28 ธันวาคม 2558

24 เคล็ดลับของปู่บัฟเฟต์ในตลาดหุ้น

1. เลือกความเรียบง่ายมากกว่าความซับซ้อน
บัฟเฟตต์ แนะนำว่า “เมื่อลงทุน ควรคำนึงถึง … ความเรียบง่าย ชัดเจน
อย่าพยายามหาคำตอบที่ซับซ้อน จากคำถามที่ซับซ้อน”
จำไว้ว่า ความยากไม่มีในการลงทุน
มองหาบริษัทที่มีประวัติยาวนาน และสามารถคาดเดาอนาคตของธุรกิจได้
ถ้าคุณไม่เข้าใจธุรกิจ … ก็อย่าซื้อหุ้น

2. ตัดสินใจลงทุนด้วยตัวคุณเอง
อย่าเชื่อโบรกเกอร์ นักวิเคราะห์ หรือผู้รู้ …จงเชื่อตัวคุณเอง
เมื่อคุณพบที่ปรึกษาทางการลงทุนหรือนักลงทุนมืออาชีพ
จงถามว่า “พวกคุณจะได้อะไรจากผม ???”
ถ้าคำตอบไม่เป็นที่น่าพอใจ คุณก็ควรจะเดินหนีไปซะ
การลงทุนแบบเน้นคุณค่าพิสูจน์แล้วว่า จะสร้างผลตอบแทนที่ดีมากในระยะยาว

3. จงมีสติ
บัฟเฟตต์แนะนำว่า ปล่อยให้คนอื่น ๆ ตื่นตระหนกไปกับตลาดแล้ว
เมื่อมันสงบ … คุณจะได้ประโยชน์จากมัน
อย่าคิดจะเป็นเจ้าของหุ้น ...
ถ้ามันจะทำให้คุณตื่นตระหนก และขายหุ้นของคุณเมื่อราคาตกลง 50%
นอกจากนั้น บัฟเฟตต์ยังมีข้อแนะนำเมื่อ ... หุ้นตก
คำแนะนำ 3 ข้อ ในยามที่ ... ตลาดหุ้นตก คือ
ข้อที่ 1 เกาะติดอยู่กับบริษัทที่ดี
ข้อที่ 2 รู้จักตัวเอง
ข้อที่ 3 อย่าตัดสินใจลงทุน เพราะมีคนอื่นมากระซิบหุ้นเด็ด

4. จงอดทน
บัฟเฟตต์แนะนำให้คิดถึงระยะเวลาเป็น 10 ปี แทนที่จะเป็น 10 นาที
ถ้าคุณไม่สามารถจะถือหุ้นได้เป็นทศวรรษ … ก็อย่าซื้อหุ้นตั้งแต่แรก
อย่าหมกมุ่นอยู่กับราคาหุ้น
จงศึกษาพื้นฐานของธุรกิจ ความสามารถในการสร้างกำไร อนาคตของบริษัท และอื่น ๆ
เวลาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของธุรกิจ

5. ซื้อธุรกิจไม่ใช่แค่ซื้อหุ้น
ถ้าคุณซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีแล้ว ปล่อยให้คนอื่น ๆ กังวลเรื่องตลาดหุ้นไปเถิด
ผลประกอบการของธุรกิจ คือ กุญแจสำคัญของการเลือกซื้อหุ้น
ให้ศึกษาผลการดำเนินงานในอดีตของบริษัทที่อยู่ในรายการหุ้นที่คุณสนใจ
จงมองหาความแน่นอนในตลาดที่ไม่แน่นอน ธุรกิจจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาวเท่านั้น

6. จงมองหาบริษัทที่มี… แฟรนไชส์
ธุรกิจบางประเภทนี้ จะเป็นเสมือนธุรกิจที่มีกำแพง และคูเมืองล้อมรอบอยู่ ซึ่งสามารถป้องกันศัตรูได้
ธรกิจที่เป็นแฟรนไชส์ ... ต้องขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่
1.) จำเป็นหรือตอบสนองความต้องการ
2.) ไม่ต้องการเงินลงทุนที่มากเกินไป
3.) เป็นผู้นำตลาด และไม่มีคู่แข่งที่ใกล้เคียง
4.) สามารถขึ้นราคาสินค้าหรือบริการได้อย่างอิสระ

7. ซื้อหุ้นโลเทค ไม่ใช่ … หุ้นไฮเทค
เขาจะหลีกเลี่ยงบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงบ่อย และลงุทนในธุรกิจ “คลื่นลูกเก่า”
บริษัทใช้เวลาเป็นทศวรรษ เพื่อที่จะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่
ในโลกของบัฟเฟตต์ การประสบความสำเร็จในการลงทุน
มักจะเกี่ยวกับเครื่องของ อิฐ พรม สี และลูกอม (ซีส์ แคนดี้)
และไม่ควรถูกยั่วยุด้วยความอยากรวยเร็ว หรือไปสนใจบริษัทที่ไม่สามารถที่จะคาดเดาอนาคตได้

8. จงหลีกเลี่ยงการลงทุนในแบบที่บัฟเฟตต์เรียกว่า “เรือของโนอาร์”
คือ ซื้อโน่นนิดนี่หน่อย จะดีกว่าถ้าลงทุนมาก ๆ ในหุ้นน้อยตัว
เมื่อคุณมั่นใจว่า ธุรกิจนั้นมีความเข้มแข็ง
จงมั่นใจ และอย่าลังเลที่จะซื้อหุ้นเพียงไม่กี่ตัว …ในจำนวนที่มากๆ
แทนที่จะซื้อหุ้น … 15-20 บริษัทที่พอใช้ได้

9. ฝึกที่จะอยู่นิ่ง
สัญญาณของความสำเร็จในการลงทุน คือ
ความสามารถที่จะปล่อยวางให้เวลาผ่านไปโดยไม่ต้องเคลื่อนไหว
อย่าซื้อขาย เพราะเห็นแก่กำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ
การซื้อขายมาก ๆ เป็นเครื่องหมายการค้าของนักลงทุนที่โลเล
ซึ่งมักจะจบลงด้วยการขาดทุนมากกว่าจะกำไร

10. อย่ามอง … ราคาหุ้น
ราคาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของตัววิ่ง แต่การลงทุนเป็นอะไรที่มากกว่าราคา
ให้เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า หลีกเลี่ยงจากตัววิ่ง และละเว้นจากการดูราคาหุ้นทุก ๆ วัน
วอเร็น บัฟเฟตต์ ไม่เคยรู้ว่า บริษัท เบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ของเขาซื้อขายกันที่ราคาเท่าไร ?
ไม่ว่าจะเป็นวานนี้ วันนี้ หรือวันพรุ่งนี้ แต่เขาสนใจว่าจะซื้อขายกันที่ราคาเท่าใดในทศวรรษหน้า
เพราะนั่นคือการวัดศักยภาพ และมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท

11. มองตลาดหุ้นขาลง ให้เป็นโอกาส
ตลาดหุ้นขาลงไม่ได้ฆ่าใคร แต่กลับเป็นโอกาสในการซื้อหุ้น
ถ้าผู้คนเริ่มวิ่งหนีออกจากหุ้นดี ๆ จงเตรียมพร้อมที่จะลุยไปกับหุ้น
จงมองหาบริษัทที่มีคุณภาพที่กำลัง “ลดราคา” นั่นหมายถึง พื้นฐาน และคุณภาพของทีมบริหาร
“นักลงทุนจะไม่ขาดทุน เมื่อตลาดปรับตัวลง จะมีก็เพียงนักเก็งกำไรเท่านั้นที่จะขาดทุน”

12. อย่าตีบอลทุกลูกที่ขว้างมา
บัฟเฟตต์ชอบเปรียบเทียบแนวทางการลงทุนของเขากับเรื่องของเบสบอล
เขาเปรียบนักลงทุนว่าเหมือนกับผู้เล่นที่ถือไม้
และพร้อมที่จะตีลูกทุกลูก…ที่ถูกขว้างเข้ามาหา
ในขณะที่ตลาดหุ้นก็เหมือนกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องขว้างลูกมาให้ …. นักลงทุนตีอยู่ตลอดเวลา
เขาแนะนำว่า “อย่าตีบอลทุกลูกที่ขว้างมา”
จงอดทนแล้วปล่อยให้ลูกบอลที่ตียาก ๆ ถูกขว้างผ่านไป
ให้รอเฉพาะ … ลูกสวย ๆ ตีง่าย ๆ ที่ถูกขว้างมาแล้วค่อยตี

