Pages

Pages

13 กุมภาพันธ์ 2559

“สลาก ธกส.” มีโอกาสถูกรางวัลที่ 1 มากกว่า “ออมสิน”?

ไขคำตอบสลาก ธ.ก.ส.-ออมสิน ที่เสนอขายในช่วงนี้ แต่ละค่ายมีดีคนละอย่าง หากไม่เน้นรางวัลสลากออมสินเหนือกว่าด้วยดอกเบี้ยที่ให้ 2% ธ.ก.ส.ให้เพียง 1% และถ้าเน้นเลขท้ายเทียบกันบาทต่อบาทแล้วออมสินก็ยังให้มากกว่า แต่ถ้าเน้นโอกาสถูกรางวัล 1-5 น้ำหนักอยู่ที่ ธ.ก.ส. ใครที่อยากออมได้ลุ้นเหมือนหวยแต่เงินต้นไม่สูญเลือกตามสะดวก 



การออมอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือไปจากการฝากเงินไว้กับธนาคารนั้น ยังมีการออมเงินด้วยรูปแบบของสลาก (ไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาล) สลากของคนที่รักการออมจะมีสลากของธนาคารออมสินและสลากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สลากของธนาคารรัฐทั้ง 2 แห่งแตกต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ เป็นการซื้อที่มีระยะเวลาเป็นปีออกรางวัลเดือนละ 1 ครั้ง ขณะที่สลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการซื้อแบบงวดต่องวดราว 15 วันต่อครั้ง โดยที่การออกรางวัลมีทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

กรณีไม่ถูกรางวัลแต่เมื่อครบกำหนดเช่น 3 ปีหรือ 5 ปีก็จะได้รับเงินต้นที่ซื้อสลากคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง ขณะที่สลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อไม่ถูกรางวัลเงินที่ซื้อสลากไปจะไม่ได้คืน นี่คือจุดแข็งของสลากธนาคารรัฐทั้ง 2 แห่ง ทำให้คนออมเงินจำนวนไม่น้อยหันมาออมเงินในรูปแบบสลากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของสลากทั้ง 2 ธนาคารจะไม่สูงเหมือนกับบัญชีเงินฝากของธนาคารทั่วไป แต่ผู้ที่ออมผ่านสลากนี้จะมีสิทธิลุ้นรางวัลเหมือนกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ดังนั้นผู้ที่คาดหวังผลตอบแทนจากการถูกรางวัลจึงเลือกที่จะออกเงินด้วยวิธีการนี้ยอสลากคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยที่คาดหวังผลตอบแทนจากการถูกรางวัลจึงเลือกที่จะออกเงินด้วยวิธีการนี้ หากโชคดีถูกรางวัลใหญ่ผลตอบแทนจากการออมประเภทนี้ย่อมคุ้มค่ามากกว่าการฝากเงินตามปกติ




ถูกเลขท้ายเทียบบาทต่อบาทต้องออมสิน

ในระยะนี้มีสลากของธนาคารรัฐทั้ง 2 แห่งเปิดจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ โดยสลากของ ธ.ก.ส. ออกสลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุดข้าวทิพย์ ส่วนธนาคารออมสินออกสลากออมสินพิเศษฉลองธนาคารครบ 100 ปี สลากทั้ง 2 มีอายุ 3 ปีเท่ากัน ดังนั้นผู้ที่ต้องการออมหลายท่าน เริ่มมีคำถามตามมาว่าแล้วจะเลือกออมผ่านสลากของธนาคารไหนดี

ทั้งนี้ สลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุดข้าวทิพย์ของ ธ.ก.ส.เปิดตัวก่อน ด้วยราคาหน่วยละ 500 บาท ขณะที่สลากออมสินพิเศษเสนอขายหน่วยละ 50 บาท หากซื้อในวงเงินที่เท่ากันจะได้จำนวนหน่วยของสลากออมสินมากกว่า และเมื่อดูเฉพาะผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด (กรณีไม่ถูกรางวัล) สลากของธนาคารออมสินให้ผลตอบแทนมากกว่าคือ 2% ต่อปี ส่วนของ ธ.ก.ส.ให้ผลตอบแทนเพียง 1% ต่อปีเท่านั้น

หากต้องการที่จะถูกรางวัลเลขท้ายทุกงวด ผู้ออมจะต้องซื้อสลากของทั้ง 2 ธนาคารที่ 500,000 บาท เนื่องจากสลาก ธ.ก.ส.มีรางวัลเลขท้าย 3 ตัว ออก 2 ครั้ง รางวัลละ 200 บาท ส่วนธนาคารออมสินออกเลขท้าย 4 ตัว 2 ครั้ง รางวัลละ 150 บาท นอกจากนี้สลากออมสินยังมีรางวัลเลขท้าย 5 ตัว ออก 2 ครั้ง รางวัลละ 300 บาท และเลขท้าย 6 ตัว 2 ครั้ง รางวัลละ 400 บาท ขณะที่สลาก ธ.ก.ส.มีเพียงเลขท้าย 3 ตัวเท่านั้น

