Pages

Pages

24 ธันวาคม 2559

สาระน่ารู้เกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์

1.ประกันภัยรถยนต์ไม่ใช่เทพ

เมื่อเรามีรถ สิ่งที่เรานึกถึงคู่กันก็คือ การทำประกันภัยรถยนต์ บางทีเราเองก็ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่ามีอะไรบ้างที่ประกันภัยรถยนต์ไม่ได้ให้ความคุ้มครอง ในขณะที่ตัวบริษัทประกันหลายเจ้าต่างก็ทำโฆษณาเพื่อบอกเรา (ที่กำลังหาประกันรถยนต์) ว่าบริการของเขาดีอย่างไร (เช่น มาเร็ว เคลมเร็ว ใจเขา ใจเรา ฯลฯ) เพื่อโน้มน้าวใจเราให้ไปเลือกใช้บริการจากเขาในขณะที่เรากำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะทำประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี


สิ่งที่เรามักเข้าใจผิด

บรรดาเหล่าโฆษณาของบรษัทประกันภัยที่มักจะให้ภาพว่า เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุแล้ว ทุกอย่างจะจบลงที่บริษัทประกันทั้งหมดราวกับว่าเจ้าของรถที่ทำประกันภัยจะไม่ต้องทำอะไรเลยแม้จะเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด (ซึ่งไม่จริง) ปัญหาที่ตามมาก็คือ ภาพโฆษณาที่มันสื่ออกมามันมาผนวกกับธรรมชาติของเราที่ชอบสบาย ๆ ไม่ชอบความวุ่นวาย (แถมไม่ชอบอ่านกรมธรรม์) จนทำให้เราเข้าใจว่า บริษัทประกันจะเป็นนักแก้ปัญหาขั้นเทพแทนเราทุกอย่าง (โดยเฉพาะประกันประเภท 1 แต่เรามักเรียกประกันภัยชั้น 1 จนเหมือนเราเป็นบุคคลพิเศษ ซึ่งก็ไม่จริงอีกนั่นแหละ) พอบริษัทปฏิเสธการชดเชย (ที่อยู่นอกกรอบความคุ้มครอง) ก็มักจะใช้คำพูดว่า “แล้วจะทำประกัน (ชั้น 1) ไว้ทำไม (วะ)” ที่มากกว่านั้นก็คือ เรามักเผลอจำกัดจิตสำนึกความรับผิดชอบลงตามความจำกัดของประกันภัย โดยลืมไปว่า ประภัยภัยภาคสมัครใจทั้งหลายมีหน้าที่เพียงแบ่งเบาภาระของเราลงบางส่วน (เท่านั้น) เพราะมันเป็นไปตามข้อตกลงทางธุรกิจระหว่างเรากับบริษัทประกันภัยนั่นเอง

ถ้าเราผิด เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราทำ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

ลองจินตนาการว่า สมมติว่า เพื่อนคนหนึ่งติดหนี้เลี้ยงข้าวเรา 1 มื้อ ให้งบมา 100 บาท (อาจจะเลี้ยงเพราะเราไปช่วยงานเขา หรืออะไรก็ตามที่เขาอยากตอบแทน) ขณะที่เรากำลังเดินหาร้านเราก็มัวเล่น Facebook บนมือถือโดยไม่ดูทาง ปรากฎว่าไปเดินชนสาวคนหนึ่งที่กำลังดื่มกาแฟสด กาแฟของเธอคนนั้นก็หกใส่เสื้อเธอคนนั้น ในเหตุการนี้เราผิดเต็ม ๆ เราจะทำอย่างไรจากตัวเลือกต่อไปนี้
· กล่าวว่า “ผมขอโทษครับ ผมไม่ได้ตั้งใจ” แล้วก็เดินจากไป
· กล่าวว่า “ผมขอโทษครับ ผมไม่ได้ตั้งใจจะชนคุณเลย คุณไปเรียกร้องค่าเสียหายจากเพื่อนผมเอาเองนะ” แล้วก็เดินจากไป
· กล่าวว่า “ผมขอโทษครับ ผมไม่ได้ตั้งใจ เรียกร้องค่าเสียหายจากเพื่อนผมเลยนะ” แต่สาวคนนั้นบอกว่า “กำลังจะไปสัมภาษณ์งาน ฉันอาจจะตกงานเพราะเหตุการณ์นี้ก็เป็นได้นะ” แล้วเราตอบว่า “ก็ขอโทษแล้ว ยังจะเอาอะไรอีก ผมก็บอกคุณแล้วไงว่าไปขอการชดเชยจากเพื่อนผม”

ไม่ว่าจะเราเลือกแบบไหนก็ดูตลกทั้งนั้น แต่สิ่งที่เรามักพบเห็นทั่วไปเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อไหร่ มันจะเกิดเหตุการณ์แบบข้างต้นเลย คือ เจ้าของรถยนต์ที่เป็นฝ่ายผิด (ที่มีประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ) พอยอมรับผิดแล้วถือว่าเป็นจบ จากนั้นจะคอยปัดความรับผิดชอบต่อคู่กรณีตนเองไปที่บริษัทประกันภัยก่อน โดยแทบจะไม่สนใจด้วยซ้ำว่ามันอยู่ในขอบเขตความความคุ้มครองของกรมธรรม์หรือไม่ แม้แต่การติดต่อขอการชดเชยก็ยังให้คู่กรณีติดตามเอาเองโดยอาจจะไม่เคยคิดเคยว่า บริษัทประกันที่ตนเองให้ความไว้วางใจนั้นเล่นแง่กับคู่กรณีเลยหรือป่าว ผมเคยอ่านเจอกรณีนี้ในเว็บบอร์ดบ้าง เช่นใน http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=3b4e052058f640e4 หรือท่านเองก็น่าจะเคยผ่านตาในเว็บบอร์ดอื่น ๆ เช่น pantip เป็นต้น