13. อย่าสนใจเรื่องใหญ่ ๆ จงสนใจแต่…เรื่องเล็ก ๆ
เรื่องใหญ่ ๆ อย่างเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจ
เป็นเรื่องภายนอกธุรกิจ อย่าไปใส่ใจกับมัน
จงสนใจแต่เรื่องเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง

14. บัญญัติ 10 ประการ ในการดูบริษัท
บัฟเฟตต์ จะมองหาธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับผู้บริหารที่ยิ่งใหญ่เสมอ ดูได้ดังนี้
1.) ทีมผู้บริหารทำงานเพื่อผู้ถือหุ้น หรือทำงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเขาเอง ?
2.) ผู้บริหารใช้งบประมาณของบริษัทอย่างรอบคอบ หรือเป็นผู้บริหารที่ใช้เงินสิ้นเปลือง ?
3.) ผู้บริหารทุ่มเท เพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้น และใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสมหรือไม่ ?
4.) ผู้บริหารมีโครงการซื้อหุ้นคืน และไม่ออกหุ้นใหม่ เพื่อที่จะทำให้มูลค่าของหุ้นมีแต่สูงขึ้น ?
5.) ผู้ถือหุ้นถูกปฏิบัติอย่างหุ้นส่วน หรือเป็นเพียงแค่หุ่นไล่กา?
6.) รายงานประจำปีของบริษัท เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาหรือไม่?
7.) ผู้บริหารรายงานข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้อง หรือพยายามปกปิดข้อมูลความเป็นจริง?
8.) ประเมินทีมผู้บริหารก่อนที่คุณจะลงทุน
9.) มองหาบริษัทที่เป็นมิตรกับผู้ถือหุ้น
10.) หลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่มีประวัติไม่ดี

15. บัฟเฟตต์ บอกว่า วอลสตรีทเป็นที่ๆ เดียวที่คนซึ่งมาด้วยรถ Rolls-Royces
ฟังคำแนะนำของคนซึ่งเดินทางมาด้วยรถไฟใต้ดิน
อย่าสนใจกราฟ
กุญแจของการลงทุน คือ ... วินัย และความอดทน
ให้ค้นหา … ความแตกต่างระหว่าง มูลค่าของธุรกิจ vs. ราคาของหุ้นในตลาด

16. ฝึกที่จะคิดให้เป็นอิสระ
อยู่ให้ห่างจากฝูงชนที่แตกตื่น
ถ้าไม่อย่างนั้น ความอลหม่านจะมาเยือนคุณและการลงทุนของคุณ
ทำการบ้านของคุณ
และตัดสินใจเลือกการลงทุนด้วยตัวคุณเอง

17. จงอยู่ในขอบเขตความรอบรู้ของคุณ
จงสร้างโซนของความชำนาญขึ้นมา แล้วอยู่แต่ในโซนนั้น
และอย่าโทษตัวเองถ้าพลาดโอกาสดี ๆ ที่เกิดขึ้นนอกโซนที่คุณสร้างขึ้น
จดรายชื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมที่คุณรู้สึกสบายใจด้วย
อย่าสร้างข้อยกเว้นให้กับขอบเขตความรอบรู้ของคุณ
เล่นเกมของคุณ ไม่ใช่เล่นเกมของคนอื่น

18. อย่าสนใจการพยากรณ์ตลาดหุ้น
การทำนายราคาหุ้น หรือหุ้นกู้ในระยะสั้น ๆ นั้นไร้ประโยชน์
อย่าให้การพยากรณ์มายุ่งเกี่ยวกับ ... การตัดสินใจการลงทุนของคุณ
เอาเวลาไปใช้กับการวิเคราะห์ประวัติผลการดำเนินงานของบริษัทดีกว่า
พัฒนากลยุทธ์การลงทุนโดยไม่ต้องพึ่งพาภาพรวมการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น

19. รู้จักกับ “นายตลาด” และ “ราคาถูกที่ปลอดภัย (Margin of Safety)”
เมื่อเกิดความสับสน จงนึกถึงแนวความคิดของ เบน เกรแฮม
ในเรื่อง “นายตลาด” และให้มองหา “Margin of Safety”
รอจนกว่าเวลาของคุณจะมาถึง คอยจนกว่านายตลาดจะหดหู่
และทำให้ราคาของหุ้นลดลงมากพอ
ที่จะสร้างโอกาสในการซื้อหุ้นในราคาที่ถูกจนปลอดภัย ... ในปริมาณที่เหมาะสม

20. จงตื่นกลัวเมื่อคนอื่นกำลังโลภ และจงโลภเมื่อคนอื่นกำลังตื่นกลัว
คุณสามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำว่า ... ใครจะโลภ ตื่นกลัว หรือโง่เขลา
คุณแค่ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไร หรือกำลังเป็นอะไรอยู่เท่านั้น
ซื้อเมื่อคนอื่นกำลังขาย ... และ …ขายเมื่อคนอื่นกำลังซื้อ
จงเตรียมพร้อมที่จะลงทุนอย่างรวดเร็ว เมื่อโอกาสนั้นมาถึง

21. อ่าน อ่านให้มาก แล้วคิดให้ดี
บัฟเฟตต์ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงต่อวันในการอ่านหนังสือ
และใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงในการคุยโทรศัพท์ ส่วนเวลาที่เหลือหมดไปกับการ “คิด”
อุตสาหกรรมการลงทุน นั้นไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ
การที่จะลงทุนนั้นต้องสะสมความรู้
และยังมีสิ่งที่คุณไม่รู้อีกมากมาย ซึ่งพร้อมที่จะให้คุณค้นพบ

22. ใช้แรงม้าของคุณให้เต็มที่
คนทั่ว ๆไปมี “เครื่องยนต์ขนาด 400 แรงม้า”
แต่สามารถใช้ได้เพียง 100 แรงม้าเท่านั้น
ใครก็ตามที่สามารถใช้แรงม้าได้เต็มที่จากเครื่องยนต์ขนาดแค่ 200 แรงม้า
ก็สามารถทำได้ดีกว่าคนอื่น ๆ มาก

23. อย่าทำพลาด จงเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น
ให้ความสำคัญกับการศึกษาความผิดพลาด และเรียนรู้ที่จะไม่ทำมัน
จงระวังคำสัญญาที่พร่ำบอกเกี่ยวกับการรวยเร็ว และผลตอบแทนที่สูงลิ่ว
ซึ่งมันมักจะมาควบคู่กับความเสี่ยงก้อนโตเสมอ
จงกระตือรือร้นที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยตัวคุณเอง
และอย่าสละอำนาจการควบคุมพอร์ตการลงทุนของคุณไปให้คนอื่น
จับตาดูต้นทุนอยู่เสมอ
“จงเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น
มันเป็นสิ่งที่ไร้สาระ….ที่จะทำ ในสิ่งเดียวกับ….ที่คนอื่นเคยทำผิดมาแล้ว”

24. ก้าวสู่การเป็นนักลงทุนผู้รอบรู้
สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการลงทุนแบบรอบรู้ก็คือ
มันสามารถสร้างความมั่งคั่งให้คุณได้ ถ้าคุณไม่รีบร้อนจนเกินไป
จงต่อสู้กับเสียงรบกวนต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะแห่งความเป็นจริง
ฝึกที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
จดสิ่งต่าง ๆ ที่คุณทำถูก จดสิ่งต่าง ๆ ที่คุณทำผิด
จงทำวันนี้ให้มาก และทำวันหลังให้น้อยลง
การลงทุน คือ การหลีกเลี่ยงปัญหาทางธุรกิจให้ได้มากที่สุด
และแก้ปัญหาทางธุรกิจให้น้อยที่สุด
มันเกี่ยวกับการหาและกระโดดข้าม “รั้วที่สูงแค่ 1 ฟุต”
ไม่ใช่การพัฒนาความสามารถพิเศษเพื่อที่จะกระโดดข้ามรั้วที่สูง 7 ฟุต

ขอบคุณข้อมูลจากบล็อกของ ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร


22 ธันวาคม 2558

เศรษฐี สอนเรื่อง connection

เศรษฐีคนหนึ่ง สอนเรื่อง connection เมื่อนานๆมาแล้ว...

