Pages

Pages

15 เมษายน 2568

ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่! คนรวย (อาจ) ไม่ได้เก่งเท่าที่คุณคิด พวกเขาแค่ ‘โชคดี’ กว่า

ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่! คนรวย (อาจ) ไม่ได้เก่งเท่าที่คุณคิด พวกเขาแค่ ‘โชคดี’ กว่า

เคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘ถ้าเก่งจริงทำไมไม่รวย?’ หรือเปล่า งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จที่เราเห็นอาจเป็นผลจากความโชคดีเป็นหลัก

การกระจายตัวของความมั่งคั่งมักจะเป็นไปตามรูปแบบที่เรียกว่ากฎ 80:20 นั่นคือ 80% ของความมั่งคั่งทั้งหมดถูกครอบครองโดยคนเพียง 20% ที่เหลือ โดยมีรายงานที่สรุปว่า มีผู้ชายเพียง 8 คนที่มีความมั่งคั่งเทียบเท่ากับคนจนที่สุดในโลก 3.8 พันล้านคนรวมกัน!

รูปแบบนี้มีให้เห็นทุกสังคม และเรียกว่า Power Law ซึ่งเกิดขึ้นได้ในปรากฏการณ์ทางสังคมหลายอย่าง แต่การกระจายตัวของความมั่งคั่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่เป็นที่ถกเถียงที่สุด เพราะมันสะท้อนประเด็นเรื่องความยุติธรรมและการให้รางวัลตามความสามารถ ทำไมคนหยิบมือถึงได้ครองความร่ำรวยมากมายขนาดนั้น?



เราอาจเข้าใจผิดเรื่องระบบ ‘ให้ผลตอบแทนตามความสามารถ’

คำอธิบายทั่วไปมักจะบอกว่า เราอยู่ในสังคม Meritocracy ที่ผู้คนจะได้รับรางวัลตามพรสวรรค์ ความฉลาด ความพยายาม ฯลฯ เราอาจเห็นว่าโชคดีมีส่วนบ้าง แต่หลักๆ แล้วความสามารถต่างหากที่เป็นตัวกำหนด

แต่มันมีปัญหากับแนวคิดนี้คือ แม้ว่าการกระจายตัวของความมั่งคั่งจะเป็นไปตาม Power Law แต่การกระจายตัวของทักษะมนุษย์กลับเป็นการกระจายแบบปกติ (Normal Distribution) ซึ่งมีความสมมาตรรอบค่าเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น คะแนน IQ ที่ใช้วัดความฉลาด ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 100 แต่มันจะไม่มีใครที่มี IQ 1,000 หรือ 10,000

และความพยายามก็เช่นกัน ถ้าคุณวัดเป็นชั่วโมงการทำงาน บางคนทำงานนานกว่าค่าเฉลี่ย บางคนทำงานน้อยกว่า แต่ไม่มีใครหรอกที่จะทำงานเป็นพันล้านชั่วโมงมากกว่าคนอื่น

ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่พอเห็นรางวัลที่เกิดจากการทำงานเหล่านี้เราพบว่า บางคนมีความร่ำรวยเป็นพันล้านเท่ามากกว่าคนอื่นๆ ที่สำคัญงานวิจัยจำนวนมากก็แสดงให้เห็นว่าคนรวยที่สุดมักจะไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นๆ ตามมาตรฐานวัดอื่นๆ



ความโชคดีสำคัญกว่าที่คาด

ปัจจัยอะไรกันแน่ที่ส่งผลให้คนบางคนร่ำรวย? จะเป็นไปได้ไหมว่าโชคมีบทบาทมากกว่าที่ใครคาดคิด? และเราจะใช้ประโยชน์จากปัจจัยนี้ได้อย่างไรบ้าง?