ประกันภัยรถยนต์มีขอบเขตความคุ้มครองที่จำกัด
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ไม่ว่าชั้นประเภทไหน) จะกำหนดขอบเขตความคุ้มครองเบื้องต้นเพียงแค่ ตัวร่างกายและตัวทรัพย์สินเท่านั้น ไม่ได้ชดเชยเกี่ยวค่าเสียหายอื่น ๆ ในหลายๆกรณี แม้แต่การซ่อมแซมรถยนต์ก็ยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอน อย่างเก่งก็แค่ออกใบเคลมเท่านั้น แม้แต่ระยะเวลาที่ดำเนินการซ่อมแซมนั้นก็ยังไม่ได้ทำให้ระยะการคุ้มครองมันเพิ่มขึ้นเลย มันจึงมักมีเรื่องตามมาอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเราเป็นฝ่ายผิดแต่คู่กรณียังไม่ยอมความเสียทุกเรื่อง (ซึ่งมันก็เป็นสิทธิ์ของเขาส่วนหนึ่ง) เราควรเผชิญหน้ากับคู่กรณีด้วยตนเองด้วยและเจรจากันแบบแฟร์ที่สุดเท่าที่จะทำได้


เราจะชดเชยเพิ่มเองอย่างไรดีที่เรียกว่าตามสมควร

เราควรรับฟังข้อเรียกร้องของคู่กรณีและแสดงออกถึงความพยายามที่จะรับผิดชอบ แต่การที่จะชดเชยอย่างไรนั้นมันก็ต้องสมเหตุสมผล การทำดีไม่ได้แปลว่าเราไม่ต้องใช้สมองจนตกเป็นเบี้ยล่างตลอด

ตัวอย่าง
เราขับรถไปชนรถคนอื่นเสียหาย เราเป็นฝ่ายผิด ถ้าคู่กรณีต้องใช้รถเดินทางทุกวัน แต่รถต้องรอซ่อมอีกนาน ช่วงนี้ต้องเดินทางวันละ 60 กิโลเมตร เขาต้องจ่ายค่าแท็กซี่ทุกวัน วันละ 300 บาท เขาคง "เรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม" จากบริษัทประกันภัยฝ่ายเรา (ถ้าทำได้) แต่ประกันเองก็อาจจะไม่ได้จ่ายให้ตามนั้น (จะด้วยเพราะอะไรก็ตามแต่) คู่กรณีจึงขอการชดเชยส่วนนี้เพิ่มจากเราทุกวันจนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ (อาจจะรวมนับกรณีต้องใช้รถประกอบอาชีพ)

กรณีนี้ไม่มีบริษัทไหนชดเชยเพิ่มให้ทันทีที่ขอแน่นอน หรือกว่าจะขอได้ก็วินกันยาว ถ้าเราเอาแต่บอกปัดให้เขาไปไปเรียกร้องเอาจากบริษัทประกันเองเอง ผมว่าถ้าเขาหัวหมอพอและเราประมาทเกินไป เราก็อาจจะแพ้คดีได้ แต่ถ้าตอบตกลงทันทีก็ดูจะเอาเปรียบกันเกินไป ดังนั้น คงต้องเปิดโต๊ะเจรจาแบบสันติกับคู่กรณีและช่วยติดตามความคุ้มครองให้เขาเท่านั้น ซึ่งก่อนเจรจาเราต้องเตรียมข้อมูลเบื้องต้นด้วย (แบบสมเหตุสมผลทั้ง 2 ฝ่าย) เช่น
· ตรวจสอบวงเงินชดเชยที่เรามี และเขารับไปแล้วเท่าไหร่
· ถ้าเขาขับรถเอง อาจจะต้องเสียน้ำมันประมาณวันละ 6 ลิตร ดังนั้น เขาต้องรับภาระเองอย่างน้อยก็ประมาณ 180 บาท ยังไม่รวมค่าสึกหรอต่าง ๆ (แล้วจะมาเรียกร้องจากเราตั้ง 300 บาทได้อย่างไร)
· ถ้าเขาขับรถเอง เขาก็เสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบในการเฉี่ยวชน (ตราบใดที่มีการใช้รถ มันก็เป็นเรื่องปกติที่อุบัติเหตุมันเกิดได้ตลอด)
· เขามีโอกาสถูกมิจฉาชีพในคราบคนขับแท็กซี่ปล้นได้ (แล้วเราหาแท็กซี่เจ้าประจำที่เรารู้จักให้เขาได้มั้ย แบบไปรับหน้าบ้านประจำทุกวัน)
· บางครั้งการรอซ่อมไม่ได้แปลว่ารถมันใช้งานไม่ได้เสียเลย เอารถไปใช้งานก่อน เมื่อคิวซ่อมมาถึงค่อยเอารถไว้ที่อู่ได้มั้ย (ลองถามอู่ซ่อมดูว่ามันมีวิธีใดบ้าง)
· สามารถเช่ารถจากที่อื่นใช้แทนได้มั้ย (เช็คประกันภัยฝ่ายเราว่าคุ้มครองได้แค่ไหน)
· ฯลฯ
หากเราเตรียมข้อมูลสำหรับโต้แย้งการเคลมแบบเว่อร์ที่แฟร์ ๆ แสดงออกถึงความรับผิดชอบอย่างดี และคู่กรณีเขามีเหตุผลพอ เราอาจจะไม่ต้องชดเชยอะไรเพิ่มมากจนเกินไป หรือไม่ก็ไม่ต้องถูกฟ้องร้องให้ชดเชยอะไรเพราะบรรยากาศการพูดคุยที่ดีก็เป็นได้ อย่าลืมครับว่า ประกันไม่ได้ทำหน้าที่แทนเราทั้งหมดได้หมดครับ