เรียกแบบธุรกิจหน่อยหลายๆคนเรียกว่า connection
แต่อาจารย์เห็นว่ามันตื้นเขินไปสำหรับคำว่าทุนสังคม
"ยังไงเหรอครับอาจารย์ ผมไม่เข้าใจ"

จะกล่าวให้ครบถ้วน ทุนสังคมมีทั้งหมด4ระดับ
ชั้นล่างสุด คือสังคมแบบ take&take หรือสังคมแบบ"กูจะเอา" สังคมแบบนี้ติดลบ เพราะต่างคนต่างคิดจะรับอย่างเดียว สังคมแบบนี้จึงอยู่ได้ไม่นานก็ล่มสลา

สูงขึ้นมาหน่อย คือสังคมแบบ give&take สังคมแบบ"ให้ต่างตอบแทน" ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่านี้คือการสร้างconnection
สังคมแบบนี้มีทุนเสมอตัว ยากที่จะก้าวหน้า เพราะผู้ให้หวังสิ่งตอบแทนรูปใดหนึ่งๆกลับมาเสมอ

สังคมแบบที่สาม "give&give" สังคมที่มีแต่ให้ เป็นทุนสังคมเชิงบวกที่ก่อให้เกิดประโยชน์
แต่ยังไม่ดีที่สุด
"ยังมีกว่านี้อีกเหรอครับ"

ทุนสังคมแบบที่สูงที่สุดเรียกว่า "give&forget"
เป็นสังคมที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด มีคนเพียง3%บนโลกที่รู้ถึงคุณค่าของทุนสังคมแบบนี้
"ยังมีสังคมแบบนี้อยู่จริงๆเหรอครับ"
"มีสิ คนในรูปที่มีทุกบ้านอย่างไงล่ะ ตัวอย่าง give&forget"

มหาเศรษฐียิ้มเล็กๆที่มุมปาก



ที่มา:  forward email

06 ธันวาคม 2558

เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์บุกพระอารามหลวง...วัดยานนาวา

เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้เขียนถึงเรื่องวัดยานนาวาซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีว่ามีแนวคิดที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ มาวันนี้ (27 พ.ย. 58) ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ไม่เชื่อก็ดูรูปซึ่งถ่ายจากที่ติดตั้งบนดาดฟ้าอาคารที่พักแม่ชีผู้ปฏิบัติธรรม ระบบแผงโซลาร์นี้หากมองจากลานวัดจะไม่เห็นเลย ดังนั้น จึงไม่บดบังทัศนียภาพอันสวยงามของวัดแต่อย่างใด 




พระพรหมวชิรญาณเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ได้แสดงความรู้สึกกับท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ (จากโรงเรียนศรีแสงธรรม) ผู้ออกแบบและประสานงานการติดตั้งว่า“อาตมาคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2518 เมื่อครั้งไปประชุมสมัชชาคณะสงฆ์ไทย ที่สหรัฐอเมริกา แต่ตอนนั้นราคามันแพงมาก ในวันนี้ความฝันของอาตมาเป็นจริงแล้ว”

ระบบที่ติดตั้งครั้งนี้มีขนาด 27 กิโลวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 250 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 1.4 ล้านบาท แผงโซลาร์ยี่ห้อดังแต่เป็นของมือสอง สำหรับอินเวอเตอร์ท่านเจ้าอาวาสเลือกใช้ยี่ห้อดัง (ราคาแพงจำนวน 3 ตัวๆ ละ 108,000 บาท, 3 เฟส) อุปกรณ์ดังกล่าวผ่านการรับรองคุณภาพจากการไฟฟ้าฯ เรียบร้อยครับ เฉลี่ยต้นทุนอยู่ที่ 51,852 บาทต่อกิโลวัตต์

ตามข้อมูลที่รับทราบมา คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 1,492 หน่วยต่อหนึ่งกิโลวัตต์ ดังนั้นคาดว่าโครงการนี้จะผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 3,357 หน่วย หรือวันละ 112 หน่วย แต่จากการทดลองระบบเมื่อวันที่ 27 ซึ่งเป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส พบว่าผลิตได้จริงเพียง 103 หน่วย (ต่ำกว่าเกณฑ์ 9 หน่วย แต่สูงกว่าตัวเลขของทางราชการคือ 100 หน่วย) อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ คาดว่าจะได้มากกว่านี้ เพราะขณะที่ทดสอบพบว่ามีชุดหนึ่งให้ไฟฟ้าได้น้อยกว่าอีก 2 ชุดอย่างชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะว่าการเชื่อมต่อยังไม่สนิทดีพอ ทำให้ไฟฟ้าไหลไม่ดี กำลังตรวจสอบและแก้ไขกันอยู่ครับ

เล่ามาถึงตอนนี้ ผมว่ามีประเด็นที่ควรทำความเข้าใจ 4 ประเด็น คือ (1) จะคุ้มทุนภายในกี่ปี (2) การทำงานของระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างไร (3) อุปสรรคในประเทศไทย (4) จะขยายผลในวงกว้างได้อย่างไร


หนึ่ง จะคุ้มทุนภายในกี่ปี

โดยปกติวัดยานนาวาเสียค่าไฟฟ้าเดือนละเกือบ 4 แสนบาท เนื่องจากวัดเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ค่าไฟฟ้าจึงถูกกว่าบ้านอยู่อาศัย ผมลองใช้โปรแกรมคำนวณค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงพบว่า โดยเฉลี่ยวัดนี้จ่ายค่าไฟฟ้า (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หน่วยละ 3.68 บาท ในขณะที่บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วยจะเสียค่าไฟฟ้าและภาษีเฉลี่ยหน่วยละ 4.50 บาท (ซึ่งถูกที่สุดในรอบ 3-4 ปี คือค่าเอฟทีติดลบ)

โครงการดังกล่าวของวัดยานนาวา หากผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 3,357 หน่วย ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 12,354 บาท ดังนั้น จึงต้องใช้เวลา 113 เดือน หรือประมาณ 9 ปีครึ่งจึงจะคุ้มทุน ทั้งนี้อยู่บนสมมติฐานว่า ค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดไป ไม่คิดดอกเบี้ย และอุปกรณ์ต่างๆ ไม่มีอะไรเสียหายเลย

อนึ่ง อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 25 ปี แต่อายุการใช้งานของอินเวอเตอร์ประมาณ 7-10 ปี ดังนั้น กรณีนี้หรือ “วัดยานนาวาโมเดล” คงจะช่วยให้เรามีความชัดเจนมากขึ้นในการตัดสินใจ

คราวนี้ลองสมมติว่า เราติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ (ไฟ 1 เฟส บนหลังคาบ้าน) ลงทุน 150,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 373 หน่วย ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 1,556 บาท ดังนั้น ต้องใช้เวลา 96 เดือน หรือ 8 ปีจึงจะคุ้มทุน ที่เหลือประมาณ 14 ปีเป็นการใช้ไฟฟ้าฟรีครับ (เผื่อค่าการเปลี่ยนอินเวอเตอร์แล้ว)

หมายเหตุ การคิดคำนวณดังกล่าวไม่ได้รบกวนหรือต้องการให้รัฐบาลชดเชยหรือลดภาษีใดๆ เลย นั่นหมายความว่า กิจการโซลาร์เซลล์สามารถยืนแลกหมัดกับกิจการไฟฟ้าหลักได้เลย แต่อย่าเพิ่งดีใจไป ปัญหาอื่นยังมีอีกเยอะ ค่อยๆ อ่านต่อไปครับ


สอง การทำงานของระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างไร

ผมมีแผนผังแสดงการทำงานของระบบการผลิตไฟฟ้ามาให้ดูด้วย กรุณาอ่านและดูรูปประกอบอย่างช้าๆ ครับ



ไฟฟ้าที่เราผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาจะต้องใช้แสงแดดเป็นตัวผลิต ไม่มีแสงแดดก็ผลิตไม่ได้ ไฟฟ้าที่ได้จะเป็นกระแสตรง แต่อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านส่วนใหญ่เป็นกระแสสลับ ดังนั้นจึงต้องมีตัวแปลงไฟฟ้าให้เป็นกระแสสลับ คือ อินเวอเตอร์ จบปัญหาไปหนึ่งอย่างนะครับ

