Pages

Pages

07 กรกฎาคม 2566

กรณีศึกษา ปีเตอร์ ลินช์ นักลงทุนที่หยุดความสำเร็จ ไว้ที่วัย 46 ปี



“ปีเตอร์ ลินช์” คือหนึ่งในผู้จัดการกองทุนระดับตำนานของโลก

โดยในช่วงปี 1977 จนถึงปี 1990 กองทุนรวมที่เขาบริหารนั้น สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี สูงถึง 29.2% ทำให้เขาโด่งดัง เป็นที่รู้จัก และมีรายได้มากมาย

แต่รู้ไหมว่า ปีเตอร์ ลินช์ กลับตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ทั้งที่มีอายุเพียงแค่ 46 ปี

แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ

ต้องบอกว่า ชีวิตของปีเตอร์ ลินช์ ในวัยเด็กนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะคุณพ่อของเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็ก

ทำให้คุณแม่ของเขาต้องทำงานหนัก เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งนั่นก็ทำให้ปีเตอร์ ลินช์ ต้องทำงานตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณแม่อีกด้วย

โดยเขาเรียนจบปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ จิตวิทยา และปรัชญา จากวิทยาลัยบอสตัน

ซึ่งในสมัยที่เรียนปริญญาตรี เขาได้เริ่มลงทุนครั้งแรก โดยใช้เงินเก็บจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ไปซื้อหุ้นสายการบินที่ชื่อว่า “Flying Tiger Airlines” ในราคา 8 ดอลลาร์สหรัฐ

ต่อมาราคาหุ้นตัวนี้ได้เพิ่มขึ้นไปถึง 80 ดอลลาร์สหรัฐ ทำกำไรให้เขาได้เป็นอย่างมาก ซึ่งเขาเองนำเงินลงทุนก้อนนี้ ไปจ่ายค่าเทอม จนช่วยให้สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย

ก่อนที่ในเวลาต่อมา เขาจะเรียนจบปริญญาโท MBA จาก Wharton School คณะด้านธุรกิจของมหาวิทยาลัย Pennsylvania ในปี 1968

โดยระหว่างที่เรียน เขาทำงานพิเศษเป็นแคดดี ในสนามกอล์ฟไปด้วย ครั้งหนึ่งเขาได้ไปเป็นแคดดีให้กับ Mr. George Sullivan ที่เป็นประธานกองทุนของ Fidelity ในขณะนั้น

ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งมีความสนใจเรื่องการลงทุนอยู่แล้ว จึงไปขอสมัครงานเป็นเด็กฝึกงานที่กองทุนแห่งนี้ โดยเริ่มจากตำแหน่งเด็กฝึกงานในปี 1966

จนมาเป็นนักวิเคราะห์ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการกองทุน Fidelity Magellan ในปี 1977

ต้องบอกว่ากองทุนที่เขาบริหาร จนสร้างชื่อเสียงให้เขาก็คือ Fidelity Magellan โดยตั้งแต่ปี 1977-1990 ปีเตอร์ ลินช์ สามารถสร้างผลตอบแทนให้กองทุน เฉลี่ยทบต้นต่อปีถึง 29.2%

พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเราลงทุนกับกองทุนนี้ที่ปีเตอร์ ลินช์ บริหาร จำนวน 1 ล้านบาท ในช่วงเวลาดังกล่าว เงินของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านบาท

โดยปีเตอร์ ลินช์ ก็ได้ถ่ายทอดทั้งประสบการณ์ ทักษะความรู้ ทฤษฎีการเลือกหุ้นของหลายทฤษฎี ให้แก่นักลงทุนจำนวนมาก อย่างเช่น

- ทฤษฎี Cocktail Party ที่ใช้วัดภาวะตลาดหุ้นว่าอยู่ในช่วงไหน อย่างเช่น ช่วงตกต่ำ ช่วงฟื้นตัว ช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังแพง โดยสังเกตง่าย ๆ จากบทสนทนาของผู้คนในงานปาร์ตีค็อกเทล

- การแบ่งแยกหุ้นออกเป็น 6 ประเภท คือ หุ้นโตเร็ว, หุ้นโตช้า, หุ้นใหญ่มั่นคง, หุ้นฟื้นตัว, หุ้นวัฏจักร และหุ้นทรัพย์สินมาก ซึ่งช่วยให้สามารถแยกแยะได้ว่า หุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นประเภทไหน ทำให้เราเข้าใจหุ้นที่เราสนใจ หรือหุ้นที่เราลงทุนอยู่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้ เขาต้องแลกกับการให้เวลากับครอบครัว

โดยเขาสามารถจดจำชื่อหุ้นได้มากกว่า 2,000 ตัว
แต่เขากลับลืมวันเกิดลูกของตัวเอง

หรือช่วงวันหยุด เขายังนั่งอ่านข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับหุ้นจำนวนมาก ทำให้หลายครั้งเขาพลาดที่จะไปร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับลูก

จนล่วงมาถึงปี 1990 เขาเริ่มตระหนักว่า เขาหมกมุ่นกับการทำงานมากเกินไป และควรจะใช้เวลากับครอบครัวและลูกมากกว่านี้

ทำให้เขาตัดสินใจลาออก จากการเป็นผู้จัดการกองทุน ตอนที่อายุเพียงแค่ 46 ปี ทั้งที่เป็นช่วงเวลาที่เขากำลังโด่งดัง เป็นที่รู้จัก และมีรายได้มากมาย

โดยเขาเปรียบเปรยชีวิตช่วงนั้นของเขา เหมือนกับเรื่องชาวนาและยักษ์วิเศษ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

เรื่องมีอยู่ว่า ยักษ์บอกกับชาวนาว่า ชาวนาสามารถครอบครองที่ดินมากเท่าไรก็ได้ เพื่อนำไปเพาะปลูก ตราบใดที่สามารถวิ่งไปได้เรื่อย ๆ ยิ่งวิ่งได้มากเท่าไร ก็ยิ่งได้ที่ดินเพิ่มขึ้นเท่านั้น

ชาวนาได้เริ่มออกวิ่ง และวิ่งไปเรื่อย ๆ

เวลาผ่านไป แม้เขาจะครอบครองที่ดินมากพอ สำหรับการเพาะปลูกไปได้ตลอดชีวิต ทำให้เขาและครอบครัวสามารถมีเงินใช้ไปได้หลายชั่วอายุคน แต่ชาวนาก็ยังคงวิ่งไม่หยุด แม้ร่างกายของเขาจะเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ และหายใจจนแทบจะไม่ทัน

แต่ที่น่าเศร้าคือ ตอนสุดท้าย ชาวนาได้วิ่งจนขาดใจตายในที่สุด..

ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่า เขาไม่อยากมีจุดจบแบบชาวนาในเรื่องนี้ และประโยคหนึ่งที่เขาพูดไว้ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกก็คือ

“คุณจะยอมเป็นทาสความมั่งคั่ง ด้วยการทุ่มเทชีวิตที่เหลืออยู่ เพื่อให้มันมั่งคั่งขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือคุณจะปล่อยให้ความมั่งคั่งที่คุณสะสมมา รับใช้คุณเสียที..”


References


ที่มา BillionMoney

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น