Pages

Pages

13 พฤศจิกายน 2558

นิสัยบัฟเฟตต์


ถ้าจะพูดถึงคนที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากระดับโลกและจะเป็น “ตำนาน” ที่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไปอีกนานนั้น แน่นอนว่าบัฟเฟตต์ต้องเป็นหนึ่งในนั้น นิสัยหรือพฤติกรรมของคนที่อยู่ในระดับนี้ส่วนใหญ่ที่เราได้รับรู้ก็คือ พวกเขามีชีวิตที่หรูหรา อยู่ในสังคมของ “คนชั้นสูง” มีความรู้สึกและวางตัวที่อาจจะเรียกว่า “เย่อหยิ่ง” และ “โอ้อวดตนเอง” เป็นต้น แต่สำหรับบัฟเฟตต์เองแล้ว เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น หรือถ้าจะมีก็น้อยกว่าคนอื่นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงมาก ผมไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเป็นเพราะว่าบัฟเฟตต์เป็น Value Investor และ VI นั้นโดยธรรมชาติมักจะมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนรวยกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้น พอรวยแล้วก็ยังไม่ได้เปลี่ยนนิสัยแบบคนที่รวยจากอาชีพอื่น

มาดูกันว่าบัฟเฟตต์มีนิสัยแบบไหนที่ค่อนข้างจะแปลกจากคนรวยและมีชื่อเสียงอื่น—และคนธรรมดา บางทีนิสัยแบบบัฟเฟตต์นั้นอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และถ้าเป็นแบบนั้น การเรียนรู้นิสัยบัฟเฟตต์ก็น่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนที่จะนำมาใช้

นิสัยแรกที่ผมเห็นก็คือ การให้ความรัก นับถือ และเชื่อใจคนอื่นอย่างเต็มที่เมื่อเขาเข้าไปร่วมงานด้วย นั่นคือ เมื่อเขาตัดสินใจเข้าไปซื้อธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเบิร์กไชร์แล้ว เขาก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานและการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องยกเว้นเฉพาะการลงทุนใหญ่ ๆ และการจัดสรรกำไรเท่านั้น เขาจะให้ความรัก ความนับถือ และเชื่อใจต่อคนหรือซีอีโอที่บริหารงานมากและดูเหมือนว่าจะไม่เคย “ตั้งคำถาม” อะไรกับการทำงานหรือตัดสินใจของพวกเขาเลย สิ่งที่เขาบอกกับซีอีโอก็คือ ให้พวกเขาคิดและทำเหมือนกับว่าพวกเขานั้นเป็นเจ้าของบริษัทเท่านั้น การให้ความรัก นับถือและเชื่อใจแก่คนอื่นนั้น ทำให้บัฟเฟตต์ได้รับความรัก ความนับถือและเชื่อใจตอบจากคนอื่นเท่า ๆ กัน เห็นได้จากการที่ผู้บริหารหรือซีอีโอของเบิร์กไชร์นั้นมักจะอยู่กับบัฟเฟตต์ไปตลอดไม่ไปไหนและบัฟเฟตต์เองก็แทบจะไม่เคยให้ใครออก เขาบอกว่าระบบของเบิร์กไชร์นั้น “ไม่มีการเกษียณ” สำหรับซีอีโอ

