02 มิถุนายน 2559

บลจ.ไทยพาณิชย์ ชูนโยบายทำงานเชิงรุก วางเป้า AUM ปี 59 เพิ่มราว 1 แสนล้านบาท

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 ว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ประมาณ 1 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2558 ที่มี AUM อยู่ที่ 1,163,079 ล้านบาท โดยการขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามา ทั้งลูกค้าสถาบันและรายย่อยควบคู่กับการรักษาฐานลูกค้าเดิม เพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมไว้ให้ได้
ทั้งนี้ บริษัทจะใช้กลยุทธ์การยกระดับชื่อเสียงของแบรนด์ในฐานะบริษัทจัดการที่ทำงานเชิงรุก (Active) โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานหลัก 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการลงทุน โดยมุ่งหวังให้ผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่ในอันดับต้น (First Quartile)  ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการผลักดันกองทุนหลายกอง ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนให้มีผลดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและโดดเด่น อาทิ กองทุนหุ้น SCBSE ซึ่งเป็นกองทุน 5 ดาว ที่จัดอันดับโดย Morning Star และในปี 2558 ยังจัดเป็นกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลตอบแทนสูงสุดอันดับต้นๆ อีกด้วย
ด้านการสร้างและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในทุกระดับความเสี่ยง โดยผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงไม่สูงมากนัก ก็จะนำเสนอกองทุนตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนในระดับดี ไว้พักเงินในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวน เช่น กองทุน SCBSFF PLUS, SCBFP และ SCBFST ซึ่งเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น เช่น สามารถลงทุนในหุ้นได้ ก็มีกองทุนหุ้นปันผล ที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เช่น SCBDV และกองทุนที่คัดเลือกหุ้นรายตัวที่เติบโตเร็วกว่าตลาด เช่น SCBSE, SCBMSE  นอกจากนี้ยังมีกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Multi Asset) และเน้นการสร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น กองทุน SCBGPLUS ที่ได้เปิดจองไปแล้วเมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา  โดยใช้หลักการจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) และมีการกระจายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่ม
โดยในปีนี้จะเห็น บลจ.ไทยพาณิชย์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น มีการดำเนินงานแบบ Active และมีการนำกลยุทธ์การลงทุน Long/Short หรือAbsolute Return มาใช้เพื่อลดความผันผวนจากการลงทุน และให้ได้ผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อาทิ High Net  Worth /Ultra High Net Worth อย่างไรก็ตาม บริษัทฯจะนำเสนอกองทุนดังกล่าว ควบคู่กับการเน้นให้ความรู้เรื่องการลงทุนแก่ผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะความรู้ด้านสินทรัพย์เสี่ยง โดยมุ่งหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในระยะยาว เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนมากขึ้น
นอกจากนั้น ด้านการยกระดับมาตรฐานการเสนอขายผลิตภัณฑ์ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน มีการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย และลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศนั้น จึงเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของการให้บริการและมาตรฐานของการเสนอขาย มีการจัดตั้งทีมงาน SCB Branch Network ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอให้กับพนักงานขายของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อให้เป็นได้ทั้งผู้แนะนำและที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่ดีให้กับลูกค้า  อีกทั้งยัง เป็นบลจ.รายแรกที่มีระบบควบคุมการขาย ด้วยระบบ Call Back Verification  เป็นระบบที่ทุกๆ วันCall Center ของ บลจ. จะโทรกลับผู้ลงทุนที่ซื้อกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่า risk score ของผู้ลงทุน  เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีความเข้าใจและมีความต้องการลงทุนในกองทุนนั้นจริง  หากไม่ ผู้ลงทุนสามารถยกเลิกคำสั่งซื้อได้ทันที
ขณะที่ ยังมีการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ด้านจัดการลงทุนร่วมกับพันธมิตรชั้นนำของโลกที่มีประสบการณ์ในการบริหารสินทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก  เพื่อทำงานร่วมกันในการจัดสรรสินทรัพย์และนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ สู่ตลาดในอนาคต อีกทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของระบบงานต่างๆ ที่ให้บริการภายในองค์กร  เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เน้นการทำงานประสานเชื่อมโยงกันเป็นทีม โดยมีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น และลดอุปสรรคในการทำงานมากขึ้น รวมทั้งมีการควบคุมภายในที่ดี
สำหรับในปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมากจากกลุ่มลูกค้าสถาบัน ที่ส่งผลให้กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund)  สามารถครองความเป็นอันดับ 1 ไว้ได้ สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารกองทุนที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนสถาบัน สำหรับในปีนี้ บริษัทฯ เชื่อว่าจะสามารถรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีแผนการทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์กับกลุ่มลูกค้าธนาคารเพิ่มมากขึ้นด้วย
ส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายในการเพิ่ม AUM รวมในปีนี้ คือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการระดมทุนภาครัฐ ในลักษณะกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ซึ่งบริษัทฯมีแผนในการมีส่วนร่วมอย่างแน่นอน เนื่องจากมีประสบการณ์การบริหารกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (Digital Telecommunications Infrastructure Fund) หรือ DIF ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
"การที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมใน Infrastructure Fund ก็ต้องมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง ทั้งการมีทีมวาณิชธนกิจเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้โครงสร้างกองทุนแข็งแกร่ง และต้องมีทีมขายที่มีความสามารถในการขายกองทุนที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์มีพร้อมทั้ง 2 อย่าง ประกอบกับที่ผ่านมาเรามี Roadshow เพื่อพบปะผู้ลงทุนต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง ลอนดอน  และสิงคโปร์  ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลเชิงลึก ทำให้กองทุนมีความน่าสนใจและประสบความสำเร็จด้วยดี"นายสมิทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 58 บลจ.ไทยพาณิชย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ  รวม 1,163,079 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทก้าวสู่อันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 21% คิดเป็นอัตราเติบโตจากปี 2557 15.2%
โดยกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์มีการเติบโตมากที่สุด ในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ สิ้นปี 2558 สูงถึง 245,035 ล้านบาท เติบโต 130% จากสิ้นปี 2557 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น  41.5% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557 สำหรับธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 117,643 ล้านบาท เติบโต 6.7% จากปี 2557 และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 800,401ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund มูลค่ารวม 71,194 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 57,977 ล้านบาท

ที่มา http://goo.gl/RMDiyi

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)