Pages

Pages

13 กุมภาพันธ์ 2559

บัญญัติ 10 ประการของวอร์เรน บัฟเฟตต์​ (Warren Buffet​)

บัฟเฟตต์เป็นประธานผู้บริหารของบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งก่อตั้งขึ้น 170 ปีแล้วและเคยทำกิจการด้านสิ่งทอเป็นหลักก่อนที่บัฟเฟตต์และหุ้นส่วนจะซื้อกิจการมาดำเนินงานเมื่อปี 2508 บัฟเฟตต์ใช้บริษัทนั้นเป็นทางผ่านการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งทำกิจการหลากหลายอย่างรวมทั้งการประกันภัย หนังสือพิมพ์ ร้านอาหาร ธนาคารและร้านสรรพสินค้า เขาซื้อหลายบริษัทมาควบรวมและซื้อหุ้นของอีกหลายบริษัทเป็นบางส่วน ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทรุด Berkshire Hathaway มีทรัพย์สินรวมกันเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างต่อเนื่องจนทำให้ราคาหุ้นของ Berkshire Hathaway เพิ่มขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อหุ้นเป็น 75,000 ดอลลาร์ในเวลา 40 ปี

มีผู้พยายามค้นหาปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จสูงอย่างน่ามหัศจรรย์นั้น เมื่อหลายปีก่อนมีหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ชื่อ The Snowball: Warren Buffett and the Business of Life พิมพ์ออกมา แต่กว่าผู้อ่านจะค้นพบปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จก็ต้องอ่านกันนานเพราะหนังสือเล่มนั้นมีความหนาเกือบ 1,000 หน้า ก่อนหน้านั้นมีผู้นำเอาข้อคิดในจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้ถือหุ้นในบริษัท Berkshire Hathaway มารวมเป็นหนังสือชื่อ The Essays of Warren Buffett: Lessons for Corporate America ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหนังสือทั่วไปและยาว 290 หน้า จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Michael Brush สรุปแนวคิดของบัฟเฟตต์ออกมาเป็น 10 ข้อเผยแพร่ไปตามสื่อต่าง ๆ ขอนำมาเล่าสู่กันเพราะมันน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ หรือมีเวลาไปเสาะหาหนังสือและต้นฉบับมาอ่านเอง



ข้อ1 – จงเป็นผู้มัธยัสถ์ 

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย เช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้นเวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Michael Brush ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น บัฟเฟตต์ได้ค่าตอบแทนจากบริษัท Berkshire Hathaway เพียงปีละ 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 290,000 บาทเท่านั้น ต่างกับประธานผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งมักได้ค่าตอบแทนหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปี บัฟเฟตต์ไม่มีรายได้จากเงินปันผลของบริษัท Berkshire Hathaway เพราะบริษัทนั้นจ่ายเงินปันผลครั้งเดียวหลังจากเขาซื้อมาและหยุดจ่ายมาหลายทศวรรษแล้ว ฉะนั้นบริษัท Berkshire Hathaway เก็บผลกำไรไว้สำหรับลงทุนต่อได้จำนวนมาก

ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองก็มีเงินเหลือเพื่อนำไปลงทุนต่อเพราะค่าตอบแทนที่ไม่สูงนักก็มักใช้ไม่หมด การไม่ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสสังคมยังผลให้เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยจ้องหารายได้จากการขายหุ้นที่มีอยู่ในมือ หรือจากการปันผลกำไรที่บริษัททำได้อย่างต่อเนื่อง เขามีเวลาสำหรับใช้พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ยิ่งกว่านั้นเขายังกดดันให้ผู้บริหารของกิจการที่เขาเข้าไปลงทุนกำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์และพยายามจำกัดค่าค่าตอบแทนของผู้บริหารส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้สูงยิ่งขึ้น



ข้อ2 – จงยึดหลักช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม 

หรือมีความอดทนเพื่อรอโอกาสทองที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนอย่างหนักของตลาดหลักทรัพย์ ในปัจจุบัน วิกฤติเศรษฐกิจและความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุอาจทำให้หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งตกลงมาอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ฉะนั้น ในช่วงนี้บัฟเฟตต์จะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ มีรายงานข่าวออกมาว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้นในหลายบริษัทที่ทำกิจการด้านน้ำมันปิโตรเลียม ด้านการบริการพลังงานไฟฟ้า ด้านธนาคารพาณิชย์และด้านการขนส่งทางรถไฟ 



