ร้านสะดวกซื้อจะค่อยๆปรับเปลี่ยนจากสถานที่ขาย สินค้า (Goods) ไปเป็นสถานที่ขาย บริการ (Services)
ถ้าพูดถึงเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย น่าจะเห็นตรงกันว่า คือร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) ที่พบเห็นได้ทั่วไปริมถนน พื้นที่ชุมชน ปั๊มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งสาขาแบบสแตนอโลนตั้งอยู่โดดๆพร้อมที่จอดรถ โดยมีบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้บริหารแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย
แม้จะมีธุรกิจในส่วนของบริษัทลูกด้วย เช่น ถือหุ้นใหญ่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) แต่ 80% ของกำไร(earning before tax)ก็ยังมาจากธุรกิจของ CPALL เดิมเป็นหลัก อันได้แก่ ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น, ร้านขายยา Xta , คัดสรรเบเกอรี่ Cudson, ผู้ผลิตอาหารถาดฟรีซ7 Fresh, และ กำลังเปิดแนวรบใหม่ด้านกาแฟสดในชื่อ ร้านกาแฟมวลชน
ที่ผ่านมาการเติบโตหลัก (Growth Story) ที่ทำให้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นขยายสาขาได้เรื่อยๆ ไม่ได้มาจากมูลค่าตลาดค้าปลีกไทยที่เติบโตขึ้น แต่ เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่กำลังเปลี่ยน "สถานที่" ช้อปปิ้งซึ้อของ โดยย้ายจากโชห่วยดั้งเดิม มาเป็นร้านสะดวกซื้อ ที่สะดวก สว่าง เย็นสบายตั้งราคามาตรฐานทั่วประเทศและมีพัฒนาการเป็นร้านอิ่มสะดวกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ในระหว่างเส้นทางธุรกิจตลอด 15 ปีที่ผ่านมาเซเว่นอีเลฟเว่นไม่ได้เป็นเครือข่ายรายหลักในตลาดค้าปลีกไทยได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่กิจการได้ฝ่าฟันสารพัดอุปสรรค และคู่แข่งอย่าง AM-PM, จิฟฟี่(Jiffy), แฟมิลี่มาร์ท(Family Mart), 108ลอว์สัน, และอีกสารพัดร้านสะดวกซื้อใน format ใกล้ๆกัน กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่การขยายสาขาครอบคลุม และทิ้งห่างอันดับ 2-3 อย่างมากวันที่ยึดกุมทำเลหัวถนน ปากซอย ตึกแถวหัวมุม เกือบทุกชุมชนทั่วประเทศทั้งหมดที่เราเห็นวันนี้ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่ใช้เวลามากกว่า15ปีในการก่อร่างสร้างอาณาจักร
จำนวนสาขาที่มีล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 59 มีทั้งสิ้น 9,252 สาขา ซึ่งปกติใช้พนักงาน 3 คนต่อกะ และใช้คน ประจำร้าน ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้คนหมุนเวียนต่อวันมากกว่า85,000คน!!! :ซึ่งยังไม่นับรวมคนทำลอจิสติกส์ (Logistics), คนคุมคุณภาพอาหารสดที่วิ่งทุกร้าน ทุกวันทั่วประเทศ , คนเก็บ/เติมเงินสด ฯลฯ รวมกันแล้ว ต้องใช้คนต่อวันเป็นแสนคน ...
ถึงต้องมี 'สถาบันปัญญาภิวัฒน์' เพื่อเป็นแหล่งสร้างคน ให้ทำงานและสร้างงานต่อ
เอาหละ นั่นก็เป็นอดีตที่นำพานักลงทุนในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ได้รับกำไรเป็นกอบเป็นกำกันมา ทุกวันนี้ คำถามมากมาย อยากรู้ว่าวันนี้ ธุรกิจนี้ยังคงน่าสนใจหรือไม่ ยังเติบโตได้อีกหรือไม่และมันจะโตต่อไปได้ด้วยอะไร ? เป็นสเกลที่ใหญ่แค่ไหน ?
ถ้าเราไปดูโอกาสในโครงการใหม่ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่แจ้งแผนให้นักลงทุนทราบ ก็มักจะมีประมาณว่า จะทำอีคอมเมิร์ซ หรือจะเข้าสู่ธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม แต่โดยส่วนตัว ก็ยังอยากเห็นแหล่งรายได้ใหม่ๆที่มากกว่านี้ ชัดเจนกว่านี้อยู่ เลยลองไปดูกรณีศึกษาที่ญี่ปุ่น ที่นั่นจำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อมากกว่าประเทศไทยอยู่มาก สิ่งที่พบก็คือ อนาคต... ร้านสะดวกซื้อจะปรับตัวเข้ากับ "ประชากร" ในประเทศ ... นั่นคือสังคมผู้สูงวัย
ร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น ปรับตัวมาขายสินค้าให้พี่ๆสูงวัยมากขึ้น และมากขึ้น เช่น
->ขายสินค้าพร้อมจัดส่งถึงบ้าน พี่สูงวัยไม่จำเป็นต้องมาถึงร้านเพื่อหิ้วของกลับบ้านทุกวัน
->ขายชุดข้าวกล่องเบนโตะเพื่อสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพอื่นๆแบบส่งดีลิเวอรี่ถึงบ้าน
->มีพื้นที่ขายยาให้พี่สูงวัย
->มีการจัดมุมดูแลให้คำปรึกษาแก่พี่สูงวัย มีเก้าอี้ให้นั่ง และในที่สุดกลายเป็นจุดนัดพบไปเลย บางสาขาที่มีพื้นที่เลยจัดกล่องคาราโอเกะเข้าไปด้วย .
สิ่งเหล่านี้แม้จะยังมาไม่ถึงประเทศไทยก็จริง แต่หลายโมเดลธุรกิจก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดในไทย เพราะเราเคยได้ยินการขาย 'บริการ' ซักรีด, ส่งของ, จ่ายเงินชำระเงิน ฯลฯ ที่ร้านสะดวกซื้อของไทยบ้างแล้ว
ร้านสะดวกซื้อจะค่อยๆปรับเปลี่ยนจากสถานที่ขาย "สินค้า(Goods)" ไปเป็นสถานที่ขาย บริการ(Services) ซึ่งถ้าทำได้ นี่คือ ธุรกิจใหม่ ที่เกาะกระแสเทรนด์พร้อมกัน 2 เทรนด์ใหญ่คือ สังคมสูงวัย (Aging Society) และ ความเป็นเมือง (Urbanization)
หากทำได้จริง ก็จะถือเป็น Growth Story ใหม่ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638814
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น