นิสัยที่สองที่แตกต่างจากคนอื่นของบัฟเฟตต์ก็คือ ความ “จงรักภักดี” ที่มีต่อสิ่งรอบตัว ที่สำคัญก็คือ เมื่อบัฟเฟตต์ซื้อธุรกิจมาแล้ว เขาก็จะเก็บรักษามันไว้ “ตลอดไป” แม้ว่าหลายกิจการนั้นพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนไปแล้วเขาก็มักจะไม่ขายทิ้งเหมือนนักลงทุนอื่น เขายังเก็บหุ้นไว้เพราะเขาอยู่กับมันมานานและรู้จักผู้บริหารเป็นอย่างดี เขายินดีที่จะได้รับผลตอบแทนที่ลดลงและในที่สุดอาจจะล้มหายตายจากไป ผมคิดว่าเขาคงคิดว่าเขาได้รับผลตอบแทนจากบริษัทมานานและมากพอแล้ว ดังนั้น ถ้าเขาจะเสียหายบ้างจากการที่ไม่ได้ขายมันไปก่อน มันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก นอกจากเรื่องของธุรกิจแล้ว ผมก็รู้สึกว่าบัฟเฟตต์นั้นชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ เช่น เขาชอบกินอาหารเช่น สเต็กร้านเดิม ๆ ดื่ม โค๊กแบบเดิม ๆ เป็นสิบ ๆ ปีอย่างไม่รู้เบื่อ ดูเหมือนว่าเขาจะ “จงรักภักดี” ต่อสิ่งที่เขาคิดว่าดีอยู่แล้วมาก ความคิดของเขาก็คือ ไม่รู้จะ“เสี่ยง” ไปทำไมกับของใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าดีหรือไม่

ความคิดที่อิสระและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก นี่คือนิสัยอีกอย่างหนึ่งของบัฟเฟตต์ เขาไม่เคยทำตามคนอื่นหรือตามความคาดหวังของสังคม เขาไม่เคยกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นคน “ตกยุค”เช่นในช่วงที่หุ้นไฮเท็คเติบโตเป็น “ฟองสบู่” ช่วงปีทศวรรษปี 1990 ถึง 2000 เขาเองก็ไม่สนใจลงทุนในหุ้นเหล่านั้นเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากซึ่งทำให้การคาดการณ์รายได้และกำไรทำได้ยากมากและเขาเองก็ไม่รู้จักธุรกิจดีพอ ผลงานการลงทุนของเขาจึงดูไม่ดีนักเมื่อเทียบกับคนที่ลงทุนในหุ้นไฮเท็คเหล่านั้น เช่นเดียวกัน ในบางช่วงการแข่งขันทางด้านการขายประกันภัยรุนแรงมากและทุกคนต่างก็ขายประกันในราคาที่ “ขาดทุน” เพื่อที่จะสร้างยอดขายให้เติบโตและทำกำไรในระยะสั้น บัฟเฟตต์ปฎิเสธที่จะทำตาม เขา “ยอม” ถูกมองเป็นบริษัทที่กำลัง “ถดถอย” ในขณะที่บริษัทอื่นโตขึ้น แต่แล้วเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คแตก และบริษัทประกันที่ขายประกันราคาถูกเกินไปต้องขาดทุนหนัก บัฟเฟตต์ก็กลับมามีผลงานที่โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม

นิสัยที่สี่ของบัฟเฟตต์ก็คือ เขากำหนดขอบเขตและมาตรฐานของตนเองหรือพูดหยาบ ๆ ก็คือ เป็นตัวของตัวเองสูง เขาไม่สนใจและไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ทุกเรื่องหรือทุกอุตสาหกรรม เพราะเขาเลือกเฉพาะอุตสาหกรรมและบริษัทที่เขารู้เท่านั้น เขากำหนด Circle of Competent หรือขอบเขตความสามารถของเขาที่เขาจะทำได้ดีและเขาจะไม่ออกจากขอบเขตนี้ สิ่งที่บัฟเฟตต์ทำนั้น เขาก็จะหาธุรกิจหรือบริษัทที่ดูได้ง่ายเข้าใจง่ายและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เขาพูดว่าเขาพยายามหารั้วเตี้ย ๆ ซักหนึ่งฟุตเพื่อที่ว่าเขาจะได้ข้ามมันไปง่าย ๆ เขาไม่ต้องการรั้วสูง ๆ เพื่อที่จะแสดงความสามารถในการกระโดดข้ามมัน ดังนั้น เราจึงเห็นหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้น ส่วนมากจึงเป็นหุ้นของธุรกิจธรรมดามากเช่น บริษัทขายซ้อสมะเขือเทศ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านขายเครื่องประดับเพชร บริษัทรถไฟ ธนาคาร และอื่น ๆ ที่เข้าใจไม่ยากและไม่เห็นจะมีอะไรน่าตื่นเต้นในยุคที่เครื่องมือสื่อสารอย่างไอแพดเปลี่ยนรุ่นทุก 2- 3 ปีและมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