คำตอบมาจากผลงานวิจัยของ Alessandro Pluchino จากมหาวิทยาลัยคาตาเนียในอิตาลี และทีมงาน โดยสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงพรสวรรค์ของมนุษย์ และวิธีที่มนุษย์ใช้มันหาประโยชน์จากโอกาสในชีวิต แบบจำลองนี้ช่วยให้ศึกษาบทบาทของโชคในกระบวนการนี้ได้

ผลการทดลองชวนประหลาดใจ แบบจำลองสร้างการกระจายตัวของความมั่งคั่งให้เหมือนกับโลกจริงได้อย่างแม่นยำ แต่คนรวยที่สุดในแบบจำลองนั้นไม่ได้เก่งที่สุดแต่อย่างใด (แม้ว่าพวกเขาจะมีทักษะระดับหนึ่ง) สิ่งที่ทำให้พวกเขารวยที่สุดคือความโชคดี และนี่มีนัยสำคัญต่อวิธีที่สังคมจะเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนทุกด้าน ตั้งแต่ธุรกิจไปจนถึงวิทยาศาสตร์



แบบจำลองของ Pluchino

แบบจำลองประกอบด้วยผู้คนจำนวนหนึ่ง แต่ละคนมีความเก่งระดับหนึ่ง ซึ่งกระจายอย่างปกติรอบค่าเฉลี่ย ดังนั้นบางคนเก่งกว่าค่าเฉลี่ย และบางคนน้อยกว่า แต่จะไม่มีใครฉลาดกว่าคนอื่นเป็นหลักร้อยหลักพันเท่า

จากนั้นจำลองการทำงาน 40 ปี โดยแต่ละคนมีโอกาสเจอเหตุโชคดีที่จะทำให้รวยขึ้นหากมีความเก่งพอ แต่ก็จะเจอเหตุการณ์โชคร้ายที่จะลดความมั่งคั่งลงได้เช่นกัน โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดแบบสุ่ม

เมื่อจำลองจบ ทีมงานก็จัดลำดับคนแต่ละคนตามความร่ำรวย และทบทวนว่าคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในแบบจำลองมีลักษณะอย่างไร และยังศึกษาการกระจายตัวของความมั่งคั่งด้วย จากนั้นจึงทำแบบจำลองเดิมแบบซ้ำๆ เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของผลลัพธ์

ผลที่ได้คือ เมื่อจัดลำดับคนตามความมั่งคั่งแล้ว การกระจายตัวจะเหมือนกับที่พบในสังคมโลกจริง แต่คนที่รวยที่สุด 20% ไม่ได้เป็นกลุ่ม 20% ที่เก่งที่สุดเลย ซึ่ง “ความสำเร็จสูงสุดไม่เคยตรงกับคนเก่งที่สุด” นักวิจัยกล่าว



ปัจจัยชี้ขาด: ความโชคดีล้วนๆ

ทีมได้พิสูจน์ข้อนี้โดยจัดอันดับบุคคลตามจำนวนเหตุการณ์โชคดีหรือโชคร้ายที่เกิดขึ้นตลอด 40 ปีของการทำงาน ผลชัดเจนว่า ‘คนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดก็คือคนที่โชคดีที่สุดด้วย และคนล้มเหลวก็คือคนที่โชคร้ายที่สุด’

ทีม Pluchino ได้ศึกษาเรื่องนี้ในมุมของงบประมาณสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่นักวิจัยทุกคนสนใจ องค์กรระดับโลกมักสนใจที่จะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุด เมื่อเร็วๆ นี้ European Research Council ได้ลงทุนถึง 1.7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 58 ล้านบาท) ในโครงการศึกษาเรื่อง Serendipity (โชคช่วย) ว่ามีบทบาทกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างไร และจะใช้ความรู้นี้ปรับปรุงการให้งบประมาณได้อย่างไร
พวกเขาจึงพยายามหาคำตอบว่าแบบจำลองไหนจะให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อต้องพิจารณาเรื่องโชคดีด้วย โดยศึกษา 3 แบบจำลอง
  • กระจายงบประมาณให้แก่นักวิทยาศาสตร์เท่าๆ กัน
  • สุ่มเลือกนักวิทยาศาสตร์ที่จะได้รับทุนส่วนหนึ่ง
  • ให้นักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอดีต



ผลลัพธ์

วิธีที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคือ การกระจายทุนให้เท่าๆ กัน และแบบที่ดีรองลงมาคือ สุ่มให้ 10% หรือ 20% ของนักวิทยาศาสตร์ เพราะวิธีเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถได้ประโยชน์จากการค้นพบโดยบังเอิญได้มากที่สุด เมื่อคิดย้อนหลังมันก็ชัดเจนว่า การค้นพบสำคัญโดยบังเอิญที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้การันตีว่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

แนวทางเดียวกันสามารถนำมาปรับใช้ในการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น ธุรกิจขนาดเล็ก-ใหญ่, สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี, การศึกษาเพื่อเพิ่มพูนทักษะ หรือแม้กระทั่งการสร้างโอกาสให้เกิดโชคดีโดยบังเอิญแบบสุ่ม

กระนั้นเรายังต้องศึกษาเรื่องนี้อีกมาก แต่ที่แน่ๆ คือมีหลักฐานสำคัญแล้วว่าความร่ำรวยมหาศาลของบางคนอาจเกิดจากความโชคดีล้วนๆ มากกว่าที่คุณคิด




ที่มา link

01 เมษายน 2568

ออมหวยเกษียณแบบ DCA จะมีเงินก้อนกี่ล้านบาท ตอนอายุ 60

หวยเกษียณคือ
  • สลากที่รัฐบาลเปิดขายให้ประชาชนทั่วไปอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
  • ซื้อได้ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท
  • เงินต้นไม่หาย
  • ถ้าถูกรางวัลจะได้รับเงินรางวัลทันทีผ่านระบบพร้อมเพย์
  • ถ้าอายุครบ 60 ปี ผู้ซื้อจะได้เงินคือทั้งหมดพร้อมผลตอบแทน
  • ที่มา Link


DCA หวยเกษียณจะได้เงินกี่ล้านบาท
  • สมมติฐานผลตอบแทนที่รัฐลงทุน ได้ 1.5% ต่อปี (อ้างอิงจากเงินฝาก e-Saving)
  • ถ้าเริ่มออมหวยเกษียณตอนอายุ 35 ปีหรือเริ่มเร็วกว่านั้น เดือนละ 3,000 บาท จะได้รับเงินเกิน 1 ล้านบาท ตอนอายุ 60 ปี (ยังไม่รวมได้ลุ้นรางวัลเงินล้าน ทุกเดือนอีกด้วย)

 
เริ่มตอนอายุ(ปี) ออมเดือนละ(บาท) เงินก้อน(บาท)
25 1000 551,208.34
25 3000 1,653,625.03
30 1000 453,842.66
30 3000 1,361,527.97
35 1000 363,461.96
35 3000 1,090,385.87
40 1000 279,565.14
40 3000 838,695.41
45 1000 201,687.05
45 3000 605,061.14
50 1000 129,395.90
50 3000 388,187.71

อธิบายเรื่อง Loss Aversion จิตวิทยากลัวการสูญเสีย กับกลยุทธ์การตลาด ที่เราเจอบ่อย

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเราถึงตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะเมื่อแบรนด์จำกัดเวลาที่ได้รับส่วนลด เช่น ลดราคา 50% เพียง 3 วันเท่านั้น

หรือจำกัดจำนวนลูกค้าที่จะได้รับส่วนลด เช่น ลดราคา 50% สำหรับลูกค้า 50 ท่านแรกเท่านั้น
หรือให้โทรมาตอนนี้ เพื่อรับสินค้าราคาพิเศษ

เหตุผลหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาและความรู้สึก ที่ชื่อว่า “Loss Aversion”

แล้ว Loss Aversion คืออะไร ?