เมื่อเทียบกับเงินที่ซื้อสลากบาทต่อบาทแล้ว สลากของธนาคารออมสินให้ผลตอบแทนจากการถูกรางวัลเลขท้ายที่สูงกว่า



รางวัลที่ 1 ธ.ก.ส.คู่แข่งน้อยกว่า

คราวนี้ลองมาดูรางวัลใหญ่อย่างรางวัลที่ 1 สลาก ธ.ก.ส. ออก 1 ครั้ง รางวัลละ 20 ล้านบาท ขณะที่สลากออมสินออก 3 ครั้ง รางวัลละ 10 ล้านบาท หากพิจารณาเพียงแค่นี้หลายท่านอาจสรุปว่า รางวัลใหญ่ของ ธ.ก.ส.ให้มากกว่า แต่ออกเพียงแค่ 1 ครั้ง ขณะที่ของออมสินออกถึง 3 ครั้ง ดังนั้นโอกาสถูกรางวัลใหญ่ของออมสินย่อมมากกว่า

เมื่อสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารทั้ง 2 แห่ง พบว่า สลากของ ธ.ก.ส.ทุกชุดอย่างเช่นชุดข้าวทิพย์จะมีเพียงแค่ 7 หมวด คือ หมวดอักษร MH-MN รางวัลที่ 1 จะออกเฉพาะชุด ขณะที่สลากออมสินปัจจุบันทำการออกทั้งหมดอยู่ระหว่างงวดที่ 41-58 หรือมีทั้งหมด 18 งวด แต่ละงวดก็จะแยกเป็นหมวดอักษรอีก โดยของออมสินจะมีหมวดอักษรเริ่มที่พยัญชนะภาษาไทยตั้งแต่ ก-ฮ เมื่อเต็มแล้วก็จะเพิ่มเป็นหมวดภาษาอังกฤษตั้งแต่ A-Z

ทั้งนี้ ในการออกรางวัลใหญ่ของสลากทั้ง 2 ธนาคารจะมีการสุ่มหมวด ดังนั้นโอกาสของ ธ.ก.ส.จะมี 1 ใน 7 ของเลขที่ตรงกับรางวัลที่ 1 ขณะที่ของออมสินจะมีทั้งการสุ่มงวดและสุ่มหมวดอักษร ดังนั้นโอกาสจะถูกรางวัลที่ 1 จึงต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อ หากซื้อมากหมวดอักษรก็มากขึ้น โอกาสของการได้รับรางวัลที่ 1 จึงมีคู่แข่งมากกว่าสลาก ธ.ก.ส.

“สลากของ ธ.ก.ส.เรากำหนดไว้ว่าแต่ละครั้งต้องการระดมเงินเท่าไหร่ อย่างครั้งนี้ต้องการ 3 หมื่นล้านบาท เมื่อครบจำนวนก็จะปิดการขายทันที ดังนั้นโอกาสในการถูกรางวัลใหญ่จะอยู่ภายใน 7 หมวดที่เราเสนอขายเท่านั้น” แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.กล่าว

ส่วนสลากออมสินจะเปิดขายตลอด จากพยัญชนะไทยจนถึงพยัญชนะภาษาอังกฤษ เมื่อเต็มแล้วจะเริ่มขึ้นงวดใหม่ หากพิจารณาจากการออกรางวัลงวด 16 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา สลากออมสินมี 18 งวด แต่ละงวดมีหมวดอักษรของออมสินราว 53 หมวด

หากลองคำนวณดูโอกาสในการถูกรางวัลที่ 1 ของสลากออมสินนั้น คงต้องเป็นผู้ที่โชคดีจริงๆ เพราะการสุ่มงวดและสุ่มตัวอักษร รางวัลที่ 1 ของออมสินออก 3 ครั้ง รางวัลละ 10 ล้านบาท เท่ากับโอกาสในการได้รับรางวัลใหญ่จะเป็น 3 ใน 954 ของเลขสลากที่ตรงกับรางวัลที่ 1

“เคยมีการคำนวณกันว่าโอกาสในการถูกรางวัลนั้นของ ธ.ก.ส.จะอยู่ที่ราว 1 ต่อ 100 ส่วนของออมสินจะอยู่ที่ราว 1 ต่อ 1,000” แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว




เน้นถูกรางวัล ธ.ก.ส.เหนือกว่า

สำหรับรางวัลอันดับพิเศษของสลากออมสินออก 1 ครั้ง รางวัลละ 1 ล้านบาท เป็นการออกสุ่มงวดเช่นกัน เป็นการออกรางวัลและสุ่มหมวดอักษรเช่นเดียวกับการออกรางวัลที่ 1 แต่รางวัลนี้สลาก ธ.ก.ส.ไม่มี