2.เข้าใจง่าย ๆ กับการใช้งานประกันภัยรถยนต์

เป็นการยากจริง ๆ ที่เราจะตั้งใจอ่านสัญญาในกรมธรรม์ เพราะภาษากฎหมายนี่มันต้องแปลไทยเป็นไทย (ทำไมไม่เขียนให้มันอ่านง่าย ๆ ก็ไม่รู้) หลายคนก็ต่อกรมธรรม์ไปเพราะรู้ว่ามันต้องทำ (ก็แค่นั้น) แต่พอเกิดอุบัติเหตุหรือคราวต้องเคลมประกันแล้ว กลับทำตัวไม่ถูก

ขออธิบายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เอาแบบเข้าใจง่าย ๆ หวังว่าจะช่วยให้เรารักษาผลประโยชน์ของเราได้อย่างเต็มที่ และจะได้ไม่ไปตบตีกับบริษัทประกันแบบมั่ว ๆ


สิทธิประโยชน์ที่ควรจำ

· กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะมีผลทันทีหลังชำระเบี้ยประกัน (จะชำระที่บริษัทประกันหรือนายหน้าผู้เอาประกันก็ตาม) ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ต้องขอใบเสร็จรับเงินทันทีและเก็บใบเสร็จรับเงินดีๆ
· ถ้ารถเกิดความเสียหายสิ้นเชิง (total loss หรือมักพูดสั้นๆกันว่า ตีเป็น loss) ซึ่งมันเป็นสภาพที่ไม่สามารถซ่อมกลับคืนดังเดิมได้ บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายเงินให้แก่เรา (ผู้เอาประกัน) เต็มทุนประกัน และรถคันนั้นจะตกเป็นทรัพย์สินของบริษัทประกันภัย ไป แต่ถ้าเราซื้อผ่อนกับไฟแนนซ์ ก็จะมีสัญญาให้เราโอนค่าประกันนี้ให้ไฟแนนซ์โดยตรง แล้วค่อยมาเคลียร์ส่วนต่างกันภายหลัง
· ค่าเสียหายส่วนแรกส่วนค่าเอ็กเซส (excess) ในกรณีไม่มีคู่กรณีจะจ่ายเพียง 1,000 บาท เท่านั้น แต่ถ้าคนอื่นขับไปทำให้เกิดความเสียหาย (เป็นฝ่ายผิด) ต้องจ่าย 2,000 - 6,000 บาท ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับข้อตกลงเกี่ยวกับการตกลงจ่ายค่าส่วนแรกส่วน deductible แบบสมัครใจด้วย
· การดูแลขนย้ายรถที่เสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุเพื่อไปซ่อมที่อู่ เป็นหน้าที่ของบริษัทประกันตั้งแต่หลังเกิดเหตุจนกระทั่งซ่อมเสร็จ ดังนั้น แม้ว่าระหว่างนั้นจะต้องย้ายรถไปโรงพักหรือที่ใดก่อนก็ตามเพราะเหตุนี้ บริษัทประกันภัยก็จะต้องรับภาระส่วนนี้ แต่ไม่เกินร้อยละยี่สิบของค่าซ่อม
· ค่าอะไหล่ที่เกิดจากการซ่อม ผู้เอาประกันสามารถเรียกร้องเป็นเงินตามราคาประเมินเพื่อนำไปจัดหาเองได้ เพราะบางครั้งเราก็ไม่มั่นใจหรอกว่า อู่ที่บริษัทประกันมีอยู่จะไช้อะไหล่รถแท้หรือป่าว
· ถ้าขับรถชนกับรถคู่กรณีที่ไม่มีประกันภัยและรถของเราเป็น “ฝ่ายถูก” ต้องตรวจสอบกับบริษัทประกันภัยว่าตามรายงานอุบัติเหตุนั้น รถของคุณเป็นฝ่ายถูกจริงเหรอ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์
· กรณีเราเป็นฝ่ายถูก หากรถต้องซ่อมนาน เรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มระหว่างไม่มีรถใช้แน่นอน อย่าลืม "เรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม" จากบริษัทประกันของคู่กรณี


