"กู๋กู่" (Gugu) บอกว่า ความมั่งคั่งร่ำรวย ยังไงก็ไม่ใช่เรื่องของ "สมบัติผลัดกันชม" หรอก เพราะไม่เคยมีข่าวในสื่อไหนที่บอกว่า คนรวยรวยจนเบื่อ จนอยากจะเผื่อแผ่ความรวยให้กับคนจนบ้าง มีแต่ข่าวคนจนเบื่อหน่ายกับความจน จนอยากลาโลกไปก็มาก
เขาเป็นนักเขียนชื่อดังชาวจีน เป็นผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แห่งความจน ที่มุ่งยกระดับความจนที่ด้อยพัฒนา ไปสู่ความจนที่ได้รับการพัฒนาลืมตาอ้าปากได้แล้ว
เป็นนักเขียนเอเชียร่วมสมัย ที่สามารถชำแหละพฤติกรรมแบบจนๆ ออกมาได้เจ็บๆ คันๆ แสบไปทั้งใจ
หนังสือ "100 ข้อคิดเอาชนะความจน" ที่เขาเขียน กลายเป็นหนังสือขายดีนับล้านเล่มทั่วเอเชีย และเอาชนะใจผู้คนทุกระดับ ให้อย่าละทิ้งความพยายามที่จะฉุดกระชากลากถูตัวเองไปสู่สถานะคนมีกระตังค์
ในยุคสมัยหนึ่งหนังสือฮาวทูตระกูล "พ่อรวย" ของนักเขียนแดนปลาดิบ เคยดังเปรี้ยงปร้างเพราะถูกใจใช่เลยกับบรรดาคนอยากรวยที่ห้ามใจเอาไว้ไม่อยู่ หนังสือชุดนี้มีการจัดระบบ วางแผนงานเพื่อคืบคลานสู่เป้าหมายความรวยแบบอภิมหา
จะว่าไปแล้วก็มีคนรวยไม่น้อยที่ใช้กลยุทธ์ดึงเงินจำนวนเล็กๆ เอาไปสร้างเงินก้อนใหญ่ๆทว่าคนจนกลับไม่คิดแบบนั้น คนจนชอบคิดถึงปริมาณ ได้มากๆ ในคราวเดียว
"คนจนอยากหาเงินได้เยอะๆ ตูมเดียวเป็นหมื่น แต่รู้วิธีทำให้เกิดขึ้นหรือเปล่า การค้าสมัยนี้ก็ไม่ได้มีกำไรมาก มีดทู่ๆ ของคนจนเล่มเดียวจะทำอะไรได้" กู๋กู่บอกว่า สุดท้ายคนจนนั่นหละที่ฆ่าเทพแห่งโชคลาภด้วยน้ำมือตัวเอง ก่อนที่จะทันได้ลิ้มรสความรวย
ผู้คนส่วนใหญ่มักจะพึ่งพาเงินเดือนหาเลี้ยงชีพ หลายคนเชื่อว่าความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตัวเองมีชีวิตที่สุขสบาย
แต่ในเนื้อแท้แล้ว เราไม่สามารถพึ่งพาเงินเดือนได้อย่างเดียว ถ้าเราพึ่งพาแต่เงินเดือน เราก็จะไม่มีวันได้เป็นคนรวยที่แท้จริง
"การพึ่งพาแต่เงินเดือนนั้น ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิตได้เท่านั้น เพราะที่เจ้านายเลือกจ้างคุณ ใช่ว่าจะให้คุณมาร่ำรวยด้วยกันไปกับเขา" กู๋กู่ว่าอย่างนั้น
หลายคนอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่ก็มักหวั่นใจกลัวความล้มเหลว และมักคิดว่ารอให้ถึงเวลาที่พร้อมก่อน
แต่อันที่จริงแล้ว บางสิ่งบางอย่างไม่ต้องรอให้ถึงเวลาที่สมควรก็ได้เพราะเมื่อเราเริ่มลงมือทำ ทุกอย่างก็จะค่อยๆ เข้าที่เข้าทาง และสมบูรณ์แบบได้ในท้ายที่สุด
เขาบอกว่า ด้วยสถานะแบบคนจนซึ่งไม่มีต้นทุนอะไรให้ต้องพะวักพะวง ฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรอีก มีอะไรก็ลุยๆ กล้าๆ ไปเลย คนจนมักกลัวโน่นกลัวนี่ พอยิ่งจนก็ยิ่งกลัว พอยิ่งกลัวก็ยิ่งจนซ้ำซากเข้าไปอีก
"ถ้าคนจนมีไข่ไก่เพียงฟองเดียวอยู่ในมือ พวกเขาต้องรอจนกว่าไข่ฟองนั้นจะแตก จึงจะยอมก้าวออกมา ทดลองใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ แต่กว่าจะถึงเวลานั้น ก็ถูกคนอื่นช่วงชิงโอกาสไปหมดแล้ว"
ความสามารถก็จะค่อยๆ ถดถอยไป ท่ามกลางการรอคอยที่แสนจะยาวนาน การยืนหยัดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในช่วงขณะนั้น จึงไม่ง่ายอีกต่อไปแล้ว
"ถ้าไข่ไม่แตก เราก็จะไม่กล้าทำอะไรเลยหรือ เลิกพึ่งพาความหวังอันน้อยนิด ลองลงมือทำจริงๆ ดูเลย ก่อนที่จะสายเกินไป เพียรหาวิธีแก้ปัญหา แล้วลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่วันนี้ ทำก่อนดีกว่าทำหลังนะ" เขาสำทับ
เรื่องจริงที่ชวนเจ็บปวดก็คือ เมื่อคนจนสร้างอำนาจเป็นของตัวเองไม่ได้ ก็ต้องทำตัวเป็น "มือปืนรับจ้าง" ช่วยสร้างอำนาจให้กับบรรดาผู้มีบารมี
ร้อยทั้งร้อยของคนจน ล้วนแล้วอยากเจอเจ้านายที่ดี เพราะว่ากันว่า ถ้าเจ้านายประสบความสำเร็จแล้ว ก็คงจะปูนบำเหน็จให้อย่างงาม แต่กลับกลายเป็นว่า คนจนที่ผลักดันให้ผู้อื่นมีอำนาจบารมี อาจจะไม่ได้รับคุณงามความดีเท่ากับที่เคยคาดหวังเอาไว้ ถ้าแย่กว่านั้นก็คือ อาจไม่มีโอกาสเสวยสุขจากความสำเร็จของผู้อื่นอีกด้วย
การสร้างอำนาจนั้นต้องใช้เวลา ต้องฝ่าฟันห่ากระสุนจากฝ่ายตรงข้าม ต้องรับมือกับคนข้างใน รวมถึงต้องรู้ทางอุปนิสัยใจคอของเจ้านายคนที่คุณฝากชีวิตไว้ด้วย ถือเป็นช่วงเวลายากลำบากที่ใครหลายคนถูกกำจัด ถึงแม้คุณจะเป็น the last man standing ในไม่กี่คนที่ยืนหยัด และโชคดีอยู่จนถึงวันที่เจ้านายประสบความสำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าคุณจะได้รับประโยชน์อะไรจากความสำเร็จของเจ้านายไปด้วย
บนเส้นทางของการสร้างอำนาจ ล้วนแล้วแต่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ และมีลิ่วล้อคอยสละชีวิต แต่เมื่อเจ้านายได้ครอบครองอำนาจแล้ว ภารกิจจาก "ฟาดฟัน" กลับกลายเป็นงาน "รักษาภาพลักษณ์" ดังนั้น คนที่จับปืนผาหน้าไม้เป็นอย่างเดียว จึงไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป เก็บไว้ก็ยุ่งยาก เปลืองอาหาร อาจสร้างความวุ่นวายในภายหลัง
ดังนั้น การที่หน่วยหน้ากล้าตายจะถูกกำจัด จึงเป็นเรื่องธรรมดา ตามประสา "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" เนื่องจากพอเปลี่ยนภารกิจ ก็จำเป็นต้องใช้เด็กใหม่ๆ หน้าใส วัยกิ๊ก และมือไม่เคยเปื้อนเลือดมาก่อน
"คนจนที่ช่วยให้ผู้อื่น ดำรงตำแหน่งได้เป็นปกติสุข ก็ยังไม่แน่ว่า ตัวเองจะประสบความสำเร็จด้วยหรือไม่ หรือถึงแม้ว่าจะช่วยเขาจนตัวเองสำเร็จไปด้วย ก็อาจถูกเขี่ยทิ้งได้อยู่ดี"
เพราะฉะนั้นการสร้างความสำเร็จเป็นของตัวเอง ถึงจะล้มบ้างลุกบ้าง เวิร์คบ้างไม่เวิร์คบ้าง ก็ยังดีกว่าจริงไหม? อย่างน้อยที่สุดนั่นคือการเรียนรู้
มีหลายร้อยวิธีที่จะเอาชนะความจน กู๋กู่บอกว่า คนจนก็เหมือนกับคนที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน พอได้ใช้ก็กลัวแป้นพิมพ์จะเสีย จะเล่นอินเทอร์เน็ตก็กลัวไวรัสเล่นงาน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว "ไม่มีอะไรที่น่ากลัว หรือเกินความสามารถของคนเราหรอก" ถ้าเรากลัวคอมพิวเตอร์ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือแค่เสียบปลั๊กแล้วเปิดเครื่อง สำหรับคนจนที่อยากรวย สิ่งสำคัญที่สุดก็มีแค่ "ลองดูสักตั้ง"
"ไม่ว่าคนเราทำอะไรก็ต้องมีปัจจัย กว่าจะได้ซึ่งปัจจัยก็ต้องใช้พลังงานมาก ดังนั้น ถ้าเรามัวแต่ถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ รอความพร้อม บางทีสภาพแวดล้อมอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ หรือยังไม่ทันได้ปัจจัยมา ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นแล้ว ทำให้คนเราไม่กล้าลงมือทำเสียที สุดท้ายก็หมดความกระตือรือร้น"
เขาบอกว่า แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาเป็นคนจน รอคอยตลอดชีวิต รอจนผมขาว รอจนจิตใจห่อเหี่ยว ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยพร้อมลุย แต่ก็อาจขี้เกียจเข้าให้แล้ว จึงต้องตั้งโปรแกรมตัวเองเสียใหม่ว่า "เราสร้างโอกาสขึ้นเองได้" ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีโอกาสตลอดกาล
"ลองดูสักตั้ง แล้วค่อยว่ากันดีกว่า ควรทำไปด้วย แสวงหาโอกาสไปด้วย สร้างปัจจัยไปด้วย แก้ไขไปด้วย แล้วก็ปรับปรุงไปด้วย ในเมื่อเป็นคนจน คุณไม่มีอะไรต้องเสียหาย ขอแค่เดินทางถูก คุณก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ แม้ในช่วงแรกอาจจะดูเลือนลางก็ตาม"
สำหรับเขาแล้ว "ความไม่มีอะไรเลย" เป็นต้นทุนแห่งความร่ำรวยอย่างหนึ่ง เป็นแรงผลักดันที่ทำให้คนเราอยากพลิกชะตาชีวิต และอยากพิชิตความสำเร็จในหน้าที่การเงาน และถ้าเราไม่มีอะไรเลย เราก็ไม่ต้องห่วงอะไรเลยเช่นกัน เมื่อไม่มีห่วง เราก็มีเวลาพัฒนาความสามารถตนเองได้อย่างเต็มที่
กู๋กู่กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตมีคุณค่าต่อคนจนอย่างยิ่ง เพราะเป็นดินแดนแห่งความเท่าเทียม ทำให้คนจนมีสิทธิ์เหมือนกับคนรวยทุกอย่าง ไม่ว่าจะอ่านข่าว วิจารณ์การเมือง ค้นหาความรู้ ทำการค้า ด่าทอรัฐบาล หรือจะโต้ตอบใครก็ได้บนโลกก้อนเมฆใบเขื่องนี้
คนจนทำได้ทุกอย่างเท่าที่จะคิดฝันในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสื่อของทุกคนและทำให้คนจนมีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนรวย โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ในเมื่อคนรวยมีระเบียบแบบแผนที่ดีในการหาเงิน คนจนก็จำเป็นต้องเรียนรู้ หรือไม่ก็ลอกเลียนแบบวิธีของคนรวยเสียเลย ใครเรียนรู้ได้เร็วกว่า ช่องว่างของคนๆ นั้นกับคนรวยก็จะเล็กลงเรื่อยๆ อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุด และเปรียบเหมือนสวรรค์ของการสร้างอาชีพให้คนจน
และอินเทอร์เน็ตก็เป็นหนึ่งใน driver ชิ้นสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนความจนล้าหลัง มาเป็นความรวยล้ำสมัยด้วยสปีดขั้นเทพ...
เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ "100 ข้อคิดเอาชนะความจน" เขียนโดย กู๋กู่ ภาพประกอบโดย หยางซื่อเฉิง สำนักพิมพ์อินสปายร์ ในเครือนานมีบุ๊คส์
from http://goo.gl/VRnwqf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น