ส่วนเลขที่ตรงกับรางวัลที่ 1 แต่ต่างหมวด ทั้ง 2 ธนาคารมีรางวัลให้ตามจำนวนการออกรางวัลเช่นกัน โดยทางออมสินมี 3 รางวัล รางวัลละ 1 หมื่นบาท ส่วนของธ.ก.ส. มี 1 รางวัล รางวัลละ 5 แสนบาท

รางวัลลำดับถัดมาอย่างรางวัลที่ 2 สลากของธนาคารทั้ง 2 ไม่มีเงื่อนไขเพิ่มในการสุ่มหมวด ดังนั้นสลากทุกงวด ทุกหมวดอักษรจึงมีโอกาสถูกรางวัลทั้งหมด สลากออมสินมี 1 รางวัล รางวัลละ 1 แสนบาท ธ.ก.ส.มี 3 รางวัล รางวัลละ 2 แสนบาท

รางวัลที่ 3 สลากออมสินออก 2 ครั้ง รางวัลละ 2 หมื่นบาท สลาก ธ.ก.ส.ออก 10 ครั้ง รางวัลละ 5 หมื่นบาท รางวัลที่ 4 ออมสิน ออก 5 ครั้ง รางวัลละ 1 หมื่นบาท ธ.ก.ส.ออก 20 ครั้ง รางวัลละ 2 หมื่นบาท และรางวัลที่ 5 ออมสินออก 10 ครั้ง รางวัลละ 5 พันบาท ธ.ก.ส.ออก 100 ครั้ง รางวัลละ 1 หมื่นบาท



ดีคนละอย่าง

อย่างไรก็ดี สลากของทั้ง 2 ธนาคารถูกออกแบบมาให้มีความแตกต่างกัน หากเน้นในเรื่องผลตอบแทนแล้วสลากออมสินให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยและตัวเงินรางวัล และเมื่อปรับราคาสลากต่อหน่วยให้เท่ากันแล้วจะพบว่า ในกรณีที่ถูกรางวัลเมื่อเทียบบาทต่อบาทแล้ว ธนาคารออมสินจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ถ้ากล่าวถึงโอกาสของการถูกรางวัล สลาก ธ.ก.ส.มีโอกาสถูกรางวัลง่ายกว่าตั้งแต่รางวัลที่ 1-5 เนื่องจากสลาก ธ.ก.ส.ออกรางวัลที่ 1 เป็นการออกเฉพาะชุด แต่ละชุดมีเพียงแค่ 7 หมวดอักษร ส่วนรางวัลที่ 2-5 มีจำนวนรางวัลมากกว่าของสลากออมสิน

ด้วยจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกันของสลากทั้ง 2 ในการเสนอขายสลากออมสินพิเศษฉลองธนาคารครบ 100 ปี จึงมีโปรโมชันเพิ่มเติมจากรางวัลปกติด้วยการมอบทองคำเพิ่มให้อีก 544 รางวัล รวมน้ำหนักทองคำ 1,200 บาท แยกเป็น รางวัลที่ 1 ทองคำหนัก 100 บาท จำนวน 1 รางวัล รางวัลที่ 2 ทองคำหนัก 50 บาท จำนวน 3 รางวัล รางวัลที่ 3 ทองคำหนัก 20 บาท จำนวน 10 รางวัล รางวัลที่ 4 ทองคำหนัก 5 บาท จำนวน 30 รางวัล รางวัลที่ 5 ทองคำหนัก 2 บาท จำนวน 100 รางวัล รางวัลที่ 6 ทองคำหนัก 1 บาท จำนวน 400 รางวัล เป็นทองคำ 96.5%

เงื่อนไขของผู้มีสิทธิร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ต้องเป็นผู้ฝากสลากออมสินพิเศษ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 และมียอดคงเหลือในบัญชีเงินฝากเผื่อเรียก ณ วันออกรางวัลไม่ต่ำกว่า 500 บาท ทุก 50 บาท หรือ 1 หน่วย มีสิทธิร่วมรับรางวัลได้ตามหน่วยที่ซื้อโดยไม่จำกัดจำนวน ในการออกรางวัลแต่ละครั้ง ผู้ฝาก 1 ท่าน มีสิทธิได้รับ 1 รางวัลเท่านั้น สลากที่มีการถอนคืนก่อนออกรางวัล ไม่มีสิทธิในการร่วมกิจกรรม

ดังนั้น ผู้ที่สนใจในสลากทั้ง 2 ต้องพิจารณาถึงความต้องการของตัวเองว่าต้องการผลตอบแทนแบบใด หากเน้นไปที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก สลากออมสินให้ผลตอบแทนสูงกว่าเพราะให้ดอกเบี้ย 2% ส่วนสลาก ธ.ก.ส.ให้ 1% แต่ถ้าเน้นไปที่การถูกรางวัล สลาก ธ.ก.ส.มีโอกาสถูกมากกว่า


ที่มา http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046746

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น