ข้อปฏิบัติที่ควรจำ

· ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่ยังไม่เป็นที่แน่ใจว่าเราเป็นฝ่ายถูกหรือผิด เราก็ไม่จำเป็นต้องเซ็นต์ชื่อรับผิดในใบเคลม (มันไม่ใช่กฎ กติกา มารยาท หรือข้อกฏหมายใด) การตรวจสอบหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่ของบริษัทประกัน (ต้องจัดไป)
· ห้ามหนีในกรณีที่ขับรถชนคน ถ้าหนีจะเป็นเหตุให้เราติดคุกทันที (ไม่รับผิดชอบ) การให้ช่วยเหลือคนเจ็บให้เต็มที่ รวมถึงการถ่ายรูปหลักฐานที่เกิดเหตุไว้ต่อสู้คดี บางทีโทษทางอาญาอาจเหลือแค่การรอลงอาญา และตกลงค่าเสียหายกันตามสมควร อย่างน้อยถ้าเราไม่ใช่คนเลวบริสทธิ์แล้ว ศาลจะพิจารณาจากความมีน้ำใจที่เราช่วยเหลือผู้อื่น (แสดงความรับผิดชอบโดยยอมรับความผิดนี้)
· หากภายในรถมีการการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมจากโรงงานหลังจากที่ทำประกันไปแล้ว เช่น เครื่องเสียงชั้นดี ระบบก๊าซ CNG (หรือที่เรียกทั่วไปว่า NGV) ระบบก๊าซ LPG เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องแจ้งให้บริษัทประกันทราบ ไม่เช่นนั้น หากเกิดเหตุและรถคันเอาประกันเป็นฝ่ายผิด ความคุ้มครองที่จะได้รับจากการประกันอาจไม่สมบูรณ์ได้ (ได้สินไหมทดแทนเฉพาะแต่ตัวรถ นอกนั้นจะไม่รับเคลม) แต่แน่นอนว่า มูลค่าของทรัพย์สินที



3.ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 pantip ก็ไม่ใช่เทพ

ผมมักจะพบคำว่า “ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 pantip” ใน Google จนอดคิดไม่ได้ว่า ใครหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นอีกแบรนด์หนึ่งก็เป็นได้ เนื้อที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นความเข้าใจผิดของใครหลายคนที่มักจะไปตั้งกระทู้ ตอบกระทู้ในเว็บบอร์ดเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (แต่ถูกภาษาการตลาดเปลี่ยนเป็นประกันชั้น 1 ให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าเป็นประกันเหนือชั้น) ก็เลยขอเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อบทความ ไม่ได้มีเจตนาจะเข้าข้างบริษัทประกันภัยแต่อย่างใด และผมเองก็ไม่ใช่คนขายประกันด้วย


สิ่งที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (ประกันชั้น 1)
คนทั่วไปมักคิดว่า ถ้าทำประกันภัยรถยนต์แล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ภาระทุกอย่างจะเป็นของบริษัทประกันภัย ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องระหว่างเรากับคู่กรณีโดยตรง (ซึ่งผมเคยยกตัวอย่างแบบขำ ๆ ไว้ในเรื่อง “ประกันภัยรถยนต์ไม่ใช่เทพ”) ส่วนบริษัทประกันภัยนั้นมีหน้าที่แบ่งเบาภาระเราตามสัญญาในกรมธรรม์ระหว่างเรากับบริษัทประกันภัย ดังนั้น ถ้าบริษัทประกันภัยไม่ชดเชยคู่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะไปคุยกับประกันของเราว่าทำไมไม่ทำตามสัญญา ไม่ใช่ให้คู่กรณีไปไล่เบี้ยเอาเอง เหมือนเราเป็นเจ้าหนี้นาย A แต่เราก็เป็นลูกหนี้นาย B ด้วย ถ้านาย B มาทวงเงินเรา เราก็ต้องจ่าย ไม่ใช่ชิ่งให้นาย B ไปเอาเงินจากนาย A โดยอ้างว่าเราเป็นเจ้าหนี้เขา

ทำไมจึงเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรับผิดของประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (ประกันชั้น 1)
เอาแบบตรงไปตรงมา หลัก ๆ คือ
1. จิตสำนึกความรับผิดชอบของเราเอง
2. การซิกแซกของเจ้าหน้าที่เคลมประกันที่หาทางช่วยลูกค้าตัวเองแบบผิด ๆ (จนลูกค้าเข้าใจว่าถูกต้อง)
3. เมื่อซื้อรถแบบผ่อน คนซื้อจะถูกบังคับให้ทำประกันภัยชั้น 1 เลยคิดว่ามัน Top สุด ๆ แล้วแต่ที่จริงที่มัน Top เพราะมันมีได้เท่านี้


แล้วจะทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ไปทำไม

ความจริงมันมีอยู่ว่า ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เป็นประกันภัยรถยนต์แบบสมัครใจทำ (นอกเหนือประกัน พรบ. ที่กฎหมายบังคับให้ทำก่อนต่อทะเบียนรถยนต์แต่ละปี) โดยกำหนดขอบเขตความคุ้มครองเบื้องต้นทั้ง 4 ด้าน คือ
1. คุ้มครองตัวรถ (ของเราที่ทำประกันภัยให้) กรณีเกิดอุบัติเหตุ
2. คุ้มครองตัวรถ (ของเราที่ทำประกันภัยให้) กรณีสูญหายหรือไฟไหม้
3. คุ้มครองบุคคลที่ 3 (ไม่ว่าจะนั่งอยู่ในรถเราหรืออยู่นอกรถ)
4. คุ้มครองตัวรถและทรัพย์สินของคนอื่น (ที่เราขับรถของเราตามข้อ 1. ไปชนเขาเข้า)
ถ้าคิดแบบแค่ผิวเผินแล้ว มันดูเหมือนว่ามันครอบจักรวาลแล้ว แต่จะมีน้อยคนที่จะเข้าใจ (หรือทำใจยอมรับ) ว่ามันเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นเท่านั้น มันยังมีเงื่อนไขปลีกย่อยอีกเยอะ เช่น ใครเป็นฝ่ายผิด ตั้งใจให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่