Loss Aversion คือ อคติทางความคิด (Cognitive Bias) รูปแบบหนึ่ง
ที่ว่าด้วยเรื่อง มนุษย์จะพยายาม “หลีกเลี่ยงการสูญเสีย” ให้ได้มากที่สุด

โดยแนวคิดนี้มีการศึกษาทั้งในทางจิตวิทยา และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ตั้งแต่ปี 1979
โดยคุณ Daniel Kahneman และผู้ช่วยของเขาที่ชื่อว่าคุณ Amos Tversky

ซึ่งแนวคิดนี้ อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า
มนุษย์ให้ความสำคัญกับความทุกข์จากการสูญเสีย มากกว่าความสุขจากการได้รับมา

โดยงานวิจัยนี้ พบว่า ความรู้สึกเป็นทุกข์จากการสูญเสีย
มีอิทธิพลกับมนุษย์ มากกว่า ความสุขจากการได้รับ ราว 2.3 เท่า

อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือว่า
ถ้าเรารู้สึกเป็นทุกข์เพราะเงิน 100 บาท หายไป

การได้เงินจำนวน 100 บาท กลับคืนมา
ไม่ได้ช่วยให้เราคลายจากความทุกข์ที่เงิน 100 บาท หายไป ได้ทั้งหมด

แต่เราต้องได้รับเงินกลับมาประมาณ 230 บาท
ถึงจะชดเชยความทุกข์ จากการที่เงิน 100 บาท หายไปได้

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงกลัวและไม่ชอบการสูญเสีย
รวมทั้ง พยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสียให้ได้มากที่สุด

ถ้าใครยังนึกภาพตามไม่ออก ลองมาดูตัวอย่างกัน..

หากเรามี 2 ตัวเลือก ในการสุ่มรางวัล โดยให้เลือกได้เพียง 1 ตัวเลือกเท่านั้น

- ตัวเลือกที่ 1 : มีโอกาส 50% ในการได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท
- ตัวเลือกที่ 2 : มีโอกาส 100% ในการได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท

ถ้าเป็นคุณจะเลือกตัวเลือกข้อไหน ?

คำตอบของคนส่วนใหญ่ มักจะเลือกตัวเลือกที่ 2
เพราะเป็นตัวเลือกที่มีความแน่นอนมากกว่า และไม่เสียอะไรเลย ถึงอย่างไรแล้ว ก็ได้รับเงิน 5,000 บาท แน่ ๆ

แต่กลับกัน ตัวเลือกที่ 1 แม้ว่าจะมีเงินรางวัลสูงกว่าเป็นเท่าตัว
แต่ก็มีโอกาสอีก 50% ที่จะไม่ได้เงินกลับมาสักบาท คนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมเลือกตัวเลือกนี้

ทีนี้ เราลองมาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง

มี 2 ตัวเลือก ให้เลือกได้ 1 อย่าง เช่นกัน

- ตัวเลือกที่ 1 : มีโอกาส 50% ที่จะเสียเงิน 10,000 บาท และโอกาสอีก 50% ที่จะไม่เสียเงินเลย
- ตัวเลือกที่ 2 : มีโอกาส 100% ที่จะเสียเงิน 5,000 บาท

ถ้าเป็นคุณจะเลือกตัวเลือกข้อไหน ?

คราวนี้ คนส่วนใหญ่มักเลือกตัวเลือกที่ 1 มากกว่า
เพราะสมองจะตีกรอบความคิดว่า ตัวเลือกที่ 2 จะทำให้ตัวเองเสียเงินอย่างแน่นอน

เพื่อป้องกันการสูญเสีย สมองจึงชักนำความคิดให้คนเลือกตัวเลือกที่ 1 แทน
เพราะคิดว่า ยังมีโอกาสอีกครึ่งหนึ่ง ที่ตัวเองอาจจะไม่เสียเงินเลยสักบาทเดียว

นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่บ่งบอกว่า มนุษย์กลัวการสูญเสียและพยายามหลีกเลี่ยงมัน เช่น

- คนเรามักรู้สึกเฉย ๆ หรือมีความสุขเพียงเล็กน้อย เวลาได้ของชิ้นหนึ่งมา
แต่จะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่า เวลาทำของชิ้นเดียวกันหายไป

- คนไม่กล้าลาออกจากงาน เพราะกลัวเสียรายได้และสถานะทางสังคมที่ตัวเองเคยมี

- คนเรามักอดทนอยู่กับคนเดิม ๆ แม้ว่าความสัมพันธ์จะไม่ราบรื่นก็ตาม
เพราะเขาเหล่านั้น กลัวการสูญเสียช่วงเวลาที่ดีในอดีต หรือสิ่งที่เคยได้ทำร่วมกันมา

- คนเรามักซื้อของช่วงลดราคาพิเศษ แม้จะไม่ได้ต้องการใช้ของชิ้นนั้นก็ตาม
เพราะกลัวสูญเสียโอกาสที่จะได้รับส่วนลด พร้อมกับคิดว่าสักวันหนึ่งก็คงได้ใช้

แล้วถ้าสิทธิพิเศษนั้นมีเงื่อนไขจำกัดอีก เช่น จำกัดเวลา จำกัดจำนวน จำกัดสถานที่
ก็จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้นตามไปด้วย

ในจุดนี้เอง เราจึงเห็นหลายแบรนด์นำกลยุทธ์มอบสิทธิพิเศษ มาใช้ร่วมกับกลยุทธ์สร้างความขาดแคลน (Scarcity Marketing)
เพื่อให้เรารู้สึกว่า ถ้าพลาดสิทธิพิเศษครั้งนี้ไป จะต้องเสียใจในภายหลังแน่ ๆ

แล้วทำไม Loss Aversion ถึงมีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์มากขนาดนี้ ?

คำถามนี้ต้องย้อนกลับไปในอดีต เมื่อหลายแสนปีก่อน
ที่มนุษย์ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดอยู่ตลอดเวลา

ทั้งการต่อสู้กับมนุษย์ด้วยกันเอง ต่อสู้กับสัตว์ป่า
โรคระบาด อาหารการกิน หรือสภาพอากาศที่โหดร้าย เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์

การตัดสินใจแต่ละครั้งของมนุษย์ จึงสำคัญอย่างมาก
เพราะราคาที่ต้องจ่ายให้กับการตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจหมายถึงชีวิตได้เลย

ดังนั้น คนที่มีอัตรารอดชีวิตสูง จึงมักเป็นคนที่ระมัดระวังภยันตราย
กลัวการสูญเสีย และพยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสียให้มากที่สุด

ทำให้ลักษณะนิสัยนี้ของมนุษย์ถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ ให้มีการสืบทอดต่อกันมาเรื่อย ๆ ทางพันธุกรรม
และมันก็ยังคงปรากฏหลงเหลืออยู่ในลักษณะนิสัยของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมกลยุทธ์สร้างความขาดแคลนถึงทำให้เราตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น ?

ก็เป็นเพราะว่า ลึก ๆ แล้ว มนุษย์มีสัญชาตญาณในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ให้หลีกเลี่ยงการสูญเสียโดยไม่จำเป็น

นั่นจึงทำให้ คนที่สนใจซื้อสินค้าอยู่แล้ว
ไม่อาจปฏิเสธสิทธิพิเศษที่แบรนด์มอบให้โดยง่าย

และถ้ายิ่งมีการจำกัดเวลา หรือจำกัดจำนวน
ก็จะยิ่งเร่งให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้า ได้รวดเร็วมากขึ้นไปอีก

เพราะลึก ๆ แล้ว เราทุกคน ต่างกลัวที่จะสูญเสียโอกาสดี ๆ ที่จะได้รับส่วนลดไปนั่นเอง..



ที่มา Link