Pages

Pages

10 พฤษภาคม 2560

รู้ทัน "อารมณ์" ของการซื้อบ้าน ที่มักทำให้คุณตัดสินใจพลาดในตลาดอสังหา

มาดูกันว่า “อารมณ์” ของเราจะมีอิทธิพลต่อบ้านที่เราเลือกและราคาที่เราจ่ายอย่างไรบ้าง และถ้าเราไม่รู้ทันอารมณ์ของเราที่เกี่ยวข้องกับการได้เป็นเจ้าของบ้านอาจจะนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้อบ้านแบบผิดๆ เหมือนที่เราเคยทำมาในอดีต



มันเป็นความจริงที่ว่า “บ้าน” เป็นทรัพย์สินที่เราใช้ “อารมณ์” ในการตัดสินใจมากกว่าการลงทุนประเภทอื่นมาก เพราะบ้านเป็นทั้งที่อยู่อาศัยให้เราได้ผ่อนคลายจากโลกที่วุ่นวายข้างนอก เป็นสถานที่ๆ เราเติบโต เริ่มต้นสร้างครอบครัว และก็เลี้ยงลูกเราต่อจนโต ทั้งยังแหล่งลงทุนที่หลายคนหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าเดิมในอนาคต ดังนั้นเราจึงผูกพันกับบ้านมากกว่าการลงทุนประเภทอื่น และหลายครั้ง เราก็มักปล่อยให้ความคิดของ “การเป็นเจ้าของ” (ownership) เข้ามามีอิทธิพลและบดบังหลักการใช้เหตุผลในการ “ซื้อบ้าน” จนทำให้เราได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดในระยะยาว ยกตัวอย่างเวลาที่คนมักสนใจในขนาดและรูปแบบของตัวบ้านมากกว่าความจริงที่ว่า พวกเขาอยากจะใช้เวลาไปกับครอบครัวให้ได้มากที่สุด ดังนั้น พวกเขาก็อาจตัดสินใจซื้อบ้านที่ “เพอร์เฟ็ค” มาก แต่กลับต้องใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปกลับที่ทำงานมากกว่า 2 ชั่วโมง แทนที่จะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวซะอย่างนั้น และนี่ก็เป็นข้อผิดพลาดทางด้านจิตวิทยาของคนซื้อและคนขายบ้าน ที่เรามักพบในตลาดอสังหาฯ



เพิกเฉยภาพรวม

สำหรับผู้ที่กำลังจะซื้อบ้าน พวกเขามักมองและถูกดึงดูดด้วยจุดน่าสนใจทางกายภาพของบ้าน แต่ละจุด อย่างเช่น สวนหลังบ้านที่กว้าง เฟอร์นิเจอร์สวยหรู ห้องนอนที่กว้างมาก เพราะเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม แต่บางครั้งมันก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะการย้ายบ้านก็ได้อย่างเสียอย่างเหมือนกัน

สิ่งที่ต้องแลกในหลายๆ กรณีก็คือ ระยะเวลาในการเดินทาง หลายคนย้ายไปอยู่บ้านที่ใหญ่ขึ้นแต่ก็ไกลจากที่ทำงานมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลงอีก ซึ่งการเดินทางไปกลับจากที่ทำงานนี้ก็มักไปลดทอนความสุขและเพิ่มความเครียดได้เหมือนกัน มีการศึกษาจาก Scandinavian Journal of Economics ที่ทำให้เห็นว่า คนที่ใช้เวลาในการเดินทางนานกว่า ในแง่ของความรู้สึก พวกเขาจะมีความอยู่ดีมีสุขน้อยกว่าคนที่ใช้เวลาเดินทางน้อย

มันง่ายเหลือเกินที่เราจะหลงเสน่ห์ไปกับความน่าสนใจและจุดเด่นทางแง่ของกายภาพต่างๆ ของบ้านที่จะซื้อ แต่ผู้ซื้อต้องไม่ลืมพิจารณาว่า บ้านที่จะซื้อจะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ทางสังคมของเราบ้าง



