Pages

Pages

31 พฤษภาคม 2559

'เทิร์นอะราวด์' เรื่องไม่ลับ INET

ได้เวลาคืนชีพ!! 'มรกต กุลธรรมโยธิน' นายหญิง 'อินเทอร์เน็ตประเทศไทย' ยืนยันเป้าหมายเช่นนั้น จากนี้พร้อมปั้นรายได้เพิ่มปีละ 30%

กวาดตาดูรายชื่อนักลงทุนรายย่อย หุ้น อินเทอร์เน็ตประเทศไทย หรือ INET ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีแบบครบวงจร ไม่ได้พบเพียงนักลงทุนแนว Value Investor (VI) อย่าง 'อนุรักษ์ บุญแสวง' หรือ 'โจ ลูกอีสาน' ในฐานะนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เท่านั้น แต่ยังมี 'เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง' เซียนเทคนิคถือลงทุนด้วย ในสัดส่วน 0.82% และ 0.80% ตามลำดับ แต่ล่าสุด 'เสี่ยป๋อง' ได้ขายหุ้นทำกำไรหมกแล้ว หลังจากถือไม่นาน 
'ซื้อหุ้นตัวนี้ตั้งแต่ยังไม่มีใครสนใจ หลังตระเวนหาหุ้นที่มีราคาถูกและพื้นฐานดีมานาน' 'โจ ลูกอีสาน' บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week'
'จุดเด่น' ของ INET ที่ถือหุ้นใหญ่โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สัดส่วน 17% บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ถือ 16% และ บริษัท ทีโอที หรือ TOT ถือ 16% นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีครบวงจรอันดับต้นของประเทศไทยแล้ว ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วง 'ฟื้นตัว' หลังมีกิจการใหม่ที่สร้างรายได้ดีเข้ามา
ช่วงแรกซื้อลงทุน 5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2.60 บาท แต่ในช่วงปลายปี 2558 บริษัทประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 250 ล้านหุ้น ในอัตรา 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 3 บาท จึงตัดสินใจทยอยขายออกบางส่วน เพราะหากใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนต้องใช้เงินมากถึง 15 ล้านบาท ถือว่า หนักเกินไป แต่เมื่อขายออกจนเหลืออยู่ในมือ 2.04 ล้านหุ้น ก็จะใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพียง 6 ล้านบาท ค่อยเบาตัวขึ้นมาหน่อย
ยืนยันจะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ตามสัดส่วนการถือหุ้น เพราะบริษัทจะนำเงินเพิ่มทุนไปขยายศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลไอเน็ต 3 (INET IDC3) เฟส 2 และ 3 รวม 300 ล้านบาท หลังนำเงินจากการขายหุ้นกู้ไปลงทุนในเฟสแรกแล้ว คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2560 ขณะเดียวกันยังจะผลักดันบริษัทในเครือ บมจ.เน็ตเบย์ หรือ NETBAY เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai)
เขา บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตเซอร์วิสโพรไวเดอร์ (ไอเอสพี) อยู่ในช่วงขาลง ทำให้องค์กรแห่งนี้ตกอยู่ในช่วงปรับตัว ส่วนตัวเชื่อว่า กำลังจะเข้าสู่ช่วง “เทิร์นอะราวด์” แม้ตลาดผู้ให้บริการ Cloud Solutions ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น Amazon Web Services (AWS), Microsoft Azure, Google จะมีความได้เปรียบด้านขนาด และเทคโนโลยีมากกว่าก็ตาม
'ฝน-มรกต กุลธรรมโยธิน' กรรมการผู้จัดการ บมจ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย ในฐานะผู้ร่วมบุกเบิก เล่าว่า เรากำลังขยายฐานไปสู่ตลาดใหม่ๆ อย่าง ระบบ Cloud Solutions ซึ่งถือว่าเป็น “ธุรกิจดาวรุ่ง” ในยุคนี้
ก่อนจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนธุรกิจใหม่ เธอ บอกว่า บริษัทใช้เวลาในการปรับยุทธศาสตร์นานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่ประสบภาวะขาดทุนในปี 2554 จำนวน 85 ล้านบาท หลังดำเนินธุรกิจผิดพลาด 2 เรื่อง นั่นคือ 'ลงทุนในธุรกิจที่ไม่ชำนาญ' และ 'ลงทุนเร็วเกินไป' 
เช่น บริษัทไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรทำธุรกิจโฆษณาโทรทัศน์ตามห้างสรรพสินค้า หรือลงทุนในภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับความยนิยมมากในปัจจุบัน แต่ด้วยความที่ลงทุนเร็วเกินไปเมื่อ 10 ปีก่อน เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าพอ
ส่งผลให้ฐานะติดลบ ประกอบกับบริษัทเอาแต่โฟกัสธุรกิจใหม่ ซึ่งธุรกิจเดิมอย่างบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต บริษัทไม่ได้พัฒนาปรับปรุง หรือลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้คู่แข่งแซงหน้าไปมาก
จากผลประกอบการที่ขาดทุนหนัก เรากลับมานั่งทบทวนว่า ทิศทางธุรกิจของ INET จะเดินไปทางไหน เมื่อพิจารณาองค์รวมแล้วพบว่า บริษัทมีความชำนาญเรื่องอินเทอร์เน็ต สะท้อนผ่านจุดแข็งสำคัญอย่าง 'ระบบเน็ตเวิร์ค' และ 'ระบบดาต้าเซ็นเตอร์'
เมื่อความคิดตกผนึก เราเดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ทันที ด้วยการปรับตัวเองจาก “อินเตอร์เน็ต เซอร์วิส โพรไวเดอร์” (Internet Service Provider) มาเป็น “คลาวด์ เซอร์วิส โพรไวเดอร์” (Cloud Service Provider)