ตัวอย่างการไล่เบี้ยความรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ (แม้จะชั้น 1 ก็ตาม)

เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้ จะมีสักกี่คนจะเข้าใจว่า การไล่เบี้ยของบริษัทประกันภัยก็จะต้องต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายด้วย บางทีเราก็อาจจะถูกโกงแบบไม่รู้ตัว แต่บางครั้งเราก็ชอบคิดแบบเขาข้างตัวเอง (โกงคนอื่น) ขอยกตัวอย่างกรณีคลาสสิค ได้แก่
1. การคุ้มครองทรัพย์สินที่บรรทุกอยู่ในรถ: ตอนเดินทางเราอาจจะมีสิ่งของติดรถไปด้วย สมมติว่า เราเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ติดไปกับรถด้วย แล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วคอมพิวเตอร์มันเสียหาย ใครจะรับผิดชอบกับความเสียหายของคอมพิวเตอร์นี้
a. กรณีเราเป็นฝ่ายผิด เช่น ขับรถไปชนรถคนอื่น กรณีนี้บริษัทประกันภัยจะชดเชยค่าเสียต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกแน่ ๆ ดังนั้น ถ้าในรถของคู่กรณีมีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในรถ และเมื่อเกิดเหตุ เครื่องคอมพิวเตอร์ก็เสียหายด้วย บริษัทประกันภัยฝ่ายเราจะชดใช้ค่าเสียหายของเครื่องคอมพิวเตอร์ของคู่กรณีด้วย แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในรถเรานั้น จะอยู่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของประกันภัยฝ่ายเราเลย
b. ในทางกลับกันกรณีเราเป็นฝ่ายถูก เบื้องต้นบริษัทประกันฝ่ายเราจะรับผิดชอบเฉพาะความเสียหายของตัวรถเท่านั้น (จากนั้นเขาจะไปตามเก็บจากคู่กรณีของเราภายหลัง) แต่ถ้าทรัพย์สินอื่นที่บรรทุกเสียหาย เราต้องไปเรียกร้องจากคู่กรณีเอง ก็ต้องดูอีกว่า คู่กรณีมีประกันภัยรถยนต์หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องดูอีกว่าประกันภัยฝ่ายคู่กรณีเขาจำกัดความคุ้มครองไว้อย่างไรบ้าง
2. กรณีไม่มีใบขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุ
a. กรณีเราเป็นฝ่ายผิดและมีใบขับขี่ ประกันจะรับผิดชอบทุกอย่างตามกรมธรรม์ แม้ว่าคู่กรณีจะไม่มีใบขับขี่ หรือรถคู่กรณีไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ก็ไม่เป็นเหตุให้เราพ้นผิด ส่วนคู่กรณีก็ถูกเปรียบเทียบปรับข้อหาไม่มีใบขับขี่หรือไม่ติดป้ายทะเบียนไป (มันคนละส่วนกัน)
b. กรณีเราเป็นฝ่ายผิดและไม่มีใบขับขี่ โดยพื้นฐานเบื้องต้นคือ ประกันจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีอาจจะมีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมที่ต่างกันไปตามแต่โปรโมชั่น

โดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า ไม่ใช่ทุกอย่างจะลงเอยไปที่บริษัทประกันภัยเสมอไป มันจะเป็นไปได้ในกรณีเดียวก็คือว่า เราพบข้อสัญญาที่ว่า “เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว บริษัทประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1 จะรับผิดชอบทุกอย่างเสมือนเป็นผู้ขับขี่ด้วยตนเอง” แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะมีข้อนี้ครับ



4.ประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี

ความจริงผมไม่ใช่ผู้รอบรู้หรอกครับว่า “ประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี” เพราะในชีวิตจริงผมไม่ได้เปลี่ยนรถยนต์บ่อย ๆ และตั้งแต่ใช้รถยนต์มาก็ยังไม่เคยเคลมประกันเลย แต่มักมีคำถามกันในลักษณะนี้ (ราวกับสมาชิกใน pantip จะขยันตอบกันซ้ำๆ) จึงลองหาข้อมูลใน pantip และในเว็บบอร์ดต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้แล้วเอามาสรุปให้อ่านเป็นแนวทางกัน จึงเป็นที่มาของชื่อบทความที่เห็นนี้

ตามที่ผมเคยเขียนว่า ส่วนใหญ่เรา ๆ ท่านจะถูกบังคับให้เลือกประกันภัยรถจากบริษัทประกันที่เขาทำตลาดร่วมกับไฟแนนซ์ที่ให้บริการเช่าซื้อ ในหัวข้อ ทำประกันภัยรถยนต์ อย่างไรดี แต่เขาใช้คำว่าแถมในปีแรกเพื่อให้มันดูดี ดังนั้น พอถึงเวลาต่อประกันภัยรถยนต์ปีที่ 2 เราก็มักอยากจะเลือกบริษัทประกันภัยที่เราชื่นชอบเอง