ข้อ3 – จงเดินทวนกระแส 

บัฟเฟตต์เฝ้ามองว่าฝูงนักลงทุนจะพากันเดินไปทางไหนแล้วเขาจะพยายามเดินไปทางตรงข้ามเนื่องจากทางที่นักลงทุนพากันไปนั้น โอกาสในการทำกำไรได้อย่างงดงามมีน้อยเพราะนักลงทุนพวกนั้นได้ผลักดันราคาของหุ้นให้สูงขึ้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อตอนที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องเมื่อสองสามปีก่อน

บัฟเฟตต์ไม่เข้าไปร่วมด้วย แต่ในตอนนี้ นักลงทุนจำนวนมากมองหาทางเทขายยังผลให้ราคาหุ้นโดยทั่วไปตกและหุ้นของบางบริษัทตกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้บัฟเฟตต์ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก จึงมีข่าวว่าเขาเข้าไปซื้อหุ้นของหลายบริษัท เกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงแต่มีความสำคัญพื้นฐานก็คือ บัฟเฟตต์ทำการบ้านอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นั่นคือ วิเคราะห์บริษัทต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น



ข้อ4 – จงเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ 

บัฟเฟตต์จะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่เขาไม่เข้าใจว่าผลิตอะไรออกมาและไม่รู้อย่างแจ้งชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร ทั้งที่ในยุคนี้ มหาเศรษฐีจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเพื่อนซี้ของเขาเอง เช่น บิล เกตส์ ด้วย แต่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ฉะนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอันเป็นตอนที่ราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บัฟเฟตต์จึงไม่เข้าไปซื้อเพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำกำไรได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลปรากฏว่านักลงทุนพากันสูญเงินจำนวนมหาศาลเมื่อฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตก แต่บัฟเฟตต์ทำกำไรได้อย่างงดงามจากการลงทุนในภาคอื่น 



ข้อ5 – จงอย่าฟังนักวิจารณ์หรือการยืนยันของตลาด 

ยุคนี้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาวิจารณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้มีความเห็นสารพัดและมักจะให้การยืนยัน หรือไม่ก็แย้งการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนใหญ่ ๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรายวันของราคาหุ้นยังเป็นเสมือนการยืนยันในระยะสั้นด้วยว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ บัฟเฟตต์จะไม่ฟังคำวิจารณ์และไม่ต้องการดูราคาหุ้นว่าไปทางไหน เขาจะตัดสินใจบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเอง



ข้อ6 – จงค้นหาของดีราคาถูกให้พบ 

ในกระบวนการค้นหาหุ้นราคาถูก บัฟเฟตต์เริ่มวิเคราะห์เพื่อค้นหา “มูลค่าภายใน” (intrinsic value) ของบริษัทเป็นขั้นแรก กระบวนการนี้อาจมองดูว่าราคาหุ้นของบริษัทคล้าย ๆ กันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็คำนวณค่าปัจจุบันของเงินสดที่บริษัทนั้นน่าจะทำได้ในอนาคต รายละเอียดของวิธีคำนวณอาจหาได้ในหนังสือชื่อ The Warren Buffet Way ของ Robert Hagstrom หรือเรื่อง The Market Gurus ของ John Reese และ Todd Glassman หากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดต่ำกว่ามูลค่าภายในมาก ๆ บริษัทนั้นน่าสนใจเพราะมี “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” (margin of safety) สูงมาก

บัฟเฟตต์ไม่ค่อยสนใจเรื่องผลกำไรต่อหุ้น หากสนใจในผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ส่วนต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับต้นทุน และภาระหนี้สินของบริษัท นอกจากนั้นเขายังต้องการเห็นบริษัททำเงินสดได้มาก ๆ แล้วนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด หรือไม่ก็จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นของตนคืน ในกระบวนการวิเคราะห์นี้ เขาจะมองย้อนไปในอดีตอย่างน้อย 5 ปีเพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่าง ๆ กัน ฉะนั้น เขาจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์



ข้อ7 – จงมองหาบริษัทที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือล้อมรอบด้วยคูลึก 

บริษัทจำพวกนี้มักมีประวัติในการทำกำไรได้ดีและมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนเพราะคู่แข่งเกิดขึ้นได้ยากมากอาจเนื่องมาจากอำนาจในการปกป้องของสิทธิบัตรและของเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บริษัทจำพวกนี้สามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการได้โดยไม่กระทบยอดขายและมักไม่ได้รับผลกระทบมากนักในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฉะนั้นบัฟเฟตต์จึงถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทประกอบการรถไฟเพราะยากที่จะมีใครสามารถสร้างรางขึ้นมาแข่งได้ในทวีปอเมริกาเหนือ และในบริษัทโคคา-โคลาเพราะมีเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางพร้อมกับมีระบบการจัดจำหน่ายที่ลื่นไหลเป็นอย่างดีทั่วโลก



ข้อ8 – จงทุ่มเงินลงไปในบริษัทที่น่าซื้อ 

เรื่องนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการเดินย้อนกระแส นักลงทุนโดยทั่วไปมักใช้การกระจายการลงทุนออกไปในหลายบริษัทเพื่อหวังลดความเสี่ยง แต่บัฟเฟตต์กลับชอบลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่า เมื่อใดเขามองเห็นโอกาสดีเป็นพิเศษ เมื่อนั้นเขาจะทุ่มทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้นทันที เขามองว่าการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและการมีความอดทนที่จะรอจนได้ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” สูงมาก ๆ เป็นมาตรการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้น ประวัติการลงทุนของเขาบ่งว่า ความสำเร็จของเขาเกิดจากผลตอบแทนสูงมากที่เขาได้จากการทุ่มลงทุนในหุ้นของบริษัทเพียงราวหนึ่งโหลเท่านั้น



ข้อ9 – จงซื้อเพื่อถือไว้หาผลกำไรในระยะยาว 

บัฟเฟตต์มองว่าถ้าได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าควรลงทุนในบริษัทไหน บริษัทนั้นควรจะให้ผลกำไรดีเป็นเวลานาน ฉะนั้นผู้ที่ทนไม่ไหวที่จะดูราคาหุ้นของตนตกไป 50% อย่าคิดเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเด็ดขาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อซื้อหุ้นมาแล้วก็เลิกติดตามความเป็นไป ตรงข้าม ผู้ถือหุ้นจะต้องติดตามและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด เมื่อใดเห็นว่าบริษัทนั้นหมดโอกาสที่จะทำกำไรดีต่อไป หรือกำลังเดินเข้าภาวะยากลำบากเป็นเวลานาน เมื่อนั้นจงรีบขายออกไปทันที ด้วยหลักข้อนี้ บัฟเฟตต์จึงขายหุ้นจำนวนมากในบริษัทรับจำนองบ้านขนาดยักษ์ที่รู้จักกันในนาม Fannie Mae กับ Freddie Mac ก่อนที่สองบริษัทนั้นจะประสบปัญหาจนถูกรัฐเข้าไปยึดเมื่อปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่ง Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงคือ บัฟเฟตต์มองว่าการซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ รังแต่จะเป็นเหยื่อให้แก่ผู้ที่ไม่ค่อยมีบทบาทพื้นฐานทางเศรษฐกิจนัก เช่น นายหน้าค้าหุ้น ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้บริหารกองทุน เขาประเมินว่าคนเหล่านั้นหักเอาผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปราวปีละราว 140,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 20% ของผลกำไรทั้งหมดซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการของบริษัท



ข้อ10 – จงเชื่อมั่นในอเมริกา 

บัฟเฟตต์จะไม่มองว่าใครเข้ามาเป็นประธานาธิบดี หรือในขณะนี้วัฏจักรของเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน หากมองว่าในระยะยาวบริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจะกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งแม้ในขณะนี้ดูจะมีปัญหาบ้างก็ตาม ฉะนั้นในปัจจุบัน บัฟเฟตต์จึงนำเงินจากส่วนที่ซื้อพันธบัตรไว้ออกมาใส่ลงในหุ้นของบริษัทที่เขามองว่ามีโอกาสทำกำไรได้ดีในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น