คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก( ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 8.2 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ ( 29 มีนาคม) ครม.ได้อนุมัติโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และ ชมพู 5.18 หมื่นล้านบาท และ 5.32 หมื่นล้านบาท ตามลำดับไปแล้ว ทั้ง 3 โครงการ รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้(เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และ สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-หัวหมาก) รวม 5 โครงการ อยู่ใน “แผนเร่งด่วน” และเปิดให้เอกชนเสนอ ร่วมทุนตามหลัก ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) โดยหวังว่าการเดินหน้า ลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ พ้นจากภาวะซบเซาที่เผชิญอยู่เวลานี้ได้
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง หากไม่มีอะไรคาดเคลื่อนอีก 5 ปีต่อจากนี้ (2559-2563) คนกรุงเทพฯ และจังหวัดข้างเคียง จะมีรถไฟฟ้า ใต้ดิน บนดิน และรถไฟชานเมือง เพิ่มขึ้นอีก 8 สาย เริ่มจาก ไฮไลต์ปีนี้คือ สายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยัน สิงหาคม นี้เดินรถแน่ คิวถัดไป คือ สายสีน้ำเงิน ช่วง บางซื่อ-ท่าพระ กับ หัวลำโพง บางแค (ดูตารางประกอบ) ส่วน รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน – บางซื่อ) แม้สร้างเสร็จแล้ว(กำหนดเดิมเดินรถปี2559) แต่เนื่องจากใช้สถานเดียวกับ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) จึงต้องรอไปถึงปี 2563 โดยประมาณจึงจะเดินรถเต็มรูปแบบได้
ส่วนโครงการที่ครม.เพิ่งอนุมัติและกำลังเข้าสู่ขั้นตอนเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูล เช่นโครงการรถไฟสายสีชมพู (ปากเกร็ด-หลักสี่-มีนบุรี-สุวินทวงศ์) เหลือง (ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง ส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) หรือโครงการที่ อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็น ออกแบบ อาทิ สาย เขียวเข้ม (สมุทรปราการ-บางปู) อย่างเร็วที่สุดที่คนกรุงฯจะได้ใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าในกลุ่มนี้เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย คือ ปี 2572 หรือ 13 ปีนับจากนี้ ไม่นานเลย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 – 30 เมษายน พ.ศ. 2559
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น