เริ่มต้นที่ แนวทางเลือกบริษัทประกันโดยทั่วไป ก่อน
มีคนให้ข้อคิดเห็นสำหรับคนซื้อประกันภัยรถยนต์ให้มองในหัวข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1. เมื่อเราเกิดอุบัติเหตุ เราอยากเข้าศูนย์ไหน หรือมีอู่ซ่อมในดวงใจที่ไหน ซึงควรน่าจะมีคำตอบเบื้องต้นไว้
2. ศูนย์หรืออูที่ว่านี้ มีบริษัทประกันภัยรถยนต์ไหนที่เขารับไว้ทำมาค้าขายด้วย คัดเลือกบริษัทประกันภัยมาสัก 3 – 5 เจ้า
3. ตรวจสอบชื่อเสียงบริษัทประกันภัยที่เลือกมา แล้วลดให้เหลือ 2-3 เจ้าก็พอ
4. ตรวจสอบหรือขอการเสนอราคากับโบรกเกอร์ (ตัวแทนหรือนายหน้าจำหน่ายกรมธรรม์) เลือกเอาที่น่าเชื่อถือได้
5. เลือกแบบประกันภัยตามราคาเหมาะกับการใช้งานเรา (ไม่ใช่เอาราคาถูกเข้าว่า เช่น การใช้งานมีความเสี่ยงมากก็ต้องเลือกบริษัทดูแล้วน่าเชื่อถือกว่าแม้จะแพงกว่าก็ตาม) โดยเบี้ยประกันก็คงเป็นตามกลไกตลาดและการประเมินสภาพความเสี่ยงจากการใช้รถ ถ้าจะสองคำนวณเบี้ยก็ลองดูในข้อ วิธีการคำนวณเบี้ยประกันภัยรถยนต์ แต่ง่ายสุดก็ถามจากโบรกเกอร์ประกันภัย

แนวทางดังกล่าวไม่ได้เฉพาะการต่อประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 1 เท่านั้น ยังประยุกต์ได้กับประกันภัยประเภท 2+ และ 3+ ด้วย เพราะไม่ว่าเป็นรถเก่าหรือใหม่ เมื่อเกิดอะไรขึ้นเราก็อยากจะซ่อมให้มันกลับคืนดังเดิมให้มากที่สุดทั้งนั้นแหละครับ

สถิติความนิยมบริษัทประกันภัย จากการสำรวจปี 2012

อันนี้ก็อบเขามาอีกที เป็นข้อมูลจากนิตยสาร BrandAge ได้ดำเนินการจัดทำผลการสำรวจความเป็นที่นิยมประกันภัยรถยนต์จากจากผู้บริโภคที่กำลังใช้บริการ ประจำปี 2555 ลองมาไว้เป็นแนวครับ เรียงตามลำดับร้อยละของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการประกันภัยที่เห็นด้วย โดยตัวเลขในวงเล็บจะเป็นร้อยละของปีที่ผ่านมา ดังนี้

1. วิริยะประกันภัย 51.84% (46.62%) ครองตำแหน่งนี้มายาวนานนับ 10 ปี
2. สินมั่นคงประกันภัย 12.40% (14.45%) ครองอันดับนี้มายาวนานตั้งแต่ปี 2550
3. กรุงเทพประกันภัย 7.85% (6.76%) ขยับขึ้นจากปีก่อน
4. มิตรแท้ประกันภัย 6.49% (7.46%) ลดลงจากปีก่อน แต่มักวนเวียนอยู่อันดับ 3 - 5
5. ทิพยประกันภัย 3.29% (4.90%) ลดลงจากปีก่อน
6. อาคเนย์ประกันภัย 2.91% (2.10%) ขยับขึ้นจากปีก่อน
7. ประกันคุ้มภัย 2.81% (3.03%) ลดลงจากปีก่อน
8. เมืองไทยประกันภัย 2.81% เจ้านี้หลุดจาก 10 อันดับยอดนิยมไปหลายปี เพิ่งมาติดใหม่ปี 2555 แทนที่ “LMG” ที่ได้คะแนน 1.75%
9. เอซ อินชัวรันซ์ 1.55% แทนที่ “ธนชาติประกันภัย” ที่ได้คะแนน 1.63%
10. ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย 1.16% แทนที่ “ไทยประกันภัย” ที่ได้คะแนน 1.63%


แล้วเราควรไปอยู่ส่วนไหนของสถิติ (จะเอาเจ้าไหนดี)

อย่างว่าแหละครับว่า นอกจากประกันภัยไม่ใช่เทพแล้ว ตัวเขาเองก็ต้องรักษาผลประโยชน์ตนเองเช่นกัน ถ้าค้นตามเว็บบอร์ดดูแล้วแม้บริษัทประกันภัยใน Top 10 ก็ยังเคยโดนด่า ส่วนใหญ่คือตุกติก ทั้งกับลูกค้าตัวเอง ตุกติกกับคู่กรณี (โยนความผิดให้คู่กรณีเพื่อช่วยให้ตนเองเป็นฝ่ายถูกเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบ / เอาใจลูกค้าแบบผิด ๆ) ยังไม่รวมปัญหาที่มาจากตัวอู่ที่ร่วมกับบริษัทประกันรถยนต์

ขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับบริษัทประกันภัย อย่างที่บอกแต่แรกว่า ค้นจาก pantip ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนทั้งประเทศ ดังนั้น จึงขอใช้ชื่อสมมติให้เป็นปริศนาธรรม ตีความกันเอาเองนะครับ ดังนั้น บางเจ้าที่ไม่มีข้อมูลเพราะไม่มีใครเอามาด่าหรืออาจจะใช้กันน้อย และที่โดนด่ามากก็อาจจะเป็นเพราะคนใช้มาก (มากคนก็เลยมากความเป็นธรรมดา) ดังนั้น ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่าน เพราะข้อมูลมันมาจากการบอกเล่า และจำนวนกระทู้ข้อมูลมันก็ไม่ได้เท่ากัน อ่านไว้เป็นข้อมูลพอเป็นแนวทางก็พอ อย่าจริงจังมาก (เลยเอาไว้ท้าย ๆ) ความเห็นภาพรวมที่พบใน pantip คือ