โดยใช้ชื่อบริการว่า 'INET–COLUD' เนื่องจากหากทำธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวโอกาสที่จะทำรายได้ และสร้างผลกำไรมีข้อจำกัด แต่ถ้าขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจคลาวด์ ในจำนวนฐานลูกค้าเท่าเดิม แต่เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
ธุรกิจใหม่ ทำให้ฐานะการเงินพลิกกลับมาเป็น 'กำไรสุทธิ' 3 ล้านบาท และในปี 2558 ล้างขาดทุนสะสมหมดเกลี้ยง กลับมาจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ตามเดิม
๐ Cloud Solutions พระเอกคนใหม่
สำหรับแผนธุรกิจ ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2559-2563) บริษัทจะเน้นทำธุรกิจบริการ Cloud Solutions เนื่องจากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจมีอัตราการเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' จนขึ้นมาเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน จากปี 2556 มีสัดส่วนรายได้เพียง 3% แต่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 40% ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต
โดยสัดส่วนรายได้ของ INET แบ่งเป็น 4 ธุรกิจ คือ 1.บริการร Cloud Solutions สัดส่วน 40% 2. บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet access) 20% 3. บริการ Co-Location 20% และ 4. บริการ EDC Network Pool 20%
เธอ เล่าว่า ธุรกิจบริการ Cloud Solutions ถือเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโต 'เท่าตัว' ทุกปี ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ร่วมกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่ปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO/IEC 27001 และ ISO/IEC 20000 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.Infrastructure as a Service (IaaS) เป็นการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที
2.Platform as Service (PaaS) เป็นบริการที่ให้ผู้ใช้บริการสามารถนำ Application มาทำงานอยู่บนระบบนี้ โดยจะช่วยให้ผู้ใช้บริการ ใช้งานได้โดยไม่ต้องลงทุนทางด้าน Hardware และ Software และ 3. Software as a Service (SaaS) เป็นการให้บริการทางด้าน Application เช่น Email on Cloud, Antivirus เป็นต้น
ส่วน ธุรกิจบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Access) ตลาดนี้มี 'การแข่งขันรุนแรง' ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา กำไรขั้นต้นปรับลดลงมาเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องลงทุนสูงขึ้น แต่ราคาเท่าเดิม ถือว่า เป็น 'ตลาดแข่งดุ' (Red Ocean)
แต่ด้วยความที่บริษัทมีจุดเด่นในแง่ของการเป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำหรับธุรกิจด้วยความเร็วที่หลากหลาย เพราะมีพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกจังหวัด ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทั่วประเทศ
โดยบริการอินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อได้ผ่านทุกช่องทางสื่อสาร เช่น เชื่อมผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ สายวงจรเช่า (Leased Line) โครงข่าย MetroLAN ที่เชื่อมโยงเครือข่าย ภายในสำนักงานบนอาคารชั้นนำใจกลางกรุงเทพมหานคร ด้วยความเร็วตั้งแต่ 10 Mbps บนโครงข่าย Fiber Optic ขนาด 10 Gbps
๐ โชว์แผนโตปีละ 30%
'กรรมการผู้จัดการ' บอกว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตปีละ 30% โดยในช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์,เน็ตเวิร์ค,บริการคลาวด์ และปรับปรุงดาต้าเซ็นเตอร์เดิมให้ทันสมัย
สำหรับปี 2559 บริษัทจะลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ เพื่อรองรับความต้องการบริการคลาวด์เพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันองค์กรเอกชนยังใช้บริการคลาวด์ในสัดส่วนน้อย แต่มองว่าอนาคตจะมีสัดส่วนมากขึ้น
'ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตเปรียบเหมือนถนนที่ใช้เชื่อมต่อกันทั่วโลก โดยในช่วงแรกๆ ถนนอาจแคบ การใช้งานก็ถูกจำกัด แต่ในปัจจุบันถนนขยายกว้างขึ้นสามารถทำได้หลากหลาย'
๐ เพิ่มทุนขยายดาต้าแห่งใหม่
'นายหญิง' เล่าว่า หลังจากบริษัทออกหุ้นกู้ เพื่อลงทุนในโครงการศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล ไอเน็ต 3 (INET IDC3) เฟสแรก มูลค่า 700 ล้านบาท บริษัทคาดว่าจะสร้างเสร็จปลายปี 2559 และจะเปิดให้บริการต้นปี 2560
ล่าสุดบริษัทวางแผนว่าจะลงทุนโครงการ INET IDC3 เฟส 2 และ 3 จังหวัดสระบุรีเร็วขึ้นกว่าแผนเดิม เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณการจองการใช้งานระบบคลาวด์เกิน 50% แล้ว ซึ่งการลงทุนเฟสดังกล่าวอาจใช้เงินรวม 1,000 ล้านบาท
แบ่งเป็นงบลงทุนในแผนงานระยะที่ 2 ประมาณ 550 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Data Center) จำนวน 1 อาคาร (Data Center อาคารที่ 2) พื้นที่ประมาณ 1,975 ตารางเมตร สามารถรองรับการให้บริการ Data Center และ Cloud Solution เพิ่มเติมจากแผนงานระยะที่ 1
อาคารระบบสนับสนุน จำนวน 1 อาคาร (Utility อาคารที่ 2) เพื่อรองรับการดำเนินงานของอาคาร Data Center อาคารที่ 2 รวมทั้งอาคารสถานีไฟฟ้าย่อย (Sub Station) จำนวน 1 อาคาร เพื่อเพิ่มกำลังในการจ่ายไฟฟ้าให้กับศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ 3 (INET IDC3) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างไตรมาส 1 ปี 2560 และสามารถดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2561
สำหรับแผนงานระยะที่ 3 วางงบลงทุนประมาณ 450 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Data Center) จำนวน 1 อาคาร (Data Center อาคารที่ 3) พื้นที่ประมาณ 1,975 ตารางเมตร สามารถรองรับการให้บริการ Data Center และ Cloud Solution เพิ่มเติมจากแผนงานระยะที่ 1 และระยะที่ 2
อาคารระบบสนับสนุน จำนวน 1 อาคาร (Utility อาคารที่ 3) เพื่อรองรับการดำเนินงานของอาคาร Data Center อาคารที่ 3 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 4 ปี 2560 และดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2561
ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล 2 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลไอเน็ต 1 อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ (INET-IDC1) และศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลไอเน็ต 2 (INET-IDC2) อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ในอนาคตการเชื่อมโยงศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกัน จะยิ่งเสริมเสถียรภาพและความปลอดภัยของข้อมูล ตอบสนองความต้องการของตลาด Co-Location และ Cloud Computing ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
รวมทั้งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด และรักษาความเป็นผู้นำในตลาด Cloud Computing ทั้งจากฐานลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ดันเป้าหมายรายได้ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนได้เป็นอย่างดี
'เป้าหมายของเรา คือ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยบริการที่มีมาตรฐาน ราคาไม่แพงจนเกินไป ขณะนี้มั่นใจว่า มาถูกทางแล้ว ดังนั้นหากโอกาสเข้ามาก็พร้อมวิ่งเข้าใส่' 
'นายใหญ่' ปิดท้ายบทสนทนาด้วยการฉายที่มาของ 'อินเทอร์เน็ตประเทศไทย' ว่า เริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2538 ในชื่อของ ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย (ITSC) ซึ่งได้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์ สมัยก่อนประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า 'อินเตอร์เน็ต' 
แต่เมื่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำการวิจัย และต้องการให้ระบบมหาลัยมีการสื่อสารกันด้วยระบบอินเตอร์เน็ตเหมือนในต่างประเทศ จึงเริ่มนำระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาใช้ในวงการมหาวิทยาลัยก่อน
เมื่อ สวทช. ใช้แล้วเกิดประโยชน์ หลังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคเอกชนต้องการนำมาใช้ในการติดต่อทางธุรกิจ แต่ก็ใช้ไม่ได้ เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมในอดีตเป็น 'ธุรกิจผูกขาด' (Monopoly) มีเพียง บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT และ บริษัท ทีโอที หรือ TOT เท่านั้นที่เป็นผู้ให้บริการ
แต่ สวทช. เห็นประโยชน์ของการใช้ 'อินเตอร์เน็ต' จึงเข้าไปคุยกับทาง CAT และ TOT ให้มาร่วมกันลงทุน จุดกำเนิดของบริษัทเกิดขึ้นในช่วงนั้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทและจดทะเบียนในปี 2540 ต่อมาในปี 2544 บริษัทได้แปรสภาพเป็นมหาชน โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย คือ สวทช. ถือหุ้น 17% กสท. 16% และ ทีโอที 16%
'จุดแข็งไอเน็ต' คือ ประสบการณ์ที่สะสมมากกว่า 10 ปี และมีกรณีศึกษาช่วงอุทกภัยปี 2554 โดยได้ตั้งโครงการ ไอเน็ตเตรียมพร้อมรองรับภัยพิบัติตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อปฎิบัติการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องกว่า 600 ชั่วโมง รวมถึงให้บริการบิซิเนส เซ็นเตอร์ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ลูกค้าดำเนินกิจการ และธุรกิจได้ต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น