แต่ยังมีปัญหาที่สองอีก คือ ในเวลากลางวันซึ่งมีแดดผลิตไฟฟ้าได้ แต่คนในบ้านไม่อยู่บ้าน จึงไม่มีการใช้ไฟฟ้า ครั้นเวลาคนกลับเข้าบ้านในตอนค่ำ ดวงอาทิตย์ก็กลับบ้านเขาเหมือนกัน คนจึงไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วจะทำอย่างไรกันดี

ไฟฟ้ามีคุณสมบัติเป็นพลังงานและเหมือนกับสสารทั่วๆ ไป คือต้องการที่อยู่ หรือที่ให้มันได้ทำงานออกแรงขับเคลื่อนสิ่งอื่น ซึ่งเป็นไปตามหลักฟิสิกส์พื้นฐาน ครั้นจะมีที่เก็บไฟฟ้าคือแบตเตอร์รี่ก็ไม่คุ้ม เพราะนอกจากจะแพงและเปลี่ยนบ่อยแล้วยังมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วยซึ่งมนุษย์ยุคนี้ไม่ควรทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าที่เราผลิตได้บนหลังคากับไฟฟ้าที่มาจากสายส่ง (กรุณาดูรูป) ปัญหาที่สองก็จบไปในทันใด เพราะว่าสายส่งของการไฟฟ้าฯ จะทำหน้าที่เป็นแบตเตอร์รี่เสียเอง คือไฟฟ้าที่เราผลิตได้ในตอนกลางวัน (แต่ไม่ได้ใช้)จะไหลเข้าสู่สายส่งไปให้บ้านที่อยู่ใกล้ๆ ใช้ หรือจะเรียกว่าเราเอาไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปฝากไว้ในสายส่ง ในตอนค่ำเราก็เอากลับมาใช้เอง

ทุกครั้งที่ไฟฟ้าไหลออกจากบ้านไปสู่สายส่ง มิเตอร์ไฟฟ้าก็จะหมุนถอยหลัง (ในกรณีที่เป็นจานหมุน) และทุกครั้งที่ไฟฟ้าไหลจากสายส่งไหลเข้าสู่บ้าน (ซึ่งเป็นระบบที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้หากไม่มีการติดโซลาร์เซลล์) มิเตอร์ก็จะหมุนเดินหน้า ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเช่นนี้ทุกวัน เมื่อถึงเวลาจดบันทึกการใช้ไฟฟ้า (เดือนละครั้ง) ตัวเลขสุทธิเป็นเท่าใด ก็จ่ายค่าไฟฟ้ากันไปตามนั้น ระบบที่ว่านี้เรียกว่าระบบ Net Metering ซึ่งนับถึงกลางปี 2014 ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการออกกฎหมายรับรองแล้วถึง 44 รัฐใน 50 รัฐ ส่งผลให้บ้านพักอาศัยมีการติดโซลาร์เซลล์กันมากขึ้น กล่าวคือค่าเฉลี่ยในปี 2014 ทุก 2 นาทีจะมีผู้ติดโซลาร์เซลล์ขนาด 4.5 กิโลวัตต์เพิ่มขึ้น 1 หลัง ในขณะที่เมื่อปีก่อน มีค่าเฉลี่ยนานกว่าคือ 3 นาที

อาจมีผู้สงสัยว่า ระบบดังกล่าวทำงานโดยอัตโนมัติหรือไม่ คำตอบคืออัตโนมัติ ไฟฟ้าก็เหมือนกับน้ำคือไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ ไฟฟ้าก็จะไหลจากที่ซึ่งมีศักดาไฟฟ้า (Voltage) สูงไปสู่ศักดาต่ำ ไฟฟ้าที่เราผลิตเองมีศักดา 240 โวลต์ ในขณะที่ไฟฟ้าจากสายส่ง กว่าจะเข้าบ้านเราศักดาไฟฟ้าประมาณ 220 โวลต์หรือต่ำกว่า

ในกรณีของวัดยานนาวา ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีประมาณ 3% ของไฟฟ้าจากสายส่ง ซึ่งถือว่าน้อยมาก ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมเชื่อว่า ไฟฟ้าที่ทางวัดผลิตได้จะถูกนำมาใช้ก่อนจนหมดในตอนกลางวันนั่นแหละ คงไม่เหลือให้ต้องไปฝากไว้ในระบบสายส่ง (หรือไม่ทำให้จานหมุนถอยหลัง ดังที่ได้อธิบายแล้ว) ไฟฟ้าส่วนที่ไม่พอใช้ก็จะเป็นไฟฟ้าจากระบบสายส่งโดยอัตโนมัติ



สาม อุปสรรคในประเทศไทย

แม้สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ผ่านมติอย่างท่วมท้นให้ใช้ระบบ Net Metering ตามโครงการ “โซลาร์รูฟเสรี” โดยให้มีการชดเชยราคาเพื่อให้เกิดแรงจูงใจพอสมควรแก่ผู้ติดตั้ง แต่ทางรัฐบาลก็ไม่ยอมนำไปปฏิบัติ สร้างความผิดหวังให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนมกราคม 2558 มาถึงวันนี้ ต้นทุนต่างๆ ได้ลดลงไปอีก จากการศึกษาของผมเอง ผมมั่นใจว่า แม้ไม่มีการชดเชยราคา และไม่มีการลดหย่อนทางภาษีเลย เจ้าของบ้านก็ยังมีแรงจูงใจพอที่จะติดตั้ง

ผมอยากจะสรุปปัญหาที่เกิดจากภาครัฐในเรื่องนี้ ดังนี้ครับ

1. ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ได้เปิดโควตาให้ติดตั้งบนหลังคาได้ โดยมีการรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน แต่มีการจำกัดจำนวน (ซึ่งมีจำนวนน้อย คือ 100 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ) นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน จนคนไม่อยากขอใช้บริการ ที่หนักกว่านี้ก็คือ เขารับซื้อแค่ปีละแค่ 1,300 หน่วยต่อหนึ่งกิโลวัตต์ แต่เราผลิตได้ถึง 1,492 หน่วย ที่เหลือเขาก็รับไปฟรีๆ กำไรของผู้ลงทุนก็ปริ่มๆ น้ำอยู่แล้ว จึงเป็นการบั่นทอนความอยากลงไปอีก

2. ในกรณีที่ไม่ประสงค์จะขายไฟฟ้า (เช่น กรณีวัดยานนาวา) ต้องยื่นแบบฟอร์มเพื่อแจ้งให้ กกพ.ทราบพร้อมมีคำรับรองจากวิศวกรไฟฟ้าและวิศวกรโยธาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางเรื่องไฟฟ้าและความแข็งแรงของอาคาร (ซึ่งเป็นบ้านเราเอง เราย่อมรู้ดี) เมื่อผ่านการตรวจอย่างถูกต้องแล้วต้องยื่นต่อการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าภูมิภาค เพื่อตรวจสอบคุณภาพของอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย (ประเด็นนี้มีเหตุผล) เวลาที่ใช้ดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์

ปัญหาของผู้ไม่ประสงค์จะขายไฟฟ้าคือ มีความไม่แน่นอนในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับมิเตอร์วัดไฟฟ้า บางรายพบว่า ทางการไฟฟ้าฯ ได้เปลี่ยนมิเตอร์จากแบบจานหมุนไปเป็นแบบดิจิตอล คือไฟฟ้าที่เราผลิตได้จะไหลไปอยู่ในสายส่งได้ แต่มิเตอร์ไม่สามารถลดตัวเลขมาได้

นั่นหมายความว่า ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ถูกปล่อยไปขายให้เพื่อนบ้านข้างเคียงใช้ได้ แต่เจ้าของบ้านที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้รับเงิน การไฟฟ้าฯ ได้รับเงินไปแทน มันเป็นธรรมไหมครับ?

ถ้าบ้านหลังใดปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอย่างถูกต้อง ตามที่ได้กล่าวแล้วในข้อ (2) เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ โดยที่บ้านหลังนี้ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 400 หน่วย (หรือเดือนละ 1,679 บาท หน่วยละ 4.20 บาท) แต่ถ้าโชคร้ายถูกเปลี่ยนมิเตอร์เป็นระบบดิจิตอล แม้จะผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 373 หน่วย ถ้าใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันๆ ละ 4 หน่วย (เดือนละ 120 หน่วย) ต้องใช้เวลาถึง 25 ปีจึงจะคุ้มทุน ซึ่งถ้าคิดให้ละเอียดก็ไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้เลย

หนทางที่จะคุ้มทุนคือต้องติดให้น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ใช้ แบบเดียวกับกรณีวัดยานนาวา จึงนับว่าน่าเสียโอกาสที่ประชาชนจะสามารถพึ่งตนเองด้านไฟฟ้า(ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง) และจะช่วยกันลดปัญหาโลกร้อนได้ เพราะนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐเท่านั้นเอง

ข้ออ้างของทาง กกพ.มี 2 ข้อ คือ (1) สายส่งเต็ม เรื่องนี้เป็นการหลอกลวงครับ เพราะประเทศเยอรมนีเขาจะให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขายไฟฟ้าได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน พวกถ่านหินขายทีหลัง แต่บ้านเราทำสลับกัน ให้ของสกปรกและรายใหญ่ไปก่อน (2) เกรงว่าจะเกินความสามารถของหม้อแปลงไฟฟ้า เรื่องนี้บริษัทผู้ผลิตได้เผื่อไว้แล้ว 20% ดังนั้น ถ้าไฟฟ้าจากหลังคาของชุมชนเพิ่มขึ้นไม่ถึง 20% หม้อแปลงนี้ก็ไม่มีปัญหา ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเกิน 20% และถ้าเกินจริงก็เปลี่ยนซิ


สี่ จะขยายผลในวงกว้างได้อย่างไร

เท่าที่ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณได้เล่าให้ผมฟัง ทำให้ทราบว่า ทางเถรสมาคมซึ่งพระพรหมวชิรญาณเป็นกรรมการอยู่ ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก และทราบว่าพระอารามหลวงชั้นโทและชั้นเอกอย่างน้อย 2 วัดได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก มีอะไรคืบหน้าผมจะนำมาเล่าครับ

ผมสมมติว่ามีวัดจำนวน 1 พันวัดติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเท่ากับวัดยานนาวา ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้ารวมกันได้ปีละเกือบ 150 ล้านบาท

ระหว่างที่คุยกับท่านพระครูฯ ท่านเล่าว่าเทียนพรรษาของบางวัดเพียง 1 แท่งที่มีการแกะสลักอย่างสวยงาม มีราคาแท่งละกว่า 1 แสนบาท แล้วก็ไม่ได้ใช้งานเลย ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นโซลาร์เซลล์ก็จะดีมากเลย

ขณะนี้ ถือว่าวัดเป็นผู้นำทางปัญญาในด้านนี้ ผมไม่อยากพูดถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่มีมาก แต่น่าเสียดายที่พวกเขาขาดความสนใจ ทั้งๆ ที่มีปัญญาล้นฟ้า


สรุป

ตามที่ผมได้เคยนำเสนอมาแล้วว่า เราควรเอาตัวอย่างดีๆ ของต่างประเทศมาให้คนไทยทราบ วันนี้ผมขอนำเรื่องราวดีๆ ในประเทศอินเดียมาเป็นการสรุปใน 2 ประเด็นคือ (1) ถ่านหินมีราคาแพงขึ้นจนบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าไม่สามารถผลิตจากถ่านหินในราคาที่เคยประมูลไว้ จึงต้องขายเหมืองถ่านหินไป และ (2) รัฐบาลอินเดียกำลังเพิ่มการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก บริษัทที่ขายเหมืองถ่านหินทิ้งๆ ไป จึงหันมาลงทุนในโซลาร์เซลล์แทน ในราคาที่ถูกกว่าในประเทศไทยด้วยซ้ำ รายละเอียดสั้นๆอยู่ในสไลด์ครับ บ้านนี้เมืองนี้ต้องเหนื่อยกันมากกว่าปกติ สิ่งดีๆ จึงจะเกิดได้ ขอบคุณครับ





ที่มา http://goo.gl/e3Ghnq

“อีกไม่เกิน 15 ปีระบบผลิตไฟฟ้าและการขนส่งในปัจจุบันจะเจ๊ง” นักวิชาการ U. Stanford

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบสาระโดยย่อของบทความนี้ก่อนที่จะตัดสินใจว่าควรจะอ่านต่อไปหรือไม่ ผมขอนำเสนอด้วยแผ่นสไลด์เพื่อเป็นบทสรุปด้วยปกหนังสือเล่มหนึ่ง ดังภาพครับ 




ผมเองยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ผมได้ฟังการบรรยายของผู้เขียน (Tony Seba) ซึ่งได้รับเชิญจากองค์กรต่างๆ จากหลายทวีปมาหลายรอบแล้ว ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับผู้เขียน และอยากให้สังคมไทยได้ศึกษาและจริงจังกับเรื่องนี้ให้มากๆ

แต่ในขณะที่ชาวโลกกำลังประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นเรื่องความเป็นความตายและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชาวโลก แต่ดูเหมือนว่าทางราชการของประเทศไทยเรา รวมทั้งสื่อกระแสหลักไม่ได้ใช้โอกาสนี้เพื่อการเรียนรู้และปรับตัวเองอย่างเอาจริงเอาจังเท่าที่ควรสื่อหลายรายการที่เป็นการพูดคุยถกเถียงแทนที่จะยกเอาเรื่องโลกร้อนมาพูดคุยกันในโอกาสที่สำคัญนี้เพื่อให้เป็นกระแสสังคม แต่กลับนำเรื่องที่สำคัญน้อยกว่าและสามารถรอเวลาอื่นได้มาพูดกัน สรุปแล้วก็คือการไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อนนั่นเอง

ผมใช้คำว่า “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ซึ่งพจนานุกรมฉบับหนึ่งให้ความหมายว่า “ภาวะหรือเหตุการณ์ที่อยู่ในระยะต่อกันถือว่าเป็นตอนสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพหรือความคิดเป็นต้น เช่น วัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่” สิ่งที่ผมหมายถึงก็คือ เป็นจังหวะก้าวสำคัญที่ “วัยรุ่น” หรือ โลก หรือ ประเทศ จะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างถาวร

หลายท่านอาจจะคิดว่า ผลการประชุมครั้งนี้อาจจะไม่มีอะไรต่างกับครั้งก่อนๆ คือไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่ครั้งนี้ผมมั่นใจว่าจะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาครับ เพราะถ้าไม่เอาจริงแล้ว ชาวโลกก็จะตายหมู่ด้วยภัยพิบัติและวิกฤตต่างๆ อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็เดินยุทธศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง คือรณรงค์ให้ถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นต้นเหตุของโลกร้อนอย่างได้ผลมากจริงๆ

กลับมาเน้นดูประเทศไทยเราครับ ผมได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อเสนอของประเทศไทยไว้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่า “เต็มไปด้วยกลลวงและหละหลวมมาก” กล่าวคือด้านหนึ่งไปนำเสนอแผนที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำจริงๆ และหลอกลวงชาวโลก แต่อีกด้านหนึ่งก็กำลังรณรงค์ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ที่จังหวัดกระบี่ และขนาดใหญ่มากคือ 2,200 เมกะวัตต์ (ซึ่งถือว่าเป็น Ultra Mage Power Plant) ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในช่วงใกล้ๆ นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งก็ไม่เคยปรากฏมาก่อนอย่างไม่เกรงและอายต่อกระแสโลก

ที่สำคัญกว่านั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินได้กลายเป็นสิ่งที่ตกยุคไปแล้ว แต่ทางราชการไทยกำลังจะฝืนสร้างขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมากในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เพียงเพื่อตอบผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบางกลุ่มเท่านั้นเองโดยจะเป็นภาระกับสังคมไทยในอนาคต คล้ายๆ กับกรณีโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่สร้างเสร็จแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ได้

ผมจะลำดับเรื่องเทคโนโลยีและบูรณาการองค์ความรู้ที่ผมได้ศึกษามาก่อนกับเรื่องราวในหนังสือของ Tony Seba เป็นข้อๆ ดังนี้ครับ



หนึ่ง บทสรุปในหนังสือของ Tony Seba

เขาได้กล่าวถึงเทคโนโลยี 8-10 ชนิดที่เรียกว่าเป็น “Disruptive Technology” ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีที่พลิกโครงสร้างธุรกิจ อุตสาหกรรมและสังคมในเวลาอันรวดเร็ว เทคโนโลยีเก่าจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งผมขอใช้คำว่าเป็น “เทคโนโลยีที่พลิกโฉมโลก” เทคโนโลยีดังกล่าวได้แก่ โซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เนต เป็นต้น

รถม้าได้ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ ฟิล์มถ่ายรูปโกดัก ได้ถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิตอล โทรศัพท์บ้านได้ถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเราทั้งหลายต่างก็ทราบดีและยอมรับกันมาแล้ว แต่เมื่อมองไปข้างหน้า คุณ Tony Seba ได้สรุป ดังนี้

1. รถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มเบียดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปี 2017-2018

2. ภายในปี 2030 รถยนต์ใหม่ทั้งหมดจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

3. น้ำมันจะตกยุคภายในปี 2030

4. ภายในปี 2030 ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์จะมีราคาที่เขาเรียกว่า “GOD Parity” (ราคาเทียบเท่ากับพระเจ้า) ซึ่งหมายถึง ต่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ มีค่าเท่ากับศูนย์ ก็ยังแพงกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพราะว่าต้นที่เกิดจากสายส่งและการบริการ (Transmission and Distribution)แพงกว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้บนหลังคา

จากการค้นคว้าของผมเองและเคยเขียนไปแล้วว่า ในปี 2015 ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาใน 46 เมืองใหญ่ จาก 50 เมืองใหญ่ ผลตอบแทนจากการติดโซลาร์เซลล์สูงกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ นี่แค่ปี 2015 เท่านั้นนะ แล้วในปี 2030 จะเกิดอะไรขึ้นในเมื่อต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ลดลงประมาณ 10% ต่อปี

ในประเทศไทยเราเอง ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาจะถูกไฟฟ้าจากสายส่ง การลงทุนติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายใน 7-8 ปี โดยไม่ต้องการช่วยเหลือจากรัฐ ขอเพียงอย่ากีดกันเท่านั้นเป็นพอ



สอง ด้านประสิทธิภาพพลังงานของเทคโนโลยี

เหตุผลสำคัญที่คุณ Seba ใช้ในการศึกษาก็คือประสิทธิภาพพลังงานในรถยนต์ที่เผาไหม้ภายใน พบว่าพลังงานประมาณ 80% ของพลังงานที่ใส่เข้าไปจะกลายไปเป็นความร้อนที่หม้อน้ำ (ซึ่งเราทราบกันดีแล้ว) ที่เหลืออีกประมาณ 20% เท่านั้นที่ทำให้รถยนต์เคลื่อนที่ได้ แต่ในกรณีรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งใช้มอเตอร์มันจะสลับกันครับ




ในกรณีการผลิตไฟฟ้าก็เช่นเดียว เทคโนโลยีที่มนุษย์ใช้กันอยู่นั้นได้สูญเปล่าในทันทีถึง 62% ตั้งแต่ต้มน้ำแล้ว (ดูภาพประกอบ) ยังไม่คิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่พืชใช้เทคโนโลยีสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นแบบเดียวกับเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาตั้งนานแล้ว

มันช่างน่าหัวเราะเยอะเย้ยไหม กับมนุษย์ที่ชอบอ้างว่าตนฉลาดกว่าเผ่าพันธุ์อื่น?



สาม Tony Seba พยากรณ์อย่างไร?

ในการคาดหมายอนาคต นักวิชาการจะใช้ข้อมูลในอดีต แล้วพยากรณ์ไปข้างหน้า ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีข้อมูลมากมายหลายแหล่ง แต่เพื่อให้กระชับผมขอยกข้อมูลจากกรมพลังงานของสหรัฐอเมริกามาอ้างแทน ดังสไลด์ข้างล่างซึ่งผมไม่ขอลงรายละเอียดให้ท่านที่ไม่ถนัดต้องปวดหัวเล่น




คุณ Seba ระบุว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของราคารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นค่าแบตเตอร์รี่ ดังนั้น เมื่อราคาแบตเตอร์รี่ลดลงในอัตราขนาดนี้ ลองคิดดูว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าจะลดลงขนาดไหน ที่เห็นในกราฟราคาแบตเตอร์รี่ในปี 2014 เท่ากับ $300 ต่อกิโลวัตต์ (รถ 1 คันใช้ประมาณ 40-50 กิโลวัตต์) ในปี 2024 จะเหลือเพียง $100 ต่อกิโลวัตต์เท่านั้น

นอกจากนี้คุณ Seba ยังให้ข้อมูลว่า ในขณะที่รถยนต์ธรรมดาที่ใช้น้ำมันจะมีชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ถึงประมาณ 2 พันชิ้น ซึ่งทำให้สึกหรอและต้องซ่อมบ่อย แต่รถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนดังกล่าวเพียง 18 ชิ้นเท่านั้น และในระยะทางที่เท่ากันราคาเชื้อเพลิงของรถยนต์ไฟฟ้าก็ถูกกว่าราคาน้ำมันหลายเท่าตัว

ที่สำคัญกว่านั้น ไฟฟ้าที่ใช้ในชาร์จรถยนต์มาจากโซลาร์เซลล์ผลิตเองจากหลังคาบ้าน


สี่ การคาดหมายของอดีตรัฐมนตรีน้ำมันของประเทศซาอุดีอาระเบีย

นอกจากเหตุผลของคุณ Seba แล้ว ยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อปี 2000 หรือเมื่อ 15 ปีมาแล้ว เขาผู้นั้นคือ Ahmed Zaki Yamani ซึ่งเขาอยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ถึง 1986

ในช่วงกลุ่มประเทศโอเปกขึ้นราคาน้ำมันในปีเดียวถึง 4 เท่าในปี 2516 เขาก็อยู่ในอำนาจและกล่าวกันว่า เขาคือผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกในขณะนั้น เขากล่าวว่าอย่างนี้ครับ

“สามสิบปีจากนี้ไปจะมีน้ำมันเหลือเฟือแต่ไม่มีคนซื้อ 30 ปีจากนี้จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำมัน น้ำมันจะถูกเก็บเอาไว้ใต้ดิน ยุคหินสิ้นสุดลงไม่ใช่เพราะเราขาดแคลนหิน และยุคน้ำมันจะสิ้นสุดลงไม่ใช่เพราะเราขาดแคลนน้ำมัน (เขาหยุดพูดชั่วขณะพร้อมกับสั่นหัวแล้วพูดต่อไปว่า) ผมเป็นชาวซาอุฯ ผมรู้ว่าเราจะพบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในอนาคต”

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงจาก $140 ลงมาเหลือ $40 เหรียญในปัจจุบัน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของความล้าสมัย ตกยุคของน้ำมันแล้วก็เป็นไปได้

งานเขียนของคุณ Tony Seba ยังมีสิ่งที่น่าสนใจและท้าทายอีกเยอะครับ ผมจะค่อยๆ เขียนถึงในโอกาสต่อไป วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนครับเพราะผมอยู่ในระหว่างการเดินทางในเขตที่หาอินเทอร์เน็ตยาก จึงต้องรีบส่งบทความตามสัญญาใจของผมเองว่าจะเขียนทุกสัปดาห์


ที่มา http://goo.gl/vEenFV

02 ธันวาคม 2558

คิดบวกฉบับ "พิชัย จาวลา" ก้าวรุกอสังหาฯ ที่ไม่หวั่นไหวต่อวิกฤต

แม้ วิกฤตเศรษฐกิจจะฟาดหัว ฟาดหางไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมืองเชียงใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งยังมีหลายโครงการที่ยังคงขับเคลื่อนไปได้ เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มจาวลา เชียงใหม่ กรุ๊ป ที่เริ่มปล่อยวางธุรกิจห้างขายผ้า "นิรันดร์" ย่านตลาดวโรรส หันมาเอาจริงเอาจัง ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบเต็มตัวมาได้หลายปี

โดย เฉพาะโปรเจ็กต์คอนโดมิเนียม "The Convention" มูลค่า 180 ล้านบาท ริมถนนเลียบคลองชลประทาน ก่อนถึงสนามกีฬา 700 ปี ตอบโจทย์ตลาดได้ ตรงจุด สามารถปิดการขายได้หมดตั้งแต่โครงการเริ่มวางฐานก่อสร้าง

"พิชัย จาวลา" กรรมการบริหาร กลุ่มจาวลา เชียงใหม่ กรุ๊ป กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนี้สำหรับเขาไม่มีผลต่อการลงทุน ตรงข้ามเป็นโอกาสดี ที่จะสามารถซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เก็บไว้ในราคาที่ถูกส่งผลให้ต้น ทุนทำโครงการใดโครงการหนึ่งต่ำลง สามารถขายสินค้าได้ในราคาถูก และได้กำไรพอประมาณ

เช่น โครงการคอนโดมิเนียม "The Convention" ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2 ไร่ ก็เป็นที่ดินที่ซื้อเก็บไว้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ตั้งแต่ 1-2 ปีก่อน เริ่มลงทุนก่อสร้างราวต้นปี 2551 เป็นอาคารสูง 11 ชั้น มีห้องพักทั้งหมด 79 ยูนิต สามารถปิดการขายได้ ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งจากต้นทุนที่ไม่สูงทำให้สามารถตั้งราคาขายไม่สูงมาก ระดับ 1.5-3.5 ล้านบาท โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ 100% ที่เข้ามาอยู่แบบถาวร (long stay) เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกัน ออสเตรเลีย และอังกฤษ

ขณะ เดียวกันกลางปีที่ผ่านมายังได้ลงทุนทำโครงการคอนโดมิเนียมชื่อ "Mountain Front" บนถนนเส้นคลองชลประทาน มูลค่า 260 ล้านบาท จำนวน 79 ห้อง ขณะนี้ก่อสร้าง 50% มียอดขาย 50% ราคา 1.5-6 ล้านบาท และมีอีกโครงการที่เตรียมลงทุนปลายปีเป็นคอนโดมิเนียมขนาดเล็ก พื้นที่ใช้สอย 48 ตารางเมตร สูง 7 ชั้น จำนวน 45 ห้อง มูลค่าลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ตั้งราคาขายไว้ที่ 1.5-2 ล้านบาท

"ผมคิดว่าตลาดคอนโดฯ ในเชียงใหม่ยังมีทิศทางที่ดี ถ้าของดีราคาไม่แพงไปได้อยู่ และอีกเหตุผลสำคัญคือกลุ่มต่างชาติที่มาลองสเตย์ที่มีความต้องการสินค้า ประเภทนี้สูงมาก ผมว่าเศรษฐกิจไม่น่าหวั่นอะไร ถ้าเรารู้ความต้องการลูกค้าจริงๆ ทำสินค้าดี และต้องขายไม่แพง"

ทางกลุ่ม ยังได้ลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท สร้างเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ราคาประหยัด (low cost) ภายใต้แบรนด์ B2 ซึ่งเป็นทั้งโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โดยยึดทำเลบนถนนสายอ้อมเมืองและถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ซึ่งการเดินทางสะดวกและอยู่ไม่ไกลจากสนามบินและตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก

ทั้ง นี้สาเหตุที่ตัดสินใจลงทุนทำเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ราคาประหยัดพร้อมกัน 2 โครงการ เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างหนักมีผลต่อกำลังซื้อของนักท่องเที่ยว ค่อนข้างสูง ซึ่งการทำที่พักราคาถูกหรือราคาประหยัดในช่วงนี้ไม่ได้เป็นการตัดราคาขายใน ตลาด แต่เป็นการปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังซื้อไม่มาก ระดับกลาง-ล่าง ซึ่งสามารถรองรับได้ทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไปและกลุ่มลองสเตย์ อีกประการสำคัญมองว่าการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจขาลงถือเป็นโอกาสหากทำสินค้าดี และมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะสามารถตอบโจทย์ตลาดได้และมีผลต่อตลาดในระยะยาว

พิชัยบอกว่า สำหรับโครงการ B2 ริมถนนมหิดลสายอ้อมเมือง บนพื้นที่กว่า 1 ไร่ เป็นอาคารสูง 6 ชั้น มีห้องพัก 75 ห้อง ใช้งบฯลงทุน 60-70 ล้านบาท ส่วน B2 อีกแห่งอยู่บนถนนสายซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ด้านหลังศาลปกครองใกล้กับสี่แยกรินคำ ทางกลุ่มได้ซื้อหอพักเก่ามูลค่า 15 ล้านบาท และได้รีโนเวตอาคารและห้องพักใหม่ทั้งหมดจำนวน 46 ห้อง ด้วยงบฯราว 10 ล้านบาท ทั้ง 2 แห่งเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551

พิชัย บอกว่า ทางกลุ่มจะชะลอลงทุนด้านอสังหาฯโครงการใหม่ๆ ในเชียงใหม่ออกไประยะหนึ่ง แต่จะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่อื่น เช่น ในกรุงเทพฯซึ่งล่าสุดได้ร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวอินเดียทำโครงการเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ขนาด 3 ดาว ย่านทองหล่อ จำนวน 30 ห้อง มูลค่าลงทุนประมาณ 250 ล้านบาท เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันยังมีแผนขยายการลงทุนทำโรงแรมหรือที่พักไปยังเมืองชายทะเลเช่น ที่ภูเก็ตอีกด้วย

เป็นก้าวรุกในภาวะวิกฤตที่พิชัยย้ำว่า ต้องอยู่บนความเป็นจริงและปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริง



ที่มา http://goo.gl/8OXaJp

ล้มแล้วลุก (พิชัย จาวลา)

ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์เมืองเชียงใหม่ ชื่อของ พิชัย จาวลา อาจไม่คุ้นหูนัก เพราะฐานธุรกิจเดิมของครอบครัว มาจากกิจการร้านขายผ้าในกาดวโรรส

กิจการร้านขายผ้าในตลาดวโรรสตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ภายใต้ชื่อร้านขายผ้านิรันดร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเชียงใหม่มานานกว่า 40 ปี แต่หลังจากกระแสการลงทุนที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ธุรกิจของกลุ่มทุนท้องถิ่นต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแแปลงและการรุกคืบเข้ามาของกลุ่มทุนต่างถิ่น

เช่นเดียวกับเขาที่เกาะติดกระแสการลงทุนของโลกทุนนิยม และเลือกลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่หลายคนมองว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะวันนี้เหลียวมองไปทางไหนก็เห็นแต่โรงแรมผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดทั่วเมืองเชียงใหม่ จนเกิดปัญหาห้องโอเวอร์ซับพลาย ทั้งโรงแรม 5 ดาวของกลุ่มเชนต่างชาติ ไล่มาถึงโรงแรมระดับ 4 ดาวจนถึง 2 ดาว และโรงแรมเทรนด์ใหม่สไตส์ บูติก โฮเทล ของนักลงทุนจากส่วนกลางและในท้องถิ่นเอง ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา มีโรงแรมเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 40 - 50 แห่ง และยังมีการเทคโอเวอร์ซื้อขายเปลี่ยนมือโรงแรมของนักลงทุนท้องถิ่นเดิมให้แก่นักลงทุนส่วนกลางที่มีทุนหนาและสายป่านยาวกว่าอีกจำนวนไม่น้อย

โรงแรมบีทู เป็นโรงแรมน้องใหม่ที่พิชัยนั่งแท่นบริหารร่วมกับน้องชายภายใต้ชื่อกลุ่มจาวลา เชียงใหม่ กรุ๊ป ด้วยคอนเซ็ป BOUTIQUE & BUDGER HOTEL หรูหราแต่ราคาประหยัด เพื่อรับมือในวันที่วงการโรงแรมกำลังเผชิญปัญหาห้องพักโอเวอร์ซับพลาย

เมื่อ 20 ปีก่อน หลังคว้าใบปริญญาด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาก็เริ่มก้าวสู่แวดวงอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร แม้ครั้งแรกจะไม่ประสบผลสำเร็จจนต้องหยุดดำเนินการและคืนเงินมัดจำให้ลูกค้า แต่หลังจากผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2540 ครอบครัวของพิชัย ก็กลับมาสู่วงการอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง

"ครอบครัวเริ่มกลับเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกครั้งในปี 2542 แม้เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตมาได้ไม่นาน แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส เวลานั้นเป็นจังหวะดีอย่างยิ่งที่จะลงทุน เพราะดอกเบี้ยถูก เงินบาทอ่อนค่าลง ตลาดท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัว"