มองข้ามรายจ่ายใหญ่ๆ

คนที่กำลังซื้อบ้านมองค่าใช้จ่ายเป็นส่วนๆ และไม่นำมาคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการปรับแต่งบ้าน ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจผิดๆ เกี่ยวกับราคาแท้จริงที่พวกเขาต้องจ่ายไปกับบ้านหลังนั้น อย่างเช่น บางคนก็เอาเงินไปจ่ายเงินดาวน์ไว้มากเสียจนไม่เหลือเงินไว้ซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านที่พวกเขาต้องการ ดังนั้นเวลาที่คุณจะซื้อบ้าน คุณต้องคำนวณเงินในการตกแต่งและซื้อเฟอร์นิเจอร์ด้วยเช่นกัน



ชั่งน้ำหนักระหว่างการซื้อบ้านกับการเช่าบ้าน

ความกังวลใจด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดในการซื้อบ้านก็คือ “จริงๆ แล้ว คุณควรที่จะซื้อบ้านหรือเปล่า” ซึ่งมีผลการวิจัยที่บอกว่า มันมีประโยชน์ในด้านจิตวิทยาที่จะตัดสินใจซื้อไปเลย ในขณะเดียวกันก็มีประโยชน์ที่จะเก็บเป็นทางเลือกไว้ด้วย

การซื้อบ้านทำให้เกิดแรงสนับสนุนทางจิตใจสูงทีเดียว เพราะการซื้อบ้านทำให้ผู้ซื้อเกิดความรู้สึกที่ว่า “ได้เป็นเจ้าของบ้านแล้วนะ” ซึ่งนับว่าเป็นจุดยิ่งใหญ่สำคัญทีเดียว เพราะการเป็นเจ้าของบ้านทำให้ผู้ซื้อสามารถควบคุมอะไรได้มากขึ้นเพราะไม่ต้องไปคอยถามความเห็นจาก “ผู้ให้เช่า” (landlord) อีกต่อไป

แต่ในขณะที่ความรู้สึกได้เป็นเจ้าของเป็นเหตุผลหนึ่งในการซื้อบ้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่คุณยังไม่เคยค้นพบเมื่อได้เป็นเจ้าของบ้านจริงๆ ดังนั้นคุณต้องเตรียมความพร้อม



คาดหวังว่าจะได้เงินคืนก้อนโต

สำหรับการขายบ้าน ความจริงคือ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ขายบ้านในราคาก้อนโตอย่างที่คิด แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนอีกมากที่ตั้งราคาบ้านของพวกเขาไว้อย่างโลกสวยทีเดียว มีการศึกษาของอาจารย์มหาวิทยาลัย Yale ท่านหนึ่งที่ทำการสำรวจคนซื้อบ้าน ปรากฎว่า คนซื้อบ้านนั้นคาดหวังว่าราคาในอนาคตของบ้านจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้พวกเขาซื้อบ้านในราคาที่ไม่ได้ดีนักเมื่อดูจากทำเลและสังคมโดยรอบ เพราะพวกเขาคิดว่าเป็นการลงทุนที่ดี

แม้ว่ายังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าทำไมเจ้าของบ้านมักจะมีมุมมองต่ออนาคตที่ค่อนข้างสดใสมาก แต่นักวิชาการก็คิดว่าเป็นผลมาจาก “ภาพลวงของเงิน” คือ ความผิดพลาดที่เรามักไม่นำเอา “ค่าเงินเฟ้อ” เข้ามาพิจารณาด้วย

ลองคิดดูง่ายๆ ว่าเมื่อคุณได้บ้านจากคุณย่ามาเป็นมรดก คุณรู้ว่าราคาบ้านในปัจจุบันคือ 3 ล้าน แล้วคุณก็ดูราคาที่คุณย่าซื้อมาแค่ 5 แสน คุณก็คิดว่า “ว้าว ได้เงินเยอะเลย” แต่ที่มันดูเยอะเพราะคุณยังไม่ได้เอาเงินเฟ้อเข้ามาคำนวณในราคาบ้านเลย ดังนั้นคุณอาจจะไม่ได้ทำกำไรเท่าไรเมื่อเอาเงินเฟ้อมาคำนวณด้วย



ที่มา https://goo.gl/SF0YlG

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น