มาตรฐานที่บัฟเฟตต์ใช้เองนั้น เขาบอกว่าเขาไม่สนใจมาตรฐานของสังคมหรือคนอื่น เขาไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองตนเองอย่างไร เขาแนะนำว่านักลงทุนควรที่จะมี Inner Score Card หรือมาตรฐานที่อยู่ภายในใจของเรา นั่นก็คือ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือสนใจว่าคนอื่นเขาจะมองเราอย่างไร เราควรที่จะกำหนดมาตรฐานของตนเองว่าเราตั้งเป้าไว้เหมาะสมและทำได้ตามเป้าหรือไม่ เช่น ถ้าเราคิดว่าเราควรทำผลตอบแทนการลงทุนได้ปีละ 12% ทบต้นโดยการลงทุนในหุ้นที่มีระดับความความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่นต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 5-6 ตัวและไม่มีหุ้นตัวใดที่มีสัดส่วนสูงเกิน 30% ในกรณีแบบนี้ เราก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ว่าพอเห็นคนอื่นกำลังทำผลตอบแทนดีเยี่ยมกว่าเรา เราก็พยายามไปเปรียบเทียบกับเขาเพราะกลัวว่าเราจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถเท่า เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้น กลยุทธ์และวิธีการต่าง ๆ ก็จะรวนไปหมด และเราก็อาจจะไม่มีความสุขในการลงทุนหรือทำงาน

นิสัยสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงและแปลกไปจากเพื่อนระดับเดียวกันของเขาก็คือ บัฟเฟตต์นั้นแม้ว่าจะรวยเป็นอันดับ 1-3 ของโลกมานาน แต่เขาเป็นคนที่มีความสมถะและประหยัดมาก ดูเหมือนว่าเขาจะชอบผู้บริหารที่เน้นการลดต้นทุนการดำเนินงานโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก เขาไม่ชอบความฟุ่มเฟือยในทุกกรณี เขาไม่ชอบผู้บริหารที่กินเงินเดือนสูงมากโดยที่ไม่ได้อิงกับผลการดำเนินงานของบริษัท ตัวบัฟเฟตต์เองนั้นถ้าจำไม่ผิดเขารับเงินเดือนในฐานะของซีอีโอเบิร์กไชร์ปีละแค่ 100,000 เหรียญซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทที่ใหญ่ขนาดเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองนั้น ทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่บ้านเดิมที่อยู่มาหลายสิบปีที่เขาซื้อมาในราคาไม่กี่หมื่นเหรียญและน่าจะเป็นบ้านระดับชนชั้นกลาง เขายังขับรถเองและใช้ชีวิตเหมือนคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่

หลายคนคงเถียงในใจว่านิสัยส่วนตัวของบัฟเฟตต์นั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนของเขา แต่ผมเองเชื่อว่านิสัยส่วนตัวกับการลงทุนนั้นคงจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่ ผมเองได้อ่านประวัติของ VI ระดับโลกและได้ศึกษา VI เด่น ๆ หลายคนในตลาดหุ้นไทยที่ผมรู้จัก ผมพบว่านิสัยของพวกเขาหลาย ๆ คนนั้น มีบางส่วนคล้าย ๆ กับของ บัฟเฟตต์ ที่กล่าวถึง ผมคิดว่านิสัยบางอย่างนั้นเอื้ออำนวยให้คน ๆ นั้นกลายเป็นนักลงทุนและเข้าใจและตัดสินใจในการลงทุนได้ดีขึ้น นิสัยบางอย่างก็ขัดแย้งกับการเป็นนักลงทุนและทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ดีได้ยาก ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุนโดยเฉพาะในแนว VI เราควรวิเคราะห์นิสัยของตนเองก่อนว่า เรามีแนวโน้มที่จะเป็น VI ที่ดีได้ไหม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น