จนปี 2551 เขาได้ลงทุนสร้างคอนโดมิเนียมขายให้ชาวต่างชาติ 2 แห่ง คือ The Convention และ Mountain Front ที่สร้างปรากฎการณ์ปิดการขายภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนแรกที่เปิดโครงการ หลังธุรกิจคอนโดมิเนียมไปได้สวย พิชัยจึงกระโดดเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม โดยเริ่มชิงลางจากการสร้างเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ "เซ็นเตอร์ปาร์ค" บริเวณถนนวงแหวนรอบกลาง และสร้างโรงแรมโดยนำเชน "เบสเวสเทิร์น" เข้ามาบริหาร ต่อมาจึงสร้างโรงแรมแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ "บีทู" โดยกำหนดตำแหน่งให้เป็นโรงแรมขนาดเล็ก-กลาง ภายใต้คอนเซ็ป BOUTIQUE & BUDGER HOTEL เน้นราคาประหยัดแต่ห้องพักหรูหราสวยงาม เพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงความคุ้มค่าหากมาพักที่โรงแรมบีทู

"แม้ทำเลที่ตั้งของโรงแรมบีทูจะไม่โดดเด่น แต่ถือว่าอยู่ในทำเลที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก อยู่ในโซนถนนสายอ้อมเมือง-ซุปเปอร์ไฮเวย์ ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงสามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองได้อย่างง่ายและสะดวกสบาย" พิชัยบอก

เขาเล่าต่อว่า ขอให้เจอที่ดินเหมาะสม แม้ไม่ได้อยู่กลางเมืองหรือติดถนนใหญ่ ยอมซื้อที่ราคาถูกลงมาหน่อย เช่น อยู่ในทำเลถนนวงแหวนรอบกลาง หรือทำเลในซอยหรือห่างจากถนนเล็กน้อย แต่ดูแล้วเป็นทำเลที่เหมาะสมก็พร้อมลงทุนทันที แต่บางครั้งก็ซื้อที่ดินเก็บไว้โดยไม่ลงทุนอะไร รอจังหวะเวลาและโอกาสที่ดีแล้วปล่อยขายเพื่อทำกำไรและนำเงินมาลงทุนต่อ

แต้มต่อของธุรกิจจุดสำคัญคือ การควบคุมต้นทุนเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าเริ่มตั้งแต่การซื้อที่ดิน กลุ่มจาวลาค่อนข้างโชคดีที่มีทีมงานมืออาชีพทำหน้าที่จัดหาที่ดิน การลงทุนจะเลือกตามทำเลที่มีเข้ามาเป็นทำเลที่ไม่ไกลจากตัวเมือง อยู่โซนถนนอ้อมเมืองหรือวงแหวนรอบกลางทำให้ราคาที่ดินไม่แพงจนเกินไป

"ผมถือว่าเป้าหมายการทำธุรกิจทำเลเป็นเรื่องรอง ผมให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุน ตั้งแต่การก่อสร้าง ผมจะจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เอง จากนั้นจึงจ้างผู้รับเหมามาดำเนินการโดยจัดสรรกำไรให้ตามความเหมาะสม การลงทุนที่ผ่านมาจึงสามารถควบคุมต้นทุนให้ลดลงได้กว่า 15-20% เมื่ออยู่ภายใต้โจทย์ที่ดินไม่แพง-ควบคุมค่าก่อสร้างได้ จึงตั้งกำหนดห้องพักในเรตราคาคืนละ 499-599 บาทได้ ทำให้ลูกค้าหลั่งไหลมาพักไม่ขายสาย แม้เชียงใหม่จะมีปัญหาห้องพักโอเวอร์ซับพลาย" พิชัยอธิบาย

ในตลาดโรงแรมลูกค้าระดับบนยังมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่ลูกค้าในตลาดกลางและล่างยังมีอยู่จำนวนมาก ถ้าทำโรงแรมสวย ดี และ ถูก ลูกค้าจะเข้ามาหาเราเอง ปัจจุบันโรงแรมบีทูแทบไม่ต้องใช้พนักงานการตลาด หรือเซลเลย เราจ้างเซลทำงานน้อยมาก แต่อาศัยการตลาดแบบบอกต่อกันปากต่อปาก ถือเป็นการตลาดที่ดีที่สุด ทุกวันนี้มีลูกค้าติดต่อกลับมาด้วยการตลาดแบบปากต่อปาก ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย ตางชาติ หรือแม้แต่กรุ๊ปทัวร์

เป้าหมายในอนาคตเขาวางแผนสร้างโรงแรมบีทูเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 1-2 แห่ง เน้นนอกพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อสร้างแบรนด์บีทูให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังมีแพลนขายแบรนด์โรงแรมบีทูในรูปแฟรนส์ไชส์ เพราะมั่นใจว่าของถูกและดีย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นยุทธวิธีการทำธุรกิจแบบป่าล้อมเมือง

สำหรับธุรกิจร้านขายผ้า ครอบครัวยังทำกันอยู่ไม่ทิ้งแต่คงไม่ใช่ธุรกิจหลักเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เวลานี้ทั้งพิชัยและครอบครัวให้ความสำคัญกับธุรกิจในกระแสของโลกทุนนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์-โรงแรม เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่ได้เปรียบสามารถขายได้ไม่จำกัด สอดรับกับเชียงใหม่ที่เป็นหัวเมืองสำคัญของภูมิภาค และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในกระแส มีการขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ความสำเร็จของเขาถือว่า ตอบโจทย์การลงทุนแบบสวนกระแส ในวิกฤตยังมีโอกาส การควบคุมต้นทุนเป็นหัวใจสำคัญนั่นเอง


วิเคราะห์กลุ่มสื่อสารหลังผ่านประมูล 4G INTUCH ไม่สะเทือน ยังปันผลสูง 5-6%

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ (13 พ.ย.) ว่า ประมูล 4G คลื่น 1800 MHz สิ้นสุดแล้ว โดยค่าย TRUE ชนะการประมูลชุดที่ 1 ที่ราคา 39,792 ล้านบาท และค่าย ADVANC ชนะชุดที่ 2 ราคา 40,986 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้ง 2 ใบอนุญาตอยู่สูงถึง 80,778 ล้านบาท (มากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ) โดยใบอนุญาตมีอายุ 18 ปี
สำหรับ JAS และ DTAC ประมูลสู้ราคาสุดท้ายที่ 38,996 ล้านบาท และ 17,504 ล้านบาท จึงไม่ได้ใบอนุญาตไป หลังจากนี้กทค.จะประชุมในวันที่ 17 พ.ย.เพื่อรับรองผลประมูลอย่างเป็นทางการและให้ผู้ชนะประมูลชำระเงิน 50% ภายใน 90 วันหลังรับรองผล

ความเห็นเชิงกลยุทธ์: ผลจากราคาใบอนุญาตสูงเกินคาดดังข้างต้น ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้น ADVANC และ TRUE ออกมาในช่วง 2 วันที่ผ่านมาเพราะมองว่าต้นทุนค่าใบอนุญาตที่สูงทำให้กำไรจาก 4G จะน้อยลง และนักวิเคราะห์ DBS ปรับลดราคาพื้นฐานของ ADVANC ลง 6 บาท เป็น 224 บาท/หุ้น และให้คำแนะนำถือ ส่วน TRUE ยังไม่ได้วิเคราะห์ในทางปัจจัยพื้นฐานจึงเป็น Not Rated
ด้าน INTUCH ณ ระดับราคาปิดของ ADVANC ที่ 211 บาทและ THCOM 29.50 บาท พบว่า INTUCH จะมี Market NAV เท่ากับ 83 บาท /หุ้น ส่วน NAV ของ INTUCH ที่คำนวณจากราคาตามปัจจัยพื้นฐานของหุ้น ADVANC และ THCOM พบว่ามี Target NAV อยู่ที่ 90 บาท/หุ้น โดยประเมิน Dividend Yield ของ INTUCH ไว้ที่ 5.5-6.0% ต่อปี ณ ราคาหุ้น INTUCH ปัจจุบันที่ 69 บาท จึงยังคงคำแนะนำซื้อ

ที่มา http://goo.gl/IHLnMM

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)