึ่งผมจะพยายามเขียนและถ่ายทอดออกมาในอนาคตนะครับ คงจะไม่ว่านะครับที่ผมคงจะไม่มีสูตรลับหรือหลักการอะไรตายตัวให้ เพราะผมก็ไม่มีจริงๆ ครับ และคิดว่าไม่น่าจะมีสูตรหรือหลักการอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จนะครับ เพราะมิฉะนั้นเราคงจะเห็นคนจำนวนมากมายร่ำรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นไปแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบปริญญาเอกและสอนด้านการลงทุนคงจะร่ำรวยจากตลาดหุ้น และออกมาลงทุนเองกันหมดแล้ว และก็คงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมระยะหลังๆ ผมพยายามจะไม่ให้ราคาที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัว ผมคิดว่าหุ้นเป็นศิลปะ 90% เป็นคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีก 10% ครับ ดังนั้นการศึกษาให้มากที่สุด เรียนรู้ให้มากที่สุด คงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้นครับ แม่ทัพที่มีชื่อเสียงของโลกในอดีต ก็ต่างใช้กลยุทธ์และการจัดทัพในแต่ละสนามรบต่างๆ กันในการรบแต่ละครั้งขึ้นกับภูมิประเทศ อากาศ จำนวนทหารและยุทโธปกรณ์ของของตนและข้าศึก ฯลฯ ดังนั้นคงจะไม่มี short cut หรือหลักการตายตัวอะไรที่ได้ผล 100% ครับ


from http://goo.gl/PiYZW

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น