บางคนอาจจะโชคดี ที่ได้ทำงานที่บ้านเกิดตัวเอง ทำให้ไม่ต้องเสียเงินค่าเช่าบ้าน เช่าอพาร์ทเมนต์ ค่าข้าว
บางคนอาจจะได้รับรางวัลในการเรียนจบเป็นเงินก้อน ทองคำ เพชรพลอย หรือรถยนต์
แต่หลายๆ คนอาจจะมีแค่ใบปริญญา แค่ใบเดียว แล้วเดินทางจากบ้านเกิดตัวเองเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพ ซึ่งมีเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 18,000 - 20,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ ค่าผ่อนคอนโด ค่าครองชีพที่สูง ค่าเดินทาง ทำให้การมีเงินล้านบาทแรก อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย
วันนี้ผมจะมานำเสนอเส้นทางการมีเงินล้าน สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เริ่มต้นจากศูนย์
ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาหลักๆ ผมขอแนะนำสมการในการคำนวณหามูลค่าในอนาคต ดังนี้
FV = PV x (1 + r) ^ t
FV: future value
PV: present value
r: annual return (%)
t: time (year)
จากสมการข้างต้น เราจะพบว่า มูลค่าของเงินในอนาคตจะขึ้นกับตัวแปร 3 ตัวได้แก่
- PV คือ มูลค่าของเงินในปัจจุบัน หรือเงินต้น จากสมการจะพบว่า ยิ่งเงินต้นมาก มูลค่าของเงินในอนาคตจะยิ่งมาก
- r คือ จำนวนผลตอบแทนต่อปี(%) ที่เราทำได้ จากสมการจะพบว่า ยิ่งผลตอบแทนมาก มูลค่าของเงินในอนาคตจะยิ่งมาก
- t คือ จำนวนเวลา(ปี) ที่เราลงทุน จากสมการจะพบว่า ยิ่งเราใช้เวลาลงทุนนาน มูลค่าของเงินในอนาคตจะยิ่งมาก
ตัวอย่างการทำสมการข้างต้นมาใช้งาน
ตัวอย่างที่ 1 นาย ก ฝากเงิน 1,000 บาท ที่ธนาคาร A ได้รับดอกเบี้ยปีละ 2% ณ สิ้นปีที่ 3 เงินของนาย ก จะเป็นเท่าไร?
จากสมการ
FV = PV x (1 + r ) ^ t
FV = 1,000 x (1 + 2%) ^ 3
FV = 1,061.208 บาท
ตัวอย่างที่ 2 นาย ก นำเงิน 1,000 บาท ซึ้อหุ้น A สมมติได้กำไร(เงินปันผล + capital gain) ปีละ 10% ณ สิ้นปีที่ 3 เงินของนาย ก จะเป็นเท่าไร?
จากสมการ
FV = PV x (1 + r ) ^ t
FV = 1,000 x (1 + 10%) ^ 3
FV = 1,331 บาท
จากตัวอย่างที่ 1 และ 2 จะพบว่า จำนวนเงินต้นเท่ากัน เวลาเท่ากัน แต่สามารถทำผลตอบแทนได้มากขึ้น จะทำให้มูลค่าเงินในอนาคตเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างที่ 3 นาย ก ฝากเงิน 1,000 บาท ที่ธนาคาร A ได้รับดอกเบี้ยปีละ 2% ณ สิ้นปีที่ 5 เงินของนาย ก จะเป็นเท่าไร?
จากสมการ
FV = PV x (1 + r ) ^ t
FV = 1,000 x (1 + 2%) ^ 5
FV = 1,104.081 บาท
จากตัวอย่างที่ 1 และ 3 จะพบว่า จำนวนเงินต้นเท่ากัน ผลตอบแทนเท่ากัน แต่ลงทุนนานขึ้น จะทำให้มูลค่าเงินในอนาคตเพิ่มขึ้น
แล้วถ้าเรานำเงิน 1,000 บาทเท่าเดิม มาลงทุนนาน 5 ปี และทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี? มูลค่าเงินในอนาคตจะมากกว่าตัวอย่างที่ 2 หรือไม่? ลองดูตัวอย่างที่ 4 กันครับ
ตัวอย่างที่ 4 นาย ก ฝากเงิน 1,000 บาท ซึ้อหุ้น A สมมติได้กำไร(เงินปันผล + capital gain) ปีละ 10% ณ สิ้นปีที่ 5 เงินของนาย ก จะเป็นเท่าไร?
จากสมการ
FV = PV x (1 + r ) ^ t
FV = 1,000 x (1 + 10%) ^ 5
FV = 1,610.51 บาท
เส้นทางการเริ่มต้นจากศูนย์ สู่ 1 ล้านบาทแรก
จากสมมติฐานต่อไปนี้
- เงินเดือนเริ่มต้น 18,000 บาทต่อเดือน
- เงินเดือนเพิ่มปีละ 5% (การปรับเงินเดือน)
- สามารถออมเงินได้เดือนละ 15% ของเงินเดือน (รวม provident fund, LTF, RMF ด้วย)
- สามารถทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี
จากรูปข้างบน จะพบว่าเราสามารถมีเงินล้านได้ในปีที่ 12 ครับ (จำนวนเงิน ณ สิ้นปีที่ 12 คือ 1.0151711 ล้านบาท) ซึ่งวิธีการได้ตัวเลขนี้มานั่น ผมใช้แค่สมการ FV = PV x (1 + r) ^ t สมการเดียวเท่านั้นครับ ซึ่งทุกคนสามารถนำไปลองคำนวณเอกได้โดยใช้โปรแกรม Microsoft Excel
ตัวอย่างการคำนวณ (จากรูปข้างบน)
- ปีที่ 0 มีเงินลงทุนต่อปี 32,400 บาท มาจาก เงินลงทุนต่อเดือน 2,700 x 12 ครับ
- fv saving ของปีที่ 0 หมายความว่า เงินลงทุนต่อปีของปีที่ 0 คือ 32,400 เมื่อผ่านไป 12 ปี จะมีมูลค่าเป็นกี่บาท ซึ่งคำนวณมาจาก FV = 32,400 x (1 + 10%) ^ 12 ครับ
- ปีที่ 1 เงินลงทุนต่อปีเพิ่มเป็น 34,020 บาท มาจากสมมติฐานว่า มีการปรับเงินเดือนเพิ่มปีละ 5% ดังนั้นเงินเดือนจะเป็น 18,000 + 5% ได้ 18,900 และเราจะลงทุน 15% ต่อเดือนซึ่งก็คือ 18,900 x 15% ได้ 2,835 บาท หรือ ปีละ 34,020 บาท
- fv saving ของปีที่ 1 คำนวณมาจาก FV = 34,020 x (1 + 10%) ^ 11 ครับ
- ปีอื่นๆ ก็คำนวณคล้ายๆ กันครับ
ถ้าเราสามารถออมเงินได้มากขึ้น (ปีละ 25%) จำนวนปีที่จะมีเงินล้าน จะลดลงเหลือ 9 ปี ดังรูปด้านล่างครับ
ในชีวิตจริงนั้น มนุษย์เงินเดือนนอกจากจะได้รับเงินเดือนแล้ว ปลายปียังมีเงินโบนัสประจำปีอีกด้วย ถ้าเราสามารถนำเงินโบนัสนั้นมาลงทุนด้วย จะทำให้เรามีเงินล้านได้เร็วขึ้นครับ
จากรูปด้านล่าง สมมติเราได้รับโบนัสปีละ 1 เดือนแล้วนำมาออมเพิ่ม และเราออมเงินเดือนละ 15% ของเงินเดือน เราจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการได้เงินล้านบาท
และถ้าเรานำโบนัส ปีละ 1 เดือน และออมเงินเดือนละ 25% ของเงินเดือน ณ สิ้นปีที่ 8 เราจะมีเงิน 1.161 ล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น