1. บริษัทที่มีการแนะนำกันมากที่สุดคือ กรุง lnw ประกันภัย กับ วีรีย่าประกันภัย (และน่าจะแพงกว่าใครด้วย) โดยภาพรวม
· กรุง lnw เคลมง่ายกว่า วีรีย่า
· เบี้ยประกันของของวีรีย่าจะถูกกว่า และมีอู่ซ่อมมากกว่า
2. บริษัทที่เน้นเบี้ยประกันถูกคือ เจ้าพญา กับ จำลอง (ศรี) แท็กซี่ใช้กันมาก
3. บริษัทที่มีการแนะนำมากสำหรับประกันภัยรถยนต์ประเภท 2+ กับ 3+ คือ เอขอเชียร์ และ อันอันซีพี
4. บริษัทที่เห็นกันว่ามีความมั่นคง แต่ต้องรับกับวิธีการทำงานแบบรัฐวิสาหกิจได้ เช่น แพงนิด ๆ ติดต่อ
ยาก ทำงานช้า ก็คือ ทิพยเทวาลัย (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเจ้ามีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือป่าว)
5. บริษัทที่เห็นกันว่าเข้าข้างตัวเองสุด ๆ จิตใจของการเป็นผู้ให้บริการมีน้อย คือ เมืองเทยประกันภัย (ชมพู) ชอบเปลี่ยนสถานะลูกค้าจากผิดเป็นถูกได้ยามมีคู่กรณี แต่ถ้าลูกค้าพลาดเองก็อาจจะเจอค่าเสียหายส่วนแรก (excess) ที่เกินจริงเช่นกัน
6. บริษัทที่เห็นกันว่าควรตัวออกห่างคือ lm9, โตเกี๊ยว, มิตรชุ่ย
7. บริษัทที่เห็นกันว่าดีบ้างไม่มีบ้างปะปนกันตามาตรฐานทั่วไป เช่น น้าคะเน, M51G, เอ็กซ่า, สินไม่เปลี่ยน, เทยประกันภัย (น้ำเงิน), 1NG

ก็หวังว่าพอจะเป็นแนวทางที่ช่วยท่านพิจาณาได้ดีขึ้นครับว่า ควรเลือกประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี



5.การเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม

ก่อนอื่นขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจากประสบการณ์จริงผู้ที่โพสต์ลงใน http://www.lancer-exclusive.com/forums/showthread.php?t=5019 ใน http://pantip.com/topic/30679686 และใน http://insuraia.blogspot.com/2011/08/blog-post.html จึงขอเอามาสรุปเป็นแนวทางให้เข้าใจภาคปฏิบัติสำหรับการเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม หรือเรียกสั้น ๆ กันว่า "การเคลมประกันรถระหว่างซ่อม"


ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์นี้

เมื่อรถที่เราขับไปประสบอุบัติเหตุแล้วเราเป็นฝ่ายถูก เรามีสิทธิ์เรียกร้อง (เคลม) สินไหมทดแทนจากคู่กรณีได้ (ตาม ป.พ.พ แล้ว ถือว่าเป็นฝ่ายถูกละเมิด) และถ้าหากคู่กรณีมีประกันภัยรถยนต์อยู่แล้ว เราสามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยของคู่กรณีได้ทันที (ถ้าประกันไม่ยอมจ่าย ให้ตามจากคู่กรณี ขอให้คู่กรณีตามประกันที่ตนเองใช้บริการ) นอกจากการเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมแล้ว เรายังสามารถเรียกร้องค่าเสื่อมราคาจากการประสบอุบัติเหตุได้ด้วย


การทำสำเนาที่ไม่ควรพลาด

สิ่งที่สำคัญคือ ทำสำเนาหลักฐานที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนเก็บไว้ ดังนั้น
1. เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ควรถ่ายรูปเก็บไว้ทันที เพื่อป้องกันคดีพลิก
2. หลังจากที่เจ้าหน้าที่บริษัทประกันแจกใบเคลมสำหรับซ่อมแล้ว
a. ถ่ายสำเนาส่วนหัวใบเคลมของคู่กรณีไว้ (หรือใช้กล้องถ่ายรูป) อย่างน้อยต้องมีหมายเลขใบเคลม รวมถึงสถานที่ขณะออกใบเคลมของเจ้าหน้าที่ประกัน
b. ถ่ายสำเนาใบเคลมของเราเก็บไว้ก่อนที่จะส่งให้อู่ซ่อมรถของประกัน
3. ตอนส่งรถเข้าอู่ซ่อม ใบแจ้งซ่อม / รับรถ ต้องระบุวันที่รับรถ (เข้าอู่ซ่อม) ที่ชัดเจน และทำสำเนาเก็บไว้
4. หลังจากที่ซ่อมเสร็จ ให้ขอสำเนาเอกสารจากอู่ซ่อม ได้แก่
a. รายละเอียดรายการซ่อม
b. ใบแจ้งซ่อม / ส่งรถ ต้องระบุวันที่ส่งรถ (ออกจากอู่) ที่ชัดเจน


การรวบรวมค่าใช้จ่ายระหว่างรอรถซ่อม

1. รวบรวมค่าใช้จ่าย / รายละเอียดที่จะขอสินไหมชดเชยช่วงที่ไม่มีรถใช้เพราะรอซ่อม เช่น
a. ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นเพราะขาดรถ
b. รายได้ที่ขาดหายไปเพราะขาดรถใช้ประกอบอาชีพ (เช่น ขับแท็กซี่ ใช้ในการรับจ้าง)
c. ค่าเสื่อมสภาพที่อาจจะมี (เช่น บริษัทไม่ยอมเปลี่ยนอะไหล่ แต่ใช้วิธีซ่อม)
2. การมีหลักฐานของค่าใช้จ่าย จะช่วยให้การเรียกสินไหมมีน้ำหนักขึ้น ใบเสร็จรับเงินต่าง ๆ


ขั้นตอนเรียกสินไหม

1. แจ้งความจำนงค์ขอยื่นเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมกับบริษัทประกันคู่กรณี
2. ถ้าบริษัทประกันไม่ปฏิเสธ โดยทั่วไปจะให้ยื่นเอกสาร (โดยทั่วไปจะให้ส่งทาง fax)
3. เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
a. หนังสือแจ้งความจำนงค์ (ดูตัวอย่างที่ท้ายบทความนี้) พร้อมสำเนาหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิด
b. สำเนาใบเคลมหรือรายละเอียดการซ่อม (ของเรา) และเอกสารที่ระบุวันรับรถและส่งคืนรถ
c. สำเนาใบเคลมคู่กรณี
d. สำเนาบัตรบัตรประชาชนพร้อมสำเนาหน้ากรมธรรม์ของเรา (ถ้ามี)
e. สำเนาทะเบียนรถ
4. ควรโทรไปสอบถามบริษัทประกันว่าเอกสารที่ส่งไปครบถ้วน ตัวอักษรชัดเจนหรือไม่ ใครรับเรื่อง หมายรับเรื่องที่เท่าไหร่ (จะได้ติดตามเรื่องสะดวกขึ้น) และจะติดต่อกลับเมื่อไหร่


ขั้นตอนหลังเรียกสินไหม

1. หากพ้นวันที่กำหนดไว้แล้วยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ให้โทรติดตามเรื่อง (กระทุ้งต่อมความรับผิดชอบ) ก่อนโทร เตรียมหมายเลขรับเรื่องไว้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
2. หลังเรื่องอนุมัติ มักมีการต่อรองราคา อันนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลในการต่อสู้เรียกค่าสินไหมทดแทนให้มากที่สุด (ในขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยก็จะจ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้)
3. การการต่อรองจบสิ้นด้วยดี บริษัทประกันภัยจะส่ง (fax) ใบตกลงรับค่าสินไหมให้เราลงชื่อยอมรับ (ตามที่ตกลงกันไว้ในข้อที่ผ่านมา) และส่ง (fax) กลับคืนเขาไป
4. การรับค่าชดเชย อาจจะเป็นเงินสด เช็ค หรือโอนเงินเข้าบัญชี (แล้วแต่วิธีการของแต่บริษัทไป)


กล่าวโดยสรุปคือ

การเรียกสินไหมทดแทนค่าเสียหายของรถยนต์เป็นสิทธิ์ที่ผู้ถูกละเมิดสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าผู้ละเมิด (ฝ่ายผิด) จะมีประกันภัยคุ้มครองหรือไม่ก็ตาม ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ยังรวมถึงค่าความเสียหายอื่นที่เกิดขึ้นเพราะการขาดรถใช้ด้วย

ตัวอย่างหนังสือประกอบการแจ้งความจำนงค์ขอเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม

วันที่ 1 เมษายน 2552
เรื่อง ขอเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม
เรียน แผนกสินไหมทดแทน
เอกสารแนบ (ถ้ามี)1. ....
2. ....
ข้าพเจ้า นางถูกชน ไร้ราชรถ เป็นเจ้าของรถยนต์ โตโยโต้ รุ่น โคล่า หมายเลขทะเบียน พรบ 9999 กทม ถูกรถยนต์ยี่ห้อ ฮอนโด้ หมายทะเบียน คปภ 9999 กทม ชนท้ายที่ปากซอยอ่อนนุช 17 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งขับโดยคุณ ตาถั่ว ใจถึง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รถของข้าพเจ้ามีความเสียหายดังนี้
1. รายการความเสียหาย 1
2. รายการความเสียหาย 2
3. ....บลา ๆ ๆ
ข้าพเจ้าได้จึงได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ ศูนย์โตโยโต้ สาขาอ่อนนุช ในวันที่ 1 มีนาคม 2552 ซ่อมเสร็จ วันที่ 31 มีนาคม 2552 เป็นเวลา 31 วัน

ข้าพเจ้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าหลังการขาย โดยปกติจะต้องใช้รถยนต์สำหรับติดต่อลูกค้าทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลทุกวัน ประมาณ 60 กม. / วัน ในระหว่างที่นำรถเข้าซ่อมนั้น ข้าพเจ้าต้องใช้บริการรถแท็กซี่ในการเดินทางแทนและมีความไม่สะดวกในการเดินทางอย่างมาก

ดังนั้น จึงขอเรียกสินไหมดังต่อไปนี้
1. ค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถ 400 บาทต่อวัน เป็นระยะเวลา 31 วัน รวม 12,400 บาท
2. ค่าเสื่อมสภาพรถจากอุบัติเหตุ 10,000 บาท
รวมทั้งสิ้น 22,400 บาท

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
ถูกชน ไร้ราชรถ

(นางถูกชน ไร้ราชรถ